ก.พลังงาน เร่งเครื่อง "พลังงานทดแทน" หวังเป็นพลังงานกระแสหลักในอนาคต (27 ก.พ. 60)
MGR Online 27 กุมภาพันธ์ 2560
ก.พลังงานเร่งเครื่องพลังงานทดแทนหวังเป็นพลังงานกระแสหลักในอนาคต
กระทรวงพลังงาน เร่งเคลียร์โครงการพลังงานทดแทนเดิมเรียบร้อยได้ใน เม.ย.นี้ เพื่อเร่งเครื่องโครงการใหม่ที่คาดว่าจะมี 850-1,000 เมกะวัตต์ เงินลงทุนราว 4-5 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะ SPP Hybrid Firm ที่หวังนำร่องเพื่อผลักดันให้พลังงานทดแทนเป็นพลังงานกระแสหลักในอนาคต
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานคาดว่าภายในเมษายนนี้จะสามารถดำเนินงานตามแผนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโครงการเดิมได้ทั้งหมด และหลังจากนั้นจะสามารถเริ่มต้นรับซื้อโครงการใหม่ที่ได้รับอนุมัติในหลักการจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา รวมกำลังการผลิตประมาณ 850-1,000 เมกะวัตต์ หรือก่อให้เกิดการลงทุนไม่น้อยกว่า 42,500-50,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการพลังงานทดแทนดังกล่าว ได้แก่ 1. SPP-Hybrid Firm ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะให้พลังงานทดแทนเป็นพลังงานกระแสหลักของไทยในอนาคตได้ ซึ่งก็คือทำให้เป็นการรับซื้อแบบFirm โดยมีเงื่อนไขรับซื้อ ได้แก่ ราคาจะใช้กลไกบิดดิ้งที่ราคาเดิม FiT ไม่เกิน 3.66 บาทต่อหน่วย ปริมาณรับซื้อ 300 เมกะวัตต์ทั่วประเทศ ต่อโครงการติดตั้งได้ระหว่าง 10-50 เมกะวัตต์ และใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่า 1 หรือเทียบเท่า 1 ประเภท โดยไม่กำหนดสัดส่วน และให้สิทธิที่จะใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมได้แต่ต้องเป็นสัญญาประเภท Firm กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 2563
2. โครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนภารใต้อย่างยั่งยืนซึ่งกำหนดไว้ที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส, อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ขนาด 18 เมกะวัตต์ แต่จะจ่ายไฟให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 12 เมกะวัตต์โดยเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลซึ่งถือเป็นการนำร่องระยะแรกก่อน ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นก๊าซชีวภาพและพืชพลังงาน รวมกำลังผลิต 35 เมกะวัตต์ 3. โครงการ VSPP+Semi-Firm ซึ่งจะเปิดรับซื้อจากเอกชนไม่เกินรายละ 10 เมกะวัตต์ รูปแบบประมูล (บิดดิ้ง) โดยเน้นเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ พืชพลังงาน ยกเว้น 3 จังหวัดใต้รวม 289 เมกะวัตตต์
“การรับซื้อจะเป็น SPP-Hybrid Firmdjvo จากนั้นจะเป็นโรงไฟฟ้าประชารัฐ ระยะที่ 1 และ VSPP Semi Firm และโรงไฟฟ้าประชารัฐ ระยะ 2 ตามลำดับ ซึ่งรายละเอียดได้มอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังานกำหนดการซื้อตามศักยภาพของสายส่งและพื้นที่” นายทวารัฐกล่าว
สำหรับความคืบหน้าเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems : ESS) ภายใต้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2559 คณะทำงานกำกับงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ได้พิจารณาอนุมัติโครงการวิจัยทั้งสิ้น จำนวน 27 โครงการ มูลค่างบประมาณรวม 201.551 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 กลุ่มประยุกต์ใช้ ได้แก่ ESS-ความมั่นคงและภัยพิบัติ จำนวน 4 โครงการ, ESS-อุตสาหกรรม/พื้นที่ห่างไกล 3 โครงการ, ESS-ยานยนต์ไฟฟ้า 2 โครงการ รวมมูลค่างบประมาณสำหรับกลุ่ม 1 เท่ากับ 126.091 ล้านบาท
และกลุ่มที่ 2 กลุ่มวิจัยพัฒนา ได้แก่ ด้านวัสดุ ระบบกักเก็บ ESS จำนวน 12 โครงการ, ระบบควบคุม/เชื่อมโยงการนำ ESS ไปใช้งาน จำนวน 4 โครงการ และการจัดทำยุทธศาสตร์ 20 ปี จำนวน 2 โครงการ รวมมูลค่างบประมาณสำหรับกลุ่มที่ 2 เท่ากับ 75.46 ล้านบาท นโยบายดังกล่าวก็เพื่อสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้งานจริงของระบบกักเก็บพลังงาน