"ไม่ใช่เรื่องของเสียงส่วนมาก" นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ EIA ต้องเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม (1 มี.ค. 60)

สำนักข่าวอิศรา 1 มีนาคม 2560
ไม่ใช่เรื่องของเสียงส่วนมาก นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ EIA ต้องเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ EIA ต้องเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ไม่ใช่เรื่องของเสียงส่วนมาก มองการยกเลิกเป็นเรื่องปกติ หากพบรายงานไม่สมบูรณ์

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ ชวนคิด ก่อนคลิก SHARE เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคาร 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

ช่วงหนึ่งของเวทีเสวนา รศ.ดร.สุธา  ขาวเธียร  ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวถึงการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact assessment:EIA) เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ใช้ในการบริหารจัดการ EIA เป็นเครื่องมือที่ดี แต่การมีเครื่องมือที่ดีก็ยังไม่การันตีจะสำเร็จ 

EIA คือเรื่องของการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่คำว่า คาดการณ์ก็ยังเป็นปัญหาอยู่เช่นกัน  เพราะเรากำลังทำกับโครงการที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงคาดการณ์บนพื้นฐานอะไรต่างๆ ที่จะหาได้ ตัว EIA จะมีมาตรการแก้ไข ติดตาม ตรวจสอบ ป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งมาตรการตรงนี้จะกำหนดเข้าไปกับเอกสารการอนุญาต เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้จะเป็นส่วนที่เพิ่มเข้าไปกับกฎหมายพื้นฐาน  

"EIA จะเน้นว่าเมื่อมีเหตุการณ์อะไรก็แล้วแต่ ก็จะประเมินดูว่าในสภาพปัจจุบันมีความรู้ ความสามารถ มีเทคโนโลยีเพียงพอที่จะจัดการกับเรื่องเหล่านี้หรือไม่"

รศ.ดร.สุธา กล่าวถึงการมีส่วนร่วม เป็นปัญหาหลักๆ ของ  EIA ในฉบับที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน  และแม้ว่าจะยกเลิกไปแล้ว แต่อนาคตการจัดทำรายงานควรจะเป็นสื่อกลาง 2 ทาง ที่ใช้เวทีเหล่านี้ในการฟังให้มากขึ้น เนื่องจาก EIA เป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ใช่เรื่องของคนเสียงส่วนมาก ไม่ใช่โหวตแล้วตัดสินโครงการนี้ว่าจะเดินหรือไม่เดินต่อไป ซึ่งคนส่วนน้อยที่ได้ผลกระทบเราก็ต้องฟังด้วย ขณะเดียวกันคนที่ไม่เห็นด้วยเราก็คงต้องดูว่า มีหลักการหรือเหตุผลอะไรที่จะมาชดเชยได้ 

รศ.ดร.สุธา กล่าวว่า ข้อจำกัดในการพิจารณา EIA ตามกฎหมายไทย สำหรับโครงการหรือกิจการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง นี่คือปัญหา เพราะหลายครั้งเราอยู่กับปัญหาเชิงนโยบาย แต่นำ EIA ที่เป็นเรื่องของปัญหาเข้ามาตอบ เรื่องของระยะเวลา อีกทั้งการมีส่วนร่วม 

"การเข้าไปกำหนดขอบเขตการศึกษา ถือเป็นขั้นตอนแรกที่ทุกคนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมพูดคุยกัน ถัดไปคือการพิจารณาทางเลือก  และเป็นเครื่องมือสำหรับการจัดการสิ่งแวดล้อมชนิดหนึ่ง"

ประเด็นของ EIA ในเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น รศ.ดร.สุธา กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งหลักๆ ที่จะต้องมาพูดคุยกัน คือทางเลือก สะท้อนให้เห็นว่ามีข้อมูลหรือรายละเอียดหลายๆ ส่วนที่ยังไม่เพียงพอหรือไม่ชัดเจน เช่น ความเหมาะสมของพื้นที่ตั้ง การพิจารณาทางเลือกของโครงการด้านเชื้อเพลิง และเทคโนโลยี คุณสมบัติ และองค์ประกอบตลอดจนผลกระทบของเชื้อเพลิงที่ใช้

" หากมองในฐานะวิชาการมี Development จากการทำ มีการแก้ไขความเห็น และปัจจุบันก็เป็นการยกเลิก  ซึ่งคิดว่า เป็นเรื่องปกติตามทฤษฎีที่ประมาณและคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  และหาแนวทาง ป้องกัน แก้ไขติดตามตรวจสอบ ถ้าเกิดแนวทางต่างๆ ยังไม่เป็นที่พอใจ ก็จะชะลอโครงการศึกษาเพิ่มเติม  รอให้มีเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา แต่ปัจจุบันเรามีของอยู่ในมือพอสมควร เพราะฉะนั้นในการดำเนินการขั้นต่อไป ก็น่าจะเขยิบจากการคาดการณ์มาใช้ข้อมูลที่เป็นปฐมภูมิมากขึ้น  และจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น"