พบสัญญาณระบบนิเวศทะเลระยองผิดปกติ น้ำใต้หาดอ่าวพร้าวปนเปื้อนสารหนู-ปรอท (3 ก.ย. 56)

People VOICE 3 กันยายน 2556
นักวิทยาศาสตร์พบสามสัญญาณ ระบบนิเวศทะเลระยองผิดปกติ

ผลสำรวจเบื้องต้นนักวิทยาศาสตร์ศิลปากรพบสามสัญญาณความผิดปกติระบบนิเวศทะเลระยอง ชี้ควรมีการตรวจสอบการปนเปื้อนและติดตามอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องโดยเร่งด่วน

รศ.เรณู เวชรัชต์พิมล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดเผยว่า 3 สัญญาณดังกล่าวคือ ความผิดปกติของเซลเม็ดเลือดแดงในปลาลิ้นหมา ความผิดปกติของเนื้อเยื่อรอบตับของปลาข้างไฝ และการปนเปื้อนสารหนูและปรอทของน้ำทะเลใต้หาดทรายอ่าวพร้าว

“ตัวอย่างปลาลิ้นหมาจากอ่าวแม่รำพึง ชายฝั่งทะเลระยองพบว่ามีไมโครนิวเคลียสที่แตกหักจำนวนมาก ขณะที่การผ่าสำรวจปลาข้างไฝพบเนื้อเยื่อบริเวณรอบตับมีสีดำผิดปกติเป็นบริเวณกว้างชัดเจน ส่วนผลตรวจตัวอย่างน้ำทะเลจากใต้หาดทรายอ่าวพร้าวพบการปนเปื้อนของสารหนูและปรอท” รศ.เรณูกล่าว

ผลตรวจดังกล่าวสืบเนื่องจากการลงพื้นที่ดำเนินการสำรวจเบื้องต้นของทีมนักวิทยาศาสตร์และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรราว 60คน ระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ภายใต้ “โครงการสำรวจผลกระทบของน้ำมันดิบรั่วในทะเลต่อสัตว์น้ำในพื้นที่ปนเปื้อน จ. ระยอง” ส่วนหนึ่งเพื่อศึกษาผลกระทบของน้ำมันดิบรั่วเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556ในทะเลอ่าวไทยที่มีต่อสัตว์น้ำในพื้นที่ปนเปื้อนจังหวัดระยอง และจัดทำเป็นข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในการประเมินค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและคำนวณค่าชดเชยให้ประชาชน

ส่วนหนึ่งของการสำรวจดังกล่าว มีการสุ่มเก็บตัวอย่างปลาและสัตว์น้ำที่ชาวประมงจับได้จากพื้นที่ทะเลชายฝั่งระยอง และในจำนวนดังกล่าวพบว่ามีความผิดปกติกับตัวอย่างปลาบางส่วน

“เราตรวจพบว่าปลาลิ้นหมาจากอ่าวบ้านเพ มีไมโครนิวเคลียสที่แตกหักเป็นจำนวนมาก การตรวจหาไมโครนิวเคลียส เป็นการหาความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดงของสัตว์ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อมะเร็ง ถ้าพบว่าเซลล์เม็ดเลือดแดงมีดีเอ็นเอที่แตกหักสูง ก็สามารถสะท้อนความผิดปกติของสิ่งแวดล้อมที่สัตว์ชนิดนั้นอาศัยอยู่ได้ ตอนนี้เราบอกได้ว่ามันไม่ปกติเพราะปลามีดีเอ็นเอแตกหักสูง แปลว่าสิ่งแวดล้อมที่ปลาอาศัยอยู่ปนเปื้อนด้วยสารก่อมะเร็ง นี่แค่ตัวอย่างเดียวที่เราสุ่มตรวจนะ คือเรามีโอกาสได้ตัวอย่างแค่นี้ เพราะการตรวจดังกล่าวต้องใช้ปลาเป็นเท่านั้น แต่แค่ตัวอย่างเดียวที่ตรวจเราก็เจอเลย คำถามคือแล้วที่เหลือล่ะ” รศ.เรณูชี้แจง
“ขณะที่การผ่าสำรวจอวัยวะของปลาข้างไฝจากพื้นที่เดียวกัน พบเนื้อเยื่อบริเวณรอบตับมีสีดำผิดปกติเป็นบริเวณกว้าง ตับเป็นอวัยวะท่ี่ทำหน้าที่กำจัดสารพิษออกจากร่างกายสิ่งมีชีวิต การพบสีดำดังกล่าวบ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีความผิดปกติในสิ่งแวดล้อมที่นั่น” รศ.เรณู กล่าว

“เรายังได้เก็บตัวอย่างน้ำจากใต้หาดทรายอ่าวพร้าวมาตรวจองค์ประกอบ และพบว่ามีการปนเปื้อนสารหนู (10-30 PPB หรือ ส่วนในพันล้านส่วน) และสารปรอท (0-5 PPB) ชัดเจน ซึ่งสารทั้งสองนี้ไม่ควรมีอยู่ในน้ำทะเลปกติ สอดคล้องกับข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ” รศ.เรณูกล่าวเพิ่มเติม

ล่าสุด กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษรายงานว่าระดับสารพิษปรอทในน้ำทะเลบริเวณอ่าวพร้าวซึ่งคราบน้ำมันเข้าฝั่งช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่าน มานั้น มียังอยู่ในระดับ 2.9 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐาน (ที่กำหนดไว้เพียงไม่เกิน 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร) ถึง 29 เท่า ทั้งนี้รายงานดังกล่าวถูกคณะรัฐมนตรีสั่งให้ตรวจสอบความถูกต้องของผลการตรวจวัด

จากผลการตรวจดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากรอธิบายว่า เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ชัดเจนถึงความเป็นไปได้ที่ระบบนิเวศทะเลระยองจะมีการปนเปื้อนที่ต้องการการศึกษา ตรวจสอบและติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคสัตว์น้ำจากพื้นที่ และความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม

“ในเชิงหลักการ หากทะเลปนเปื้อน สารพิษเหล่านั้นก็จะสะสมในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศ จากน้ำทะเลเข้าสู่สิ่งมีชีวิตอย่างแพลงค์ตอน เข้าสู่ปลาและสัตว์เล็กที่กินแพลงค์ตอน ก่อนจะเข้าไปสะสมต่อในสัตว์น้ำที่ใหญ่ขึ้นอย่างปลา และหากคนเรานำมาบริโภคก็จะได้รับสารพิษ ประเด็นคือผลกระทบจะรุนแรงถึงขั้นไหนนั้น เราจำเป็นต้องทราบระดับความรุนแรงของการปนเปื้อนเหล่านั้นก่อน

ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นคือตรวจสอบระดับการปนเปื้อนเหล่านั้นด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ และติดตามต่อเนื่องตามความเหมาะสมทางหลักวิชาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานเกี่ยวข้อง และผู้ก่อมลพิษอย่างปตท. (พีทีทีจีซี) ควรรับผิดชอบดำเนินการ” รศ.เรณู เสนอ

People VOICE รายงาน / ภาพ