"เอ็กโก" เสนอขยายโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ขนอม รองรับหากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไม่เกิด (27 ก.พ. 60)
energynews 27 กุมภาพันธ์ 2560
เอ็กโกเสนอขยายโรงไฟฟ้าก๊าซฯขนอมรองรับหากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไม่เกิด
เอ็กโก เสนอขยายโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ขนอม 500 เมกะวัตต์ และสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ BLCP จ.ระยอง รองรับกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เกิดไม่ได้ พร้อมแนะโครงการวินด์ฟาร์ม ต้องทำนโยบายและกฎหมายให้สอดคล้องกัน
นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก มีความพร้อมขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ได้อีก 500 เมกะวัตต์ ด้วยการขยายโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนอม จ.นครศรีธรรมราช ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ 930 เมกะวัตต์ ให้เป็น 1,430 เมกะวัตต์ได้ เนื่องจากมีที่ดินพอ รวมทั้งไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างท่อก๊าซฯ เพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันก๊าซฯ ที่รับจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มาใช้ในโรงไฟฟ้าขนอมยังเหลืออีก 230 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งหากขยายโรงไฟฟ้าอีก 500 เมกะวัตต์ ก็ใช้ก๊าซฯเพิ่มอีกเพียง 120 ลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น ดังนั้นหากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เกิดไม่ได้ ทางเอ็กโกก็พร้อมช่วยผลิตไฟฟ้าเพิ่มได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้เอ็กโก ยังสามารถขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP) จ.ระยอง เพิ่มได้อีก 1,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีความพร้อมด้านการลำเลียงถ่านหิน และประสบการณ์ที่ดำเนินโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่แล้วกว่า 1,346 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ หากเอ็กโก้ได้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ ก็พร้อมจะใช้เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด(Ultra Super Critical) เช่นเดียวกับที่ กฟผ. จะใช้กับกับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
แม้ปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินของ BLCP ใช้เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าที่คุณภาพต่ำกว่าระบบ Ultra Super Critical แต่ค่ามลภาวะที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และยังเป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่ร่วมกับชุมชนได้ สามารถพิสูจน์ได้ และหากเปลี่ยนไปเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินระบบ Ultra Super Critical ยิ่งทำให้ค่ามลภาวะน้อยลงไปอีกมาก
อย่างไรก็ตาม การขยายโรงไฟฟ้าขนอมและ BLCP ไม่ได้หมายความว่าจะมาทดแทนโรงไฟฟ้ากระบี่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (พีดีพี) ที่จะมาสร้างทดแทนกัน โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพายังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับภาคใต้ เพียงแต่เอ็กโกสามารถผลิตไฟฟ้าเพิ่มเพื่อรองรับการเติบโตการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ได้ส่วนหนึ่ง และยอมรับว่าการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าก๊าซฯที่ขนอมไม่ได้ตอบโจทย์การลดสัดส่วนการใช้ก๊าซฯของประเทศลง แต่หากจำเป็นเอ็กโกก็พร้อมสร้างเพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่ม
“การทำโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศไทยค่อนข้างลำบาก แต่กระบวนการทำก็มีขั้นตอนชัดเจนอยู่แล้ว และน่าเสียดายแม้จะดำเนินการผ่านตามขั้นตอนก็ยังไม่ยอมรับ ทั้งที่ขั้นตอนต่างๆก็ดูในเรื่องผลกระทบมาแล้ว มีชุมชนและสังคมช่วยดูแล้ว ก็น่าจะผ่านได้ ผมว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้นเราควรเคารพกติกาเหมือนกัน”
นายชนินทร์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีนโยบายเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสานเชื้อเพลิง(ไฮบริด)จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(เอสพีพี)จากภาครัฐนั้น เชื่อว่าภาคเอกชนจะให้ความสนใจมาก เนื่องจากภาครัฐไม่ได้เปิดรับซื้อบ่อย อีกทั้งราคารับซื้อที่ 3.66 บาทต่อหน่วยก็อยู่ระดับที่แข่งขันได้ เพราะที่ผ่านมาไทยเคยประมูลโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ในราคาเพียง 3.1 บาทต่อหน่วยมาแล้ว
อย่างไรก็ตามในส่วนของเอ็กโกจะต้องศึกษาความเหมาะสมก่อนทั้งด้านผู้ร่วมทุน ทำเล และการเลือกเชื้อเพลิงที่ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้เสถียรตามสัญญา ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าเชื้อเพลิงที่เหมาะสมกับประเทศไทยและมีเพียงพอคือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กับ ชีวมวล
ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าพลังงานลมของเอ็กโก้ 2 โครงการ คือ โครงการเทพพนา วินด์ฟาร์ม และโครงการชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม รวมพื้นที่ 44 ไร่ กำลังผลิตรวม 87.5 เมกะวัตต์ ยอมรับว่าอยู่ในพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ทั้งหมด ซึ่งลงทุนไปแล้วกว่า 7,200 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอ ส.ป.ก.ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ ส.ป.ก.ประกาศไว้ว่าจะใช้เวลาตรวจสอบ 45 วัน ซึ่งยืนยันว่าที่ผ่านมาเอ็กโกให้ข้อมูลกับ ส.ป.ก. ไปแล้ว และก็กล้าเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด
โดยที่ผ่านมารมีการจ่ายค่าเช่าให้ ส.ป.กง 35,000 บาทต่อไร่ต่อปี โดยหากเกษตรกรสละสิทธิ์ที่ ส.ป.ก.ให้เอ็กโก ก็จะจ่ายค่าเช่าให้เกษตรกร 30,000 บาทต่อปี ส่วนกรณีที่เงาใบพัดวินด์ฟาร์มผ่านพื้นที่เกษตรกรรายใดก็จะจ่ายให้ 5,000 บาทต่อปี นอกจากนี้เอ็กโกยังช่วยเหลือชุมชนในด้านต่างๆ เช่น การทำถนน การสร้างฝายกั้นน้ำ การทำระบบประปาเป็นต้น ดังนั้น มั่นใจว่าเอ็กโกได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายและการให้ประโยชน์แก่เกษตรกร
อย่างไรก็ตาม เอ็กโกไม่ได้ประเมินไปถึงกรณีเลวร้ายที่สุด คือ รัฐไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ ส.ป.ก. เนื่องจากเชื่อว่าภาครัฐจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเป็นนโยบายรัฐ โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีนโยบายสนับสนุนวินด์ฟาร์ม และยังให้ ส.ป.ก.พิจารณาให้เช่าพื้นที่ติดตั้งกังหันลม เพราะพื้นที่ตั้งที่ลมดีๆ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่า ของ ส.ป.ก. หรือ กรมป่าไม้ แต่ข้อเสียของนโยบายคือ การกำหนดนโยบายของภาครัฐไม่ได้แก้กฎหมายตามให้สอดคล้องกัน ทำให้นโยบายไปขัดแย้งกับกฎหมาย ดังนั้นถือเป็นบทเรียนของรัฐที่ก่อนจะออกนโยบายของประเทศใดๆ มาจะต้องทำให้กฎหมายรองรับและสอดคล้องกับนโยบายด้วย