เก็บตก: คำถามที่ ปตท.ต้องตอบ... ก่อนความจริงจะหายไปพร้อมกับคราบน้ำมัน (27 ส.ค. 56)
ประชาไท 27 สิงหาคม 2556
เก็บตก: คำถามที่ ปตท.ต้องตอบ... ก่อนความจริงจะหายไปพร้อมกับคราบน้ำมัน
วาระครบรอบ 1 เดือน เหตุการณ์น้ำมันดิบกว่า 5 หมื่นลิตร ของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมีคอล (PTTGC) รั่วไหลลงสู่ทะเล และคราบน้ำมันจำนวนมากถูกพัดขึ้นสู่ชายฝั่งของอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง กินพื้นที่ชายหาดยาว 600 เมตร จนถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติทางทะเล และผลกระทบที่ตามมาคือการท่องเที่ยวซบเซา อาหารทะเลไม่มีคนกล้าบริโภค รวมถึงคำถามถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ในช่วงจังหวะที่กลุ่ม “ติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว” จะเดินหน้านำกว่า 30,000 รายชื่อ ผู้ร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีปัญหาน้ำมันรั่ว เสนอต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 27 ส.ค.นี้
ประชาไทขอนำเสนอ บางข้อสังเกตที่น่าสนใจ จากเวทีสาธารณะ “คำถามที่ ปตท.ต้องตอบ… ก่อนที่ความจริงจะหายไปพร้อมกับคราบน้ำมัน” เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา
การสำรวจผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและการติดตามตรวจสอบผลกระทบระยะยาว
ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นำเสนอข้อมูลผลกระทบต่อทรัพยากรสิ่งมีชีวิตว่ามีความเกี่ยวข้องทั้งระบบ นิเวศป่าชายเลนและระบบนิเวศหญ้าทะเลซึ่งแม้ทางตรงจะยังไม่เห็น แต่จะส่งผลกระทบทางอ้อมอย่างไรต้องดูต่อไป ส่วนระบบนิเวศแนวปะการัง ระบบนิเวศหาดหิน ระบบนิเวศหาดทราย กระทบแน่โดยเฉพาะที่บริเวณอ่าวพร้าว
นอกจากนั้นยังมีระบบนิเวศหาดโคลน รวมทั้งนกในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สัตว์ทะเลหายาก (เต่าทะเล พะยูน โลมา วาฬ) สัตว์ทะเลหน้าดิน แพลงก์ตอน และทรัพยากรประมง ที่ต้องคำนึงถึงโดยเฉพาะประเด็นการสะสมมลพิษในห่วงโซ่อาหาร
ปัจจุบัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วคือ การเกิดปะการังฟอกขาวในบริเวณอ่าวพร้าวทิศเหนือและทิศใต้ อ่าวปลาต้ม และอ่าวน้อยหน่า และผลต่อสัตว์ทะเลหน้าดิน เช่น ไส้เดือนทะเล ปู และพวกหอยสองฝา ฯลฯ อย่างไรก็ตาม วิธีการดูถึงผลกระทบไม่ใช่เฉพาะว่าสิ่งมีชีวิตนั้นตายหรือไม่ตาย
ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยกตัวอย่างผลกระทบที่สำคัญของน้ำมันต่อปะการังในห้องปฏิบัติการ เช่น อัตราการเติบโตลดลง ความผิดปกติของเนื้อเยื่อ การเกิดโรค การเปลี่ยนแปลงการรับรู้ทางเคมี การกินอาหาร พฤติกรรมการขับน้ำมัน-ตะกอน การขับเมือกและการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในเมือก การสืบพันธุ์ลดลง ความผิดปกติในการพัฒนาตัวอ่อน และการทดแทนประชากรลดลง
“ทรัพยากรเหล่านี้เป็นทรัพยากรแผ่นดิน ความเสียหายต้องมีคนสะท้อนออกมา แต่เนื่องจากเป็นของส่วนกลางคนจึงมักไม่นึกถึง” ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวพร้อมเน้นให้อย่าลืมว่าทรัพยากรธรรมชาติคือฐานเศรษฐกิจและการพัฒนาใน อนาคต
ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล กับความเสี่ยงจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในทะเล
รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย กล่าวให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยเป็นรัฐชายฝั่ง คือเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างแผ่นดินกับทะเล โดยทะเลมีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งทรัพยากรและกิจกรรม พื้นที่ทางทะเลที่คนไทยใช้ประโยชน์ได้มีมากกว่า 350,000 ต.ร.กม. (พื้นที่บก 513,000 ต.ร.กม.) ประกอบด้วย อ่าวไทย ประมาณ 230,000 ต.ร.กม. ทะเลอันดามัน ประมาณ 80,000 ต.ร.กม.ช่องแคบมะละกาตอนเหนือ ประมาณ 40,000 ต.ร.กม. มีความความยาวชายฝั่งมากกว่า 2,800 กม.ในพื้นที่ 23 จังหวัด 897 เกาะ
ในส่วนผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของไทย รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวว่า มีทั้งจากทรัพยากรมีชีวิต เช่น การทำประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ระบบนิเวศ และทรัพยากรไม่มีชีวิต เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ และพลังงานอื่นๆ รวมทั้งจากกิจกรรมการคมนาคมขนส่ง เช่น การเดินเรือ ท่าเรือและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการสื่อสาร หรือกิจกรรมอื่นๆ ทั้ง การท่องเที่ยว การอนุรักษ์ และการศึกษาวิจัย รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 7.5 ล้านล้านบาท แต่ในจำนวนนี้ตกอยู่ในมือคนไทยไม่ถึง 30 % และที่ได้รับเต็มคือผลกระทบ
นักวิชาการจากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำส่วน กล่าต่อมาว่า เมื่อมองอนาคต ใน 10 ปีข้างหน้า ผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทยจะยิ่งมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อมิติต่างๆ ในการใช้ทะเลของประเทศไทยอยู่หลายประการ ทั้งที่มีสาเหตุมาจากมนุษย์ และภัยธรรมชาติต่างๆ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และโลก
สำหรับกิจกรรมอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในทะเล รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญ ทำให้มูลค่าผลประโยชน์ชาติทางทะเล มีค่าเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด ขณะที่การขนส่งน้ำมันทางทะเล และอื่นๆ เป็นกิจกรรมทางทะเลที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นตามความต้องการทางพลังงาน ทั้งนี้ การรั่วไหลของน้ำมันในทะเลเนื่องมาจากกิจกรรมการขนส่งทางทะเลเป็นอุบัติเหตุ ทางทะเลแบบหนึ่ง ที่เกิดขึ้นได้ ถึงแม้จะมีมาตรการป้องกันต่างๆ เป็นอย่างดีแล้วก็ตามทางทะเล
จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษรายงานว่าในช่วง พ.ศ.2519-2553 เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหล 124 เหตุการณ์ ส่วนกรมเจ้าท่ารายงานว่าในช่วง พ.ศ.2540-2553 เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลในทะเลที่มีปริมาณน้ำมันครั้งละมากกว่า 20,000 ลิตร เป็นจำนวน 9 ครั้ง
รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อกรณีเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นว่า ความสับสน คลุมเครือในข้อมูลข่าวสารในด้านต่างๆ ไม่ทันต่อความต้องการของสังคมเป็นอุปสรรคในการวางแผนในการแก้ปัญหาในระยะ ต่างๆ อย่างยิ่ง ทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการเกิดปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันในทะเลครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย และมีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายได้มากหรือน้อยกว่าในครั้งนี้ ดังนั้น ทุกภาคส่วนในสังคมไทยต้องถามตัวเองว่าเราจะป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพได้อย่างไร โดยใช้เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญ
กรณีน้ำมันรั่วมอนทารา หรือ Montara Oil Spill เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2552
กรณีน้ำมันรั่วมอนทารา ความรับผิดชอบของ ปตท.สผ.
ธารา บัวคำศรี กรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงการไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ของ ปตท.โดยยกกรณีน้ำมันรั่วมอนทารา หรือ Montara Oil Spill ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2552 หลังเกิดเหตุระเบิดที่แท่นขุดเจาะเวสต์แอตลาส บริเวณแหล่งน้ำมันมอนทาราซึ่งตั้งอยู่ในทะเลติมอร์ ห่างจากชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย ประมาณ 250 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ราวร้อยละ 70 ของการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท (ก๊าซธรรมชาติเหลว) ของออสเตรเลียมาจากการสำรวจและขุดเจาะนอกชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นเขตมหาสมุทรที่ยังคงสะอาดและอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุระเบิดที่แท่นขุดเจาะก๊าซและน้ำมันมอนทาราจึงเป็น เรื่องที่ได้รับความสนใจและวิตกกังวล
กรณีดังกล่าวทำให้น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติรั่วไหลลงสู่ทะเลราว 2,000 บาร์เรลต่อวัน และเป็นเวลานับ 10 สัปดาห์หลังจากเหตุน้ำมันรั่ว ทำให้น้ำมันดิบแผ่กระจายปกคลุมพื้นที่ราว 90,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1 ใน 3 ส่วนของพื้นที่อ่าวไทย กว่าจะหาทางสกัดน้ำมันรั่วไหลได้ต้องใช้เวลานานถึง 74 วัน โดยที่ความพยายามอุดรอยรั่วใต้ทะเลล้มเหลวถึง 4 ครั้ง จนกระทั่งประสบความสำเร็จในครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2552 ทั้งนี้ โชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น
ตารางแสดงพื้นที่ที่มีคราบน้ำมันปกคลุม
คราบน้ำมัน เคลื่อนย้ายอย่างคงที่ด้วยกระแสลมและคลื่น ส่วนใหญ่คงอยู่ในพื้นที่หนึ่งๆ ไม่เกินสองชั่วโมง
น้ำมันรั่วไหลยุติลงในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 และภายในไม่กี่วันไม่เหลือคราบน้ำมันให้เห็นรอบแท่นเจาะ และจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ไม่มีคราบน้ำมันหลงเหลือให้เห็นจากการบินสำรวจ
ภายหลังเกิดเหตุ บริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย หรือ PTTEP AA บริษัทในเครือ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งได้รับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันมอนทารา ได้แถลงแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกระทรวงทรัพยากรและพลังงานของออสเตรเลียได้มอบหมายให้คณะกรรมการสอบสวน ข้อเท็จจริงถึงต้นตอของเหตุการณ์
คณะกรรมการสอบสวนใช้เวลาทำงานหลายเดือน รายงานของคณะกรรมการได้นำเสนอออกสู่สาธารณะในเดือนพ.ย.2553 พร้อมๆ กับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรับมือของรัฐบาลออสเตรเลียต่อข้อเสนอแนะ 105 ข้อในรายงาน โดยรายงานระบุว่า การที่บริษัท PTTEP ติดตั้งแนวกั้นในบ่อน้ำมันเพื่อป้องกันการรั่วไหลเพิ่มเติมนั้นดำเนิน การอย่างไม่เพียงพอ และยังไม่ได้ติดตั้งแนวกั้นอันที่ 2 ที่จำเป็นต้องทำอีกด้วย
เนื้อหาในรายงานได้วิพากษ์ถึงการทำงานของบริษัท PTTEP และเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐนอร์ทเทอร์นเทอริทอรี่ แต่ก็ไม่ได้วิเคราะห์อย่างจริงจังถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องของรัฐบาลกลางออสเตรเลีย อย่างไรก็ตามรายงานได้เสนอแนะให้รัฐบาลออสเตรเลียควรเตรียมความพร้อมที่มี ประสิทธิภาพเพื่อรับประกันว่าบริษัทปิโตรเลียม (PTTEP) ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการทำความสะอาดคราบน้ำมันและค่าใช้จ่ายในการ ดำเนินการและการสำรวจศึกษาทางวิทยาศาสตร์
รวมถึงเสนอให้มีหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นอิสระหน่วยเดียว เพื่อดูแลประเด็นเรื่องความปลอดภัย ซึ่งต่อมารัฐบาลกลางออสเตรเลีย ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นคือ สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติออสเตรเลีย (National Offshore Petroleum Safety and Environmental Management Authority: NOPSEMA) เพื่อทำหน้าที่บริหารและกำกับดูแลด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมในเขตน่านน้ำของออสเตรเลีย เพื่อลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนของรัฐบาลท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐท้องถิ่น
การรับมือกรณีมอนทารา (ของรัฐบาลออสเตรเลีย) |
|
ขอบเขตอำนาจ | Offshore Petroleum and Greenhouse Gas Storage Act 2006 ซึ่งกระทรวงทรัพยากรพลังงานและการท่องเที่ยวใช้กฎหมายนี้ประกาศตั้งคณะกรรมการสอบสวน (Montara Commission of Inquiry: CoI) |
การทำความสะอาดคราบน้ำมัน |
หน่วยงานความปลอดภัยทางทะเลของออสเตรเลีย (the Australian Maritime Safety Authority: AMSA) ดำเนินการตามNational Plan จัดการกับน้ำมันรั่วจนถึง21,000 ตัน/ ความช่วยเหลือต่างประเทศผ่าน International Convention on Oil Pollution Preparedness, Response and Cooperation/ศูนย์ควบคุมการรั่วไหลของน้ำมันในทะเลของออสเตรเลีย (The Australia Marine Oil Spill Center: AMOS) PTTEP ส่งผ่านบทบาทการทำความสะอาดคราบน้ำมันให้กับAMSA ในวันแรกหลังจากเกิดเหตุ |
การประกันภัย | PTTEPAA มีวงเงินประกัน270 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับMontara |
ภาระรับผิดในการทำความสะอาดคราบน้ำมันและการชดเชย | มีความคลุมเครือระหว่างกฎหมายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายอันเกิดจากมลพิษน้ำมันค.ศ. 1969 (CLC 92) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายอันเนื่องมาจากมลพิษน้ำมันค.ศ. 1971 (Fund Convention) |
ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดคราบน้ำมัน | งบประมาณมาจากอุตสาหกรรมเดินเรือไม่มีข้อกำหนดในกฎหมายที่ให้AMSA หรือAMOS เบิกค่าใช้จ่ายคือในกรณีOffshore บริษัทน้ำมันไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับใดๆที่จะยอมรับความรับผิดชอบแต่ส่วนใหญ่บริษัทก็จะจ่ายเพื่อผลประโยชน์ในด้านการขอสัมปทาน PTTEP จ่าย 6.344 ล้านเหรียญออสเตรเลียให้กับAMSA |
การชดเชย |
CLC 92 และFund Convention ไม่รวมOil Rig (แท่นขุดเจาะนอกชายฝั่ง) รัฐบาลอินโดนีเซียเรียกร้องค่าชดเชยจากPTTEPAA แต่โดนปฏิเสธเพราะขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนเช่นเดียวกับกรณีติมอร์ตะวันออก |
ธารากล่าวด้วยว่าสำหรับไทยควรให้การสนับสนุนการมีอนุสัญญาระหว่างประเทศที่มุ่ง เน้นการกำกับดูแลและควบคุมกิจการชุดเจาะน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่ง เพื่อป้องกันผลกระทบหรือเตรียมรับมือกับเหตุการณ์เช่นกรณีมอนทารา ซึ่งนอกเหนือไปจากการกำกับดูแลและควบคุมกิจการการเดินเรือระหว่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยมีแท่นขุดเจาะในทะเลอ่าวไทยจำนวนมากถึงกว่า 600 แท่นแล้ว
ทั้งนี้ แม้ประเทศไทยจะได้ให้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS) ที่พูดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและบทบาทหน้าที่ของรัฐในการอนุมัติและควบคุมการ สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหล่ทวีป รวมถึงออกมาตรการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากเครื่องมืออุปกรณ์ ต่างๆ รวมถึงแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม เมื่อวันที่ 26 เม.ย.54 แต่ก็ไม่ครอบคลุมความเสียหายที่ต้องชดใช้
จุดอ่อนและข้อจำกัด ระบบและกลไกรับมือกับภัยด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล
ดร.บัณทูร เศรษฐศิโรตน์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงจุดอ่อนของระบบและกลไกรับมือปัญหาน้ำมันรั่ว 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ เนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ จากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจาก น้ำมัน พ.ศ.2538 ให้มีการตั้งคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) และได้มีการจัดทำแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ พ.ศ.2545
ต่อมามีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษ ทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. 2547 ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกเมื่อปี 2548 โดยไม่มีการกำหนดให้กระทรวงพลังงานซึ่งน่าเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วม อยู่ใน กปน.ขณะที่ กปน.เองก็ไม่ได้มีการจัดทำแผนป้องกันและขจัดมลพิษฯ ขึ้นใหม่ ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ
2.เรื่องการให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ต่อสาธารณะ เนื่องจากกลไกที่มีอยู่ไม่มีการทำงานจริง โดยเฉพาะการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินการขจัดคราบน้ำมัน ทำให้เกิดคำถาม อาทิ จำนวนทุ่นกั้นน้ำมันที่ใช้เพียงพอหรือไม่ ทำไมกันน้ำมันไม่ได้ ปริมาณน้ำมันรั้วที่แท้จริงคือเท่าไหร่ ข้อมูลชนิด ปริมาณ ตำแหน่งที่ใช้สารเคมีขจัดคราบนํ้ามัน และแท่นขุ่นเจาะน้ำมันมีวาล์วอัตโนมัติหรือไม่ ปิดได้ภายในเวลาเท่าใด เป็นต้น
เรือเด่นสุทธิอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ฯ เป็นเรือที่ไปปฏิบัติภารกิจกู้คราบน้ำมัน
3.เรื่องการจัดการปัญหาเมื่อเกิดเหตุน้ำมันรั่ว ทั้งการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่มีการเตรียมพร้อมเรื่องSensitivity Map และไม่มีความพร้อมในด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากร เนื่องจากเรือขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันมี 2 ลำ คือ แต่มีลูกเรือชุดเดียวที่จะทำงานจำวน 15 คน ขณะเกิดเหตุมีเรือที่สามารถปฏิบัติการได้เพียงลำเดียวซึ่งอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนเรืออีกลำรอซ่อม ใช้เวลาเดินทางเกิน 24 ชั่วโมงมาถึงระยองสายวันอาทิตย์ที่ 28 ก.ค. 56 และดูดน้ำมันขึ้นได้ 6 ตัน
นอกจากนั้นยังพบปัญหาการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงานและกฎ ระเบียบ จากข้อมูลของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ของ PTTGC พบว่า มีการขออนุญาตใช้สารเคมีขจัดคราบนํ้ามัน 35,000 ลิตร ซึ่งได้รับอนุญาต 5,000 ลิตรแต่มีการใช้สาร Slicgone Ns 30,612 และ Super-Dispersant 25 ปริมาณถึง 6,930 ลิตร อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องวิธีการใช้สารเคมีฉีดน้ำมันที่ไม่ถูกต้องทั้ง กรณีการฉีดบนเรือ และการฉีดจากทางเครื่องบิน ซึ่งตำแหน่งที่ฉีดสารเคมีนั้นน้ำต้องลึกเกิน 10 เมตร และห่างจากฝั่งอย่างน้อย 3 ไมล์ แต่กลับพบว่ามีการฉีดสารเคมีใกล้ชายหาด
ดร.บัณทูร กล่าวด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่มีการศึกษาติดตามผลกระทบที่ทันเหตุการณ์ ทั้งเรื่องการศึกษาทางวิชาการที่เป็นอิสระและเป็นที่ยอมรับ เพื่อการวางแผนจัดการและการชดเชยเยียวยา รวมทั้งงบประมาณสนับสนุนการศึกษาทางวิชาการที่ทันเวลา
ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงจัดการในพื้นที่อ่าวพร้าวว่าทำให้เกิดคำถาม อาทิ การจัดการในเขตพื้นที่ควบคุม แม้จะมีการติดป้ายแต่ก็ไม่มีการตรวจสอบคนเข้าออกหรือให้มีการลงบันทึกแจ้ง ชื่อก่อน ขณะที่บทบาทของอาสาสมัครนั้นควรเข้าในช่วงเวลาใด และมีแนวทางปฏิบัติอย่างปลอดภัยเช่นไร
ส่วนวิธีการไถพลิกหาดทรายทั้งหาดเพื่อล้างน้ำมันที่ติดในชั้นทราย 4 ครั้ง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นวิธีดำเนินงานที่เหมาะสมหรือไม่ ใครเป็นผู้ที่อนุมัติการดำเนินงาน มีการแจ้งต่ออุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่หรือไม่ และหากเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือความเสียหาย ใครคือผู้รับผิดชอบ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะคิดฟื้นฟูระบบนิเวศน์โดยอาจใช่เวลามากกว่าแต่ผล กระทบน้อยกว่า
และจุดอ่อนที่ 4.เรื่องการจัดการปัญหาหลังเกิดเหตุน้ำมันรั่ว กปน.ตั้งอนุกรรมการฟื้นฟูและประเมินค่าความเสียหาย โดยมีอธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นหัวหน้าคณะอนุฯ ในส่วน PTTGC รู้ถึงจุดอ่อนจึงเร่งดำเนินการ แต่คำถามคือรัฐที่มีอำนาจเหนือหว่า ปตท.ทำไมจึงไม่ทำหน้าที่ตามบทบาทในการจัดเตรียมแผนปฏิบัติการฟื้นฟูและชดเชย ตามความเสียหาย โดยให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
สำหรับการปรับปรุงระบบและกลไกรับมือเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต ดร.บัณทูร กล่าวว่า ควรมีการปรับปรุงโครงสร้างและองค์ประกอบ กปน.รวมทั้งวิธีการทำงาน และมีการจัดทำแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติฉบับใหม่ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ความรับผิดของผู้ก่อมลพิษ และรูปแบบองค์กรอิสระตรวจสอบ กรณีน้ำมันรั่วในทะเล
สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความรับผิดผู้ก่อมลพิษตามกฎหมายไทย ว่ามีทั้งการชดใช้ค่าเสียหาทางแพ่งและความผิดทางอาญา โดยในทางแพ่ง ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 ระบุว่า เจ้าของผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ ทรัพย์สิน ของประชาชน และค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพิษ และมาตรา97 ระบุ ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทำให้ทรัพยากร ธรรมชาติ เสียหาย ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐ
สุรชัยกล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจคือการชดใช้ค่าเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับรัฐนั้นจะ คำนวณอย่างไร เพราะที่ผ่านมารัฐไทยยังไม่มีประสบการณ์เรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ การตีมูลค่าจึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป เพราะข้อเท็จจริงสรุปแล้วว่า PTTGC ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ในความเสียหายเพียงใด ทั้งต่อชุมชน ผู้ประกอบการ และรัฐ
ส่วนความรับผิดทางอาญา มาตรา 119 ทวิ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ห้ามผู้ใดทำด้วยประการใดๆ ให้น้ำมันลงในแม่น้ำ ทะเล ภายในน่านน้ำไทย เป็นเหตุให้เกิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต หรือสิ่งแวดล้อม เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการแก้ไขสิ่งเป็นพิษหรือชดใช้ค่า เสียหายเหล่านั้นด้วย
ทั้งนี้ หากพิสูจน์ได้ว่า PTTGC มีเจตนาทำให้เกิดการปนเปื้อน ต้องรับผิดอาญาด้วย
สุรชัย กล่าวต่อมาถึง เหตุผลที่ควรมีคณะกรรมการอิสระฯ ว่า 1.องค์ประกอบ คณะกรรมการ กปน.เน้นหน่วยงานรัฐและตัวแทนสมาคมอนุรักษ์ของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันซึ่งมี ผลประโยชน์ทับซ้อน ขาดตัวแทนอิสระ เช่น นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และ 2.ปัญหามีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ภาคประชาสังคมยังมีข้อสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของ กปน.จึงต้องการหลักประกันในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ที่ถูกต้อง เป็นธรรม
สำหรับรูปแบบคณะกรรมการอิสระ จะเป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งและกำกับดูแลโดยนายกรัฐมนตรี กรรมการมีองค์ประกอบของตัวแทนหน่วยงานรัฐ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ที่เป็นอิสระ ไม่มีประโยชน์ทับซ้อน โดยทำหน้าที่ 1.ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกรณีปัญหาน้ำมันรั่วไหล 2.ตรวจสอบ ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม 3.เสนอหลักการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายต่อรัฐบาล