วิธีรับมือเหตุการณ์น้ำมันรั่วในระดับสากลที่ ปตท. ไม่ได้ทำ: ตอนที่ 1 (3 ก.ย. 56)
ไทยพับลิก้า 3 กันยายน 2556
วิธีรับมือเหตุการณ์น้ำมันรั่วในระดับสากลที่ ปตท. ไม่ได้ทำ (1)
เป็นที่ทราบกันดีว่า เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ลอยมาเกยชายฝั่งอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)PTTGC เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งตามข่าวแล้วบริษัทกล่าวอ้างว่าได้พยายามหยุดและสกัดกลุ่มก้อนน้ำมันที่ ลอยมาจากทะเลนอกชายฝั่งมาบตาพุดอย่างสุดความสามารถ ด้วยวิธีการฉีดพ่นสารเคมีที่ชื่อว่า Slickgone NS จนทำให้น้ำมันแตกตัวเป็นละอองเล็กๆ และจมสู่ใต้ทะเล โดยทางกลุ่ม ปตท. กล่าวยืนยันว่าเป็นวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สารเคมีที่ใช้ได้รับมาตรฐานในระดับสากล และไม่สามารถใช้วิธีการอื่นได้แล้วเนื่องจากคลื่นลมทะเลในขณะนั้นสูงถึง 2 เมตร แต่เนื่องจากมีกระแสต่อต้านจากภาคประชาสังคมหลายๆ กลุ่มถึงวิธีการในการกำจัดคราบน้ำมันของ ปตท. ที่ดูจะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงตามที่กล่าวอ้าง และมีหลักฐานยืนยันหลายๆ อย่าง ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าจึงได้รวบรวมมารายงานดังนี้
หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี หนึ่งในแกนนำ “กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท. รั่วไหล” ได้ออกมาตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและวิธีการกำจัดคราบน้ำมันของ PTTGC ที่อ้างว่ามีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคราบน้ำมันที่แตกตัวจากสารเคมี สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ โดยมีเนื้อหาว่าวิธีการกำจัดคราบน้ำมันในระดับสากลและกรมควบคุมมลพิษได้ กำหนดไว้จะต้องทำการกักน้ำมันด้วยทุ่นกักน้ำมัน (Boom) และดูดกลับด้วยเครื่องดูดคราบน้ำมัน (Skimmer) ซึ่งไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อน้ำมันที่รั่วไหลอยู่นอกเหนือการควบคุมจริงๆ จึงจะใช้วิธีการพ่นสารเคมีกำจัดคราบน้ำมันซึ่งกำหนดให้ต้องมีความลึกของน้ำ ในบริเวณดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 10 เมตร จึงจะเจือจางพอ
วิธีการในการกำจัดคราบน้ำมันด้วยทุ่นกักน้ำมันและดูดกลับ (Boom and Skimmer) จะต้องมีทุ่นที่ยาวและใหญ่พอที่จะกักน้ำมันให้ไม่หลุดรอด ซึ่งในที่นี้ หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์บอกว่าต้องมีความยาวไม่ต่ำกว่า 500 เมตร หรือยิ่งยาวยิ่งดี เมื่อกักน้ำมันได้แล้วก็จะใช้เครื่องดูดคราบน้ำมันเข้าไปดูดกลับมาไว้ที่เรือ
หากวิธีการใช้ทุ่นกักน้ำมันไม่ได้ผล ก็สามารถแก้ไขโดยการใช้เรือ 2 ลำ ลากทุ่นกักน้ำมันเป็นรูปตัว V ขับสวนทางที่คราบน้ำมันลอยเพื่อกักน้ำมันไว้ให้อยู่ในทุ่น และใช้เครื่องดูดคราบน้ำมัน (Skimmer) ดูดน้ำมันขึ้นเรืออีกที ซึ่งวิธีนี้หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์กล่าวว่านอกจากจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ก็ไม่ได้มีราคาสูงเมื่อเทียบกับกำไรในแต่ละปีของ บริษัทในเครือ ปตท.
ถ้าย้อนกลับไปดูวิธีการรับมือเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ PTTGC ได้ทำไปนั้น จะไม่พบวิธีการทั้งสองวิธีข้างต้นเลย สิ่งที่บริษัทได้ทำไปนั้นคือการระดมฉีดสารเคมีตั้งแต่ต้น ฉีดให้มากที่สุดเพื่อยับยั้งและสกัดคราบน้ำมันให้เร็วที่สุด โดยให้เหตุผลว่าคลื่นลมในทะเลขณะนั้นค่อนข้างรุนแรง มีคลื่นสูงถึง 2 เมตร ยากที่จะใช้ทุ่นกักน้ำมันได้
หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์กล่าวว่าทางทีมงานได้เข้าไปเก็บภาพเรือที่นำทุ่นมา กักน้ำมันบริเวณนอกชายฝั่งเกาะเสม็ด พบว่าทุ่นที่ใช้มีขนาดเล็กและสั้นมากเมื่อเทียบกับขนาดมาตรฐานสากลที่ใช้ โดยให้ความเห็นว่าทุ่นที่นำมาใช้ไม่ใช่ทุ่นสำหรับการกักน้ำมันและดูดกลับโดย เฉพาะ แต่เป็นเพียงทุ่นที่นำมาล้อมคราบน้ำมันเพื่อที่จะพ่นสารเคมีใส่ลงไปมากกว่า และทุ่นยังขาดอีกต่างหาก จึงไม่น่าจะมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์กล่าวต่อว่าจากกรณีศึกษาการซ้อมรับมือเหตุการณ์ น้ำมันรั่วในอลาสกา พบว่าวิธีการใช้ทุ่นกักน้ำมันและดูดกลับนั้นก็เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอุปกรณ์ที่ใช้นั้นได้มาตรฐานในระดับโลก แม้จะไม่มีหลักฐานว่าคลื่นลมในทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกนอกชายฝั่งอลาสกา นั้นมีความสูงเท่าไร แต่อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตและหลักฐานที่ปรากฏคงให้ความกระจ่างไม่มากก็น้อยกับวิธีการรับมือ ของ PTTGC บริษัทที่ได้รับรางวัลมากมายด้านความโปร่งใส ธรรมภิบาล และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการฉีดสารเคมีเพื่อกำจัดคราบน้ำมัน และการศึกษาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสารเคมีที่ใช้ ติดตามในตอนต่อไป