Set Zero โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ แค่ซื้อเวลา-เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน? (24 ก.พ. 60)

Green News TV 24 กุมภาพันธ์ 2560
Set Zero โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ แค่ซื้อเวลา-เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน?

สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 21 ก.พ.2560 ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะเจ้าของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ บอกว่า ครม.ไม่ได้สั่งให้ “เซ็ตซีโร่” โครงการ แต่ให้ไปรับฟังความเห็นเพิ่มเติม เสร็จแล้วก็สามารถเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)  พิจารณาเห็นชอบ ก่อนจะนำเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตามขั้นตอน

(คชก.ที่ทำหน้าที่ผ่าน EIAโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือโครงการร่วมกับเอกชน ซึ่งต้องเสนอให้ ครม. อนุมัติ กฎหมายกำหนดไว้ให้มีไม่เกิน 9 คน มีเจ้าหน้าที่ สผ. เป็นฝ่ายเลขานุการ-คชก.ส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ทรงวุฒิคนนอกที่ได้รับการยอมรับ มีความเป็นอิสระและยากต่อการแทรกแซง)

ย้อนมาคำถามที่ว่า ในเมื่อการจัดรับฟังความเห็นเวที ค.1 ค.2 ค.3 ในกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในส่วนท่าเทียบเรือคลองรั้ว และการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่ผ่านมาได้ทำไปหมดแล้ว แต่เรื่องไปคาอยู่ที่ สผ. (ตั้งแต่ปี 2558) เพราะมีความเห็นแย้งจากประชาชนฝ่ายคัดค้าน ทาง สผ.จึงให้ กฟผ.ไปดำเนินการให้สมบูรณ์ แต่ กฟผ. ยังไม่ได้ทำ โดยอ้างว่ารัฐบาลสั่งให้ชะลอโครงการหลังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคีมาช่วยหาทางออก

กรณีนี้เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยให้โครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เสนอ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดําเนินการคัดเลือกเอกชนมาดําเนินการโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องรอ EIA

กฟผ.จึงฉวยโอกาสจากคำสั่ง คสช.นี้ไปเปิดประมูลคัดเลือกบริษัทเอกชน ซึ่งได้กลุ่มบริษัท อิตาเลียนไทย (กลุ่มกรรณสูต) และบริษัท พาวเอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า (PCCC) สัญชาติจีน มานั่งรอลงมือก่อสร้าง แม้บริษัทพร้อมจะเดินหน้าโครงการ แต่เรื่องก็ยังค้างเติ่งอยู่ เพราะ “กระบวนการศึกษาผลกระทบ” ยังไม่สิ้นสุด (ความเห็นชอบผ่าน EIA ของโครงการโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นหนึ่งในกระบวนการคู่ขนานที่จะต้องแนบให้ ครม.พิจารณาด้วย)

กพช. หรือคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธานกลับร้อนรน จึงได้จัดประชุมและมีมติเมื่อ 17 ก.พ.2560 เห็นชอบให้เสนอ ครม.เพื่อเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ (ทั้งๆ ที่ EIA ยังไม่ผ่าน) อาจเพราะจะได้สร้างๆ เสียที เนื่องจากเอกชนเขารออยู่ คนขายถ่านหินก็อยากจะขายเต็มแก่

ส่วนฟาก กฟผ.ถ้าอยู่เฉยๆ ไม่ทำหน้าที่จัดหาพลังงานมาใช้ก็จะหมดความจำเป็นในการมีอยู่ขององค์กร หน้าที่หลักจึงต้องหาไฟมาใช้ ให้พอ ไม่สร้างโรงโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็สร้างเขื่อน

แต่คงมีเสียงโครมครามเล็ดลอดออกมา ม็อบไม่เอาถ่านดันได้กลิ่นทะแม่ง จึงนัดกันมาเย้วๆ หน้าทำเนียบ ทำเอา “นายกฯ ตู่” ต้องกุมขมับปวดเฮดอยู่หลายวัน

และแล้วที่ประชุม ครม. เมื่อ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็ยืนตามมติ กพช. ให้เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ (ครม.ไม่มีสิทธิพิจารณายกเลิก เพราะ กพช.เสนอให้เดินหน้า ไม่ได้เสนอให้ล้มโครงการ) เหตุผลของ ครม.อาจจะเพราะกลัวคนปักษ์ใต้จะต้องใช้ตะเกียงส่องสว่าง จึงให้ กฟผ.ไปเร่งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ทำ EIA ท่าเทียบเรือคลองรั้ว และ EHIAในส่วนโรงไฟฟ้า)  ให้ครบถ้วนตามที่ประชาชนฝ่ายต้านได้ตั้งข้อสังเกตไว้ ซึ่ง กฟผ.จะต้องทำเพิ่ม 17 ข้อใหญ่ และอีก 143 ข้อย่อย

คำถามต่อมาก็คือ จะทำอย่างไร ด้วยบริษัทที่ปรึกษาซึ่งรับงานการจัดรับฟังความเห็นในโครงการได้ใช้จ่ายเงินในการดำเนินการจัดเวทีไปหมดแล้ว ถ้าจะให้ทำเพิ่มอีก จะต้องว่าจ้างกันใหม่หรือไม่อย่างไร กฟผ.จะไปทำเองก็ไม่ได้ เพราะมีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของโครงการ

บริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายงาน EIA โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ คือ บริษัท แอร์เซฟ จำกัด รับงานไป เมื่อ 11 พ.ค. 2555 วงเงิน 23,215,700 บาท (ยี่สิบสามล้านบาทเศษ) บริษัท แอร์เซฟฯ แห่งนี้ จดทะเบียนเมื่อ 25 ก.พ. 2545 ทุน 5 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 235/14 ถนนราษฎร์พัฒนา แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ

ผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 8 พ.ย.2557 คือ นายพงศกร พิทยโสภณกิจ 18,500 หุ้น (37%) น.ส.วสุ พิทยโสภณกิจ 18,500 หุ้น (37%) นางมีนา พิทยโสภณกิจ 12,000 หุ้น (24 %) นายอภิชัย พิทยโสภณกิจ 999 หุ้น (1.99%) นางจารุณี ลื้อบาย 1 หุ้น รวม 50,000 หุ้น มูลค่าหุ้น 100 บาท น.ส.วสุ พิทยโสภณกิจ และ นางมีนา พิทยโสภณกิจ เป็นกรรมการ ผลประกอบการ ปี 2556 มีรายได้ 30,592,407 บาท และขาดทุนสุทธิ 7,306,965 บาท

ข้อสังเกตประเด็นที่ตามมาก็คือ สัญญาจ้างบริษัทที่ปรึกษาครั้งนี้จะต้องระบุวันสิ้นสุดสัญญา หรือปิดจ๊อบ ถ้าจัดทำวิเคราะห์ผลกระทบไม่เสร็จ แปลว่าปิดจ๊อบยังไม่ได้ ต้องทำให้แล้วเสร็จ แต่ปัญหาก็คือถ้าต้องทำเพิ่มจะเข้าเนื้อหรือไม่ แค่ไหน เพราะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี และที่สำคัญจะต้องไปเริ่มกระบวนการใหม่ หรือสามารถไปจัดรับฟังความเห็นเพิ่มเติมกันแน่

อย่างไรก็ดี อาจสรุปเบื้องต้นได้ว่า โครงการนี้ลากยาวแน่ เพราะรัฐบาลประยุทธ์เลือก “ซื้อเวลา” ออกไป แทนการเดินหน้าชนม็อบ โดยหลีกเลี่ยงไม่ส่งสัญญาณตรงๆ ว่าโครงการนี้จะยืดเยื้อไปอีกนาน ฉะนั้นจึงมองไม่เห็นทางออกว่าเวลานับจากนี้ไป กฟผ.จะหาเหตุผลใดมาอธิบายฝ่ายต่อต้านในแง่ “ความคุ้มค่า” และ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าตามแนวนโยบายการพัฒนาแบบสวยหรู Sustainable Development Goals (SDG) ซึ่งคนในหน่วยงานภาครัฐมักชอบพูดกันให้ดูโก้ๆ อยู่เสมอๆ

แต่หากมองในมุมวิเคราะห์การเดินเกมของ กพช.ในครั้งนี้ ต้องการช่วย กฟผ.ที่มืดแปดด้านฝ่าด่าน สผ.ไปให้ได้ ก็เลยใช้มติ กพช.หวังผ่าทางตัน พูดแบบรวบรัดก็คือหวังใช้มติ ครม.บีบ สผ.เพื่อหวังจะกดดันให้ คชก.ผ่าน EIA แบบรวบรัดตัดความ ซึ่งต้องบอกว่าอ่านเกมพลาด เนื่องจาก คชก.มีความเป็นอิสระสูง สั่งซ้ายหันขวาหันไม่ได้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะลัดขั้นตอน ซึ่งรอบนี้ ครม.จึงทำได้อย่างมากก็แค่ให้ กฟผ.ไปจัดทำรายงานผลกระทบเพิ่มเติม เท่ากับปลดล็อกได้แค่หนึ่งเปาะ โดยที่ยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะลบล้างข้อกังวลของฝ่ายคัดค้านได้หรือไม่

…เรื่องนี้คงว่ากันยาว แต่ กฟผ.ก็มั่นใจว่าภายใน 2 เดือนนี้จะเสนอผลศึกษาเพิ่มเติมให้ สผ.พิจารณาได้ จึงต้องรอดูกันต่อไป

แต่สำหรับฝ่ายคัดค้านนั้นเขาหวงแหนทรัพยากร ไม่อยากให้ทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว ตู้กับข้าวขนาดยักษ์ แหล่งทำมาหากิน ความสมดุลของระบบนิเวศ ฯลฯ ในถิ่นฐานต้องถูกทำลาย เพียงเพื่อแลกกับ “กระแสไฟฟ้า” ให้คนส่วนน้อยในวงจรผลประโยชน์นำไปใช้ประกอบกิจการกอบโกยทำกำไร

ฉะนั้นถ้าไม่อยากให้แตกหัก ต่างฝ่ายต้องมายืนบน “ตาชั่งความสมดุล”…ยึดหลักความพอเพียงในการใช้ทรัพย์ในดินสินในน้ำให้ถูกที่ถูกทางและมีความเหมาะสม เราอาจไม่จำเป็นต้องผลิตกระแสไฟฟ้าในปริมาณมหาศาลก็ได้ เพราะสามารถปรับเปลี่ยนไปขายการท่องเที่ยวแบบพรีเมี่ยม แม้ปริมาณนักท่องเที่ยวอาจจะลดน้อยลง แต่การเน้นความยั่งยืน ไม่ผลาญทรัพยากรเพียงเพื่อความปลาบปลื้มชั่วครูชั่วยาม มูลค่าจากการท่องเที่ยวอาจจะเพิ่มมากขึ้น

ถอยกันคนละก้าว—ไม่เช่นนั้นนับวันทรัพยากรธรรมชาติจะเหี้ยนหายไปด้วยวาทกรรมการพัฒนาแบบหลงยุค เพ้อหาแต่ตัวเลข GDP สวยหรู ท่ามกลางฝุ่นควันของมลภาวะและสภาพแวดล้อมที่เสียหายจนย่อยยับ

ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพของ “คนขายถ่าน”  ชัดขึ้น บอร์ด บริษัท ปตท. ที่มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นประธาน เมื่อ 27 พ.ค. 2559  มีมติเห็นชอบเดินหน้าธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซีย ซึ่ง ปตท.เข้าไปถือหุ้นในบริษัท Sakari Resources Limited หรือ SAR ตั้งแต่ปี 2555 มีการผลิตถ่านหินอยู่ 2 แหล่งคือ Sebuku และ Jembayan กำลังผลิตรวมประมาณ 8 ล้านตัน/ปี โดยประเมินเบื้องต้นแล้วว่า กิจการถ่านหินยังมีความเป็นไปได้ในการลงทุน จากที่ก่อนหน้านี้คิดจะขายหุ้นทิ้ง เพราะราคาร่วงหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง

ขณะที่ กฟผ.เองก็มีบริษัทลูกทำธุรกิจถ่านหิน คือ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ที่มีนายวัชรา เหมรัชตานันต์ นั่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้เข้าไปซื้อหุ้นบริษัท Adaro Indonesia (AI) ซึ่งเป็นเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย ตามที่ ครม.อนุมัติให้ EGATi ลงทุนเมื่อ 25 ต.ค. 2559 ซึ่ง EGATi เป็นบริษัทลูกที่ กฟผ. ถือหุ้น 100% เปอร์เซนต์

นอกจากจากนี้ ตามการลงทุนของ EGATi ระยะเวลา 5 ปี (2559-2563) ได้เตรียมใช้งบประมาณกว่า 5 หมื่นล้านบาท ลงทุนกิจการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้บริษัทเติบโตต่อเนื่องและมีผลกำไรเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท จากปีก่อนนี้มีกำไรเพียง 1 ล้านบาท

สำหรับแผนการลงทุนมี 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี๊ยบ 1 กำลังการผลิต 290 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่แขวงบอลิคำไซของ สปป.ลาว ซึ่ง EGATi ถือหุ้นอยู่ 30% ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างตัวเขื่อนหลักและเขื่อนรอง คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2562

2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนถ่านหินกวางจิ เวียดนาม กำลังการผลิต 2 หน่วย หน่วยละ 660 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2565-2566 มีมูลค่าโครงการรวม 7.5 หมื่นล้านบาท โดย EGATi ถือหุ้นอยู่ 40%

3.โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินตอนบน มายตง ตั้งอยู่ที่เมืองมายตง สหภาพเมียนมา ขณะนี้ได้ปรับแผนโครงการแยกให้เป็น 2 เขื่อนเล็ก และอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากรัฐบาลเมียนมา หากได้รับความเห็นชอบจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2562
4.โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยี ตั้งอยู่ในจังหวัดผาอัน สหภาพเมียนมา บริเวณตอนใต้ของแม่น้ำสาละวิน ขนาดกำลังผลิตรวม 1,360 เมกะวัตต์ EGATi  ถือหุ้น 36%

5.โครงการลงทุนธุรกิจเหมืองถ่านหินในเกาะกะลินมันตัง อินโดนีเซีย เพื่อจัดส่งถ่านหินป้อนโรงไฟฟ้าในเวียดนามและไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเข้าร่วมทุน โดยจะใช้เงินลงทุน 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งหมดนี้เป็น Story ว่าด้วยความจำเป็นของโรงไฟฟ้าถ่านหิน การผลาญทรัพยากรชาติ และความมั่นด้านพลังงาน