แกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินร้อง ตั้ง "กก.กลาง" กำกับกระบวนการ EIA, EHIA (22 ก.พ. 60)

ประชาไท 22 กุมภาพันธ์ 2560
แกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินร้อง ตั้ง กก.กลางกำกับกระบวนการ EIA, EHIA 

แกนนำคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เสนอตั้งคณะกรรมการกลางกำกับ หลัง ครม.มีมติทำ EIA และ EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เทพาและท่าเทียบเรือ ใหม่ ด้านนักวิจัยชี้ภาพรวมโรงไฟฟ้าในไทยมีมากพอ พลังงานถ่านหินไม่อาจเป็นพลังงานสะอาดได้ เสนอโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 

22 ก.พ. 2560 กรณีวานนี้ (21 ก.พ.) ที่ประชุม ครม. มีมติให้ชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ และให้กลับไปทำกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ใหม่ หลังจากเมื่อวันที่ 17-19 ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มประชาชน นำโดยเครือข่ายปกป้องอันดามัน เดินทางมาคัดค้านโครงการดังกล่าว

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า ผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นไปตามข้อตกลง แต่ต้องรอดูเอกสารที่เป็นทางการก่อน หลังจากนี้สิ่งที่ควรดำเนินการต่อไปคือจัดตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางมากำกับดูแลกระบวนการทำและพิจารณารายงาน EIA และ EHIA ฉบับใหม่ โดยจะต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และเปิดให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วม และหากทำจริงคาดว่าภายในหนึ่งปีก็ไม่น่าเสร็จ และยังต้องพิจารณาควบคู่ไปกับอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Convention) เพื่อปกป้องคุ้มครองปากแม่น้ำกระบี่ที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ (Wetland of International Importance)

ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยพลังงานและอุตสาหกรรม มูลนิธินโยบายและสุขภาวะ ให้ความเห็นกรณีความเป็นไปได้ในการจัดตั้งคณะกรรมที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายว่า ตามระบบกฎหมายปัจจุบันยังไม่ได้ระบุไว้ แม้ คณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเคยมีข้อเสนอปฏิรูปกระบวนการทำรายงาน EIA และ EHIA มาหลายรอบในระดับชาติ โดยหวังว่าจะช่วยเรื่องการมีส่วนร่วมและลดความขัดแย้ง แต่ไม่เคยสำเร็จ

ก่อนหน้านี้ ในปี 2558 รายงาน EIA และ EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือถ่านหินกระบี่ ยังไม่ผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ตัวแทนชุมชนในพื้นที่จังหวัดกระบี่ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลเพื่อขอให้ กฟผ. ยุติการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ รวมถึงเสนอให้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีฯ ขึ้นในปี 2559 เพื่อเจรจาอย่างเป็นทางการ จนนำไปสู่ความขัดแย้งโดยกรรมการจากภาคประชาชนเห็นว่าต้องเริ่มกระบวนการใหม่หมด แต่กรรมการจาก กฟผ.เห็นว่าเดินหน้าต่อได้ แค่ปรับปรุง นำไปสู่การประกาศลาออกของอนุกรรมการในส่วนของภาคประชาชน

ศุภกิจกล่าวต่อว่า สำหรับครั้งนี้ มติ ครม.บอกว่าทำใหม่ เป็นคำพูดที่ยังไม่ชัดเจน จะเดินหน้าเหมือนเดิม หรือทำรายงานใหม่จริงๆ ต้องรอดูมติที่เขียนเป็นทางการ ตอนนี้ กฟผ.ก็ปรับปรุงร่างรายงานให้สมบูรณ์มากขึ้นและส่งกลับเข้า คชก. ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมถ้าส่งแล้ว 30 วันไม่มีการพิจารณาจะถือว่าผ่านเลย ซึ่งเป็นช่องโหว่ของกฎหมายนี้ที่มีแค่ผ่าน หรือกลับไปแก้ไขเพิ่มเติม แต่ไม่มีการไม่ผ่านให้โครงการตกไปเลย

เขาชี้ว่า ดังนั้น ถ้าจะเริ่มต้นใหม่จริงๆ กฟผ.ต้องส่งหนังสือทางการไปที่สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อยื่นถอดถอนรายงานจากการพิจารณา เริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่หมด และมีคณะกรรมการกลางที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายเป็นผู้กำกับทิศทาง รวมทั้งบริษัทที่ศึกษาผลกระทบอาจจะไม่ได้มีแค่บริษัทเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมกลาง และบริษัทจะต้องไม่รับเงินจากเจ้าของโครงการหรือ กฟผ.โดยตรง เพราะมีกรณีที่บริษัทจะได้รับเงินงวดสุดท้าย ซึ่งคิดเป็นประมาณ 25-40% เมื่อ EIA หรือ EHIA ผ่าน

ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนที่เป็นปัญหาในรายงาน EIA และ EHIA ฉบับนี้คือ ข้อมูลความรู้ที่ใช้ในการประเมินผลกระทบ บริษัทที่จ้างมาศึกษามีแต่ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ ทั้งที่จริงแล้วชาวบ้านทำงานวิจัยร่วมกับนักวิชาการแล้ว ชื่อ “มหาลัยเล” งานวิจัยวิถีชีวิต และความหลากหลายทางชีวภาพชายฝั่งทะเลอันดามัน แต่กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้ในรายงานฉบับนี้ 

ส่วนความคิดเห็นในเรื่องแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) หรือ PDP 2015 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ศุภกิจมีความเห็นว่า แม้พลังงานหมุนเวียนใน PDP จะมากพอสมควร แต่กระบี่น่าจะเพิ่มเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนได้อีกให้เป็นไปตามแนวโน้มของระดับนานาชาติ รวมทั้งสิ่งที่เลือกมาปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันระหว่างพลังหมุนเวียนกับถ่านหิน การไฟฟ้าไม่รับซื้อพลังงานหมุนเวียนที่กระบี่ ทำให้การผลิตในด้านนี้เติบโตไม่ได้

ถ้าทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน ค่าเชื้อเพลิงถ่านหินปีละ 7,000 ล้านบาทจะไหลออกนอกประเทศ เนื่องจากต้องนำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซีย แต่ถ้าทำโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมทั้งค่าเชื้อเพลิงจะอยู่ในกระบี่ 100% เฉพาะ ส่วนการเอาน้ำเสียจากโรงงานปาล์ม เศษปาล์ม มาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ก็เป็นการเปลี่ยนของเสียเป็นไฟฟ้า ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างน้อยปีละ 5,000 ล้านบาท ตลอด 25 ปี รวมทั้งโรงงานปาล์มประกาศว่าหากโรงงานมีแก๊สชีวภาพและเศษปาล์มที่ขายต่อได้ จะเพิ่มราคาปาล์มให้เกษตรกรอีกห้าสิบสตางค์ต่อกิโลกรัม ประชาชนในจังหวัดกระบี่นั้นมีรายได้หลักจากการปลูกปาล์ม ดังนั้นเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 1,500 ล้านบาท

เมื่อถามว่าพลังงานถ่านหินสะอาดว่าจะปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจริงหรือไม่ ศุภกิจให้ความเห็นว่า พลังงานถ่านหินไม่สามารถเป็นพลังงานสะอาดได้ แม้จะดูดซับมลพิษที่ออกมาได้มากกว่าเดิม แต่ไม่มีทางสะอาดหมดจดด้วยหลายประเด็น ประการแรกคือ การดูดซับอาจทำได้จริงแต่ไม่มีทางเป็นศูนย์ จะมีโลหะหนักจำพวกปรอทและอื่นๆ สะสมในสิ่งแวดล้อมและอาหารทะเลซึ่งเป็นผลกระทบระยะยาว และในทางสุขภาพ ตัวเลขปนเปื้อนโลหะหนักไม่มีค่าไหนที่ปลอดภัย สอง ผลกระทบถ่านหินไม่ได้มีแค่มลพิษ หลายเรื่องประเมินผลกระทบไม่ได้ เช่น เรือขนถ่านหินจะวิ่งทุกวัน ตลอด 25 ปีหรือมากกว่านั้น ถ้าเรือล่มในอันดามันผลกระทบจะเป็นอย่างไร แม้จะพูดว่าความเสี่ยงต่ำ แต่ที่อินโดนีเซีย หรือยุโรปก็ล่มมาแล้ว

เขาชี้ว่า ต้นทุนถ่านหินไม่ได้รวมผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ส่วนพลังงานหมุนเวียน ถ้าคิดพลังงานทางเลือกโดยรวมจะแพงกว่าบ้าง แต่ปัจจุบันเช่นพลังงานแสงอาทิตย์ต้นทุนลดลงเร็วมากจนแพงกว่าถ่านหินเพียงนิดเดียว นอกจากนี้ยังมีพลังงานชีวมวล แก๊สชีวภาพ พลังน้ำขนาดเล็ก ที่ต้นทุนเท่าหรือถูกกว่าถ่านหิน สมมติถ้ากระบี่ใช้พลังหมุนเวียน 100% ค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้นหนึ่งสตางค์ต่อหน่วย เทียบกับค่าไฟฟ้าปัจจุบันก็แพงขึ้น 0.3%

ในกรณีที่กระทรวงพลังงานพูดเรื่องไฟฟ้าในภาคใต้จะไม่เพียงพอ ศุภกิจกล่าวว่า ถ้ารวมโรงไฟฟ้าภาคใต้ทั้งหมด รวมทั้งไฟฟ้าจากสายส่งภาคกลาง ก็มีจำนวนมากพอไปอีกหลายปี แต่กระทรวงฯ เลือกที่จะตัดสายส่งจากภาคกลางออกไป โดยให้เหตุผลด้านความเสี่ยง เช่น สายส่งมีปัญหา ไฟอาจจะดับ

“ข้อถกเถียงจากผมก็คือ กรณีกรุงเทพฯ ใช้ไฟ 9,000 เมกะวัตต์ แต่โรงไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ผลิตไฟฟ้าได้แค่ 2,000 เมกะวัตต์ ที่เหลือ 7,000 เมกะวัตต์มีสายส่งมาจากราชบุรีและระยอง ถ้าใช้แนวคิดนี้ก็ต้องสร้างโรงไฟฟ้าในกรุงเทพฯ มากกว่านี้ ภาพรวมทั้งประเทศตอนนี้มีโรงไฟฟ้าเหลือเฟือ เรื่องนี้ กฟผ. และกระทรวงพลังงานก็ยอมรับ ทำไมไม่ส่งไปให้ภาคใต้ใช้ ถ้าสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มภาพรวมมันจะเพิ่มภาระค่าไฟฟ้าอีก 50,00 ล้านบาท ถ้านับสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง ภาคใต้ก็ยังพอ เรายังไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ตอนนี้ เรายังมีเวลาอีกสองถึงห้าปีที่จะตัดสินใจเรื่องนี้”

แถลงการณ์เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ฉบับที่ ๓ / ๒๕๖๐
ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำ EIA และ EHIA ใหม่ กรณีก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ถ้า EIA ทำไม่ได้ ก็ไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ รวมถึงให้ทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงการดำเนินโครงการ หรือ EHIA เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงโดยรัฐบาลได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับสูงเข้ามาดูแลนโยบายและยุทธศาสตร์ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินมีข้อเสนอเพิ่มตามที่ได้เจรจากับผู้แทนรัฐบาลคือแม่ทัพภาคที่๑ ว่าต้องมีการจัดทำรายงานในรูปแบบใหม่ที่ยุติธรรมตรงตามหลักวิชาการ ดังนี้

๑. ในกระบวนการจัดทำครั้งใหม่นี้ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พศ.๒๕๓๕ คือเป็นการจัดทำเพื่อประเมินทางเลือกการพัฒนาที่เหมาะสมของพื้นที่ โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลางขึ้นมาชุดหนึ่งทำหน้าที่กำกับกระบวนการทั้งหมด และให้หน่วยงานนิติบุคคลที่มีความเป็นกลางเป็นผู้ดำเนินการจัดทำรายงานไม่ใช่ให้ กฟผ.จ้างบริษัทมาดำเนินการจัดทำเหมือนรูปแบบเดิมที่ผ่านมา

๒.ในด้านเนื้อหาการจัดทำต้องมีลักษณะสำคัญดังนี้

๒.๑ การจัดทำ SEA (Strategic Environmental Assessment) ให้แน่ใจว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะสอดคล้องและอยู่ร่วมกับแผนพัฒนากระบี่ 2020 ต้องมีการประเมินทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า อื่นๆ เช่น พลังงานหมุนเวียน (ชีวมวล แสงอาทิตย์ ลม) ในระดับที่มีรายละเอียดเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินและประเมินผลกระทบทั้ง 3 มิติตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และ สังคม)

๒.๒ ต้องทำการประเมินผลกระทบเป็นมูลค่าความเสียหายออกมาเป็นค่าตัวเลขในรูปต้นทุนภายนอก (Externality) หากไม่มีมาตรการลดผลกระทบ โดยต้องบอกได้ว่าภาคส่วนใดถูกผลักภาระต้นทุนภายนอกนี้ไป ทั้งนี้ต้องรวมต้นทุนเชิงนิเวศ (Ecological Service) ไว้ด้วย

๒.๓ การดำเนินการคำนวณต้นทุนภายนอก (Externality) ควรอิงงานวิจัย โดยใช้นักวิจัยที่เป็นกลาง และ น่าเชื่อถือทางวิชาการ มีเอกสารอ้างอิง หรือ เป็นวิจัยตรงในพื้นที่ โดยให้นักวิชาการจัดทำข้อมูลที่ถูกต้อง

๒.๔ เมื่อกำหนดมาตรการลดผลกระทบแล้วต้องประเมินความเสียหายออกมาเป็นค่าตัวเลข (มูลค่าบาท) (Externality) และ ต้องบอกได้ว่าใครที่จะได้รับผลกระทบนี้ไป ทั้งนี้ต้องรวมต้นทุนเชิงนิเวศ (Ecological Service) ไว้ด้วย และ ต้องมีการซื้อประกันความเสี่ยงกับธนาคารหรือสถาบันเอกชนที่ขายประกันเท่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากมีมาตรการลดผลกระทบแล้ว โดยให้เน้น ภาคประมง ท่องเที่ยว และ เกษตรกรรม

๒.๕ ต้องเอาต้นทุนภายนอกที่ต้องทำการประกันนี้ไปรวมกับต้นทุนภายใน และ ใช้ประกอบการประเมินว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะคุ้มทุนหรือไม่โดยต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบความถูกต้องของการประเมิน

๓.ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นนอกจากอยู่ในคณะกรรมการแล้วจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยรัฐต้องไม่ใช้อำนาจฝ่ายปกครองในการเกณฑ์คนมาสนับสนุน ฝ่ายความมั่นคงจะต้องไม่ใช้กองกำลังมากีดกันผู้เห็นต่างอย่างที่เคยเกิดขึ้น

๔.การจัดทำรายงานครั้งนี้จะต้องเป็นรายงานที่อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ(แรมซ่าร์ไซด์) ไม่ใช่การจัดทำรายงานในพื้นที่ปกติทั่วไป ซึ่งต้องมีรายละเอียดการประเมินจำนวนมาก โดยรายงานทั้ง ๒ ฉบับ คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนถ่านหิน ต้องใช้เวลาจัดทำตามระบบนิเวศจริง นั่นคือระยะเวลาจัดทำต้องมากพอในการศึกษารายละเอียดการประเมินแต่ละประเด็น โดยอาจต้องใช้เวลาการประเมินแต่ละฉบับไม่ต่ำกว่า ๓-๕ ปี

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินยืนยันว่าหากดำเนินการจัดทำรายงานตามหลักวิชาการ โรงไฟฟ้าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าพื้นที่ใดในโลก เพราะไม่มีเทคโนโลยีที่ลดผลกระทบได้ มิพักต้องพูดถึงว่ากระบี่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ(แรมซ่าร์ไซด์)และเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวที่มีระบบนิเวศสวยงามสมบูรณ์ ๑ใน ๑๐ ของโลก โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงไม่มีทางเกิดขึ้นบนแผ่นดินกระบี่โดยเด็ดขาด

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐