เมินประชามติ โยนสผ.ชี้ขาด EHIAโรงไฟฟ้า (24 ก.พ. 60)
ไทยโพสต์ 24 กุมภาพันธ์ 2560
เมินประชามติ โยนสผ.ชี้ขาด EHIAโรงไฟฟ้า
นายกฯ แจงทำอีไอเอ-อีเอชไอเอใหม่ คือการนำเอาของเก่าที่ยังไม่ได้ข้อสรุปหลายร้อยข้อมาทบทวนใหม่ พร้อมจวก "กกต." ทำเกินหน้าที่เสนอประชามติไฟฟ้าถ่านหิน ขณะที่พลังงานโยน "สผ." ชี้ขาดเชตซีโรไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่
เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนการเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีไอเอ) และ (อีเอชไอเอ) ใหม่ หรือนำของเก่ามาทบทวนว่า การให้ทำใหม่กับการนำของเก่ามาทบทวนมันต่างกันตรงไหน ทำไมจะต้องมาจับประเด็นทำเก่าหรือทำใหม่ มันก็คือทำนั่นแหละ เมื่อต้องทำก็ต้องเอาของเก่ามาทบทวนด้วย เพราะข้อความก็คืออันเดียวกัน เพียงแต่เอามาทบทวน และทุกคนจะยอมรับหรือไม่ ทั้งของเก่าและของใหม่ ซึ่งยังไม่เสร็จ มีตั้งหลายร้อยข้อ และของเก่าเองก็ยังไม่เสร็จ ในเมื่อบอกว่าของเก่าไม่เข้าใจ ก็ต้องเอามาดูด้วยว่าที่ทำไปแล้วเป็นอย่างไร แล้วมันจะต่างกันอย่างไร มันก็เหมือนทำใหม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้ทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้อนว่า “เรื่องนี้หน้าที่ของ กกต.หรือเปล่า”
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ว่า ขณะนี้เป็นหน้าที่ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่าจะพิจารณาปรับแก้รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ของโครงการใหม่ทั้งหมดหรือปรับแก้เพียงบางส่วน เนื่องจากทางกระทรวงและคณะกรรมการไตรภาคีได้นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการครบถ้วนแล้ว
โดยหากพบว่ามีเงื่อนไขใดจากทั้งหมด 200 ข้อต้องปรับแก้ ก็จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อีกครั้ง แต่หากต้องปรับแก้ไขใหม่ทั้งหมด อาจจะทำให้เกิดวิกฤติได้ เพราะจะทำให้การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบล่าช้าออกไป 2 ปี
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่าเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ทางกระทรวงได้มีการหารือถึงแนวทางการเปิดรับซื้อโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ในส่วนราชการและสหกรณ์การเกษตร ระยะที่ 2 โดยในเดือนเม.ย.2560 นี้กระทรวงจะเปิดให้ผู้สนใจยื่นขอรับสิทธิผลิตไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว จำนวนรวม 519 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นส่วนราชการ 400 เมกฯ และส่วนสหกรณ์การเกษตร 119 เมกฯ โดยให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เร่งจัดทำประชาพิจารณ์ของโครงการ
ทั้งนี้ คาดว่าการทำประชาพิจารณ์จะสามารถดำเนินการได้ในเดือนหน้า และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ได้ในเดือน มิ.ย.ปี 2561 ซึ่งต้องยอมรับว่ามีโอกาสที่จะมีผู้สนใจยื่นขอผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ราชการ น่าจะน้อยกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 400 เมกฯ เนื่องจากมีเพียงไม่กี่หน่วยงานเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดข้อกฎหมาย ซึ่งเบื้องต้นมีองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) หน่วยงานของทหารเรือในพื้นที่อำเภอสัตหีบ และสถาบันการศึกษาของรัฐบาลบางแห่ง
“เราจะใช้การจับสลากเหมือนโซลาร์สหกรณ์ระยะแรก และจะพิจารณาให้โควตาผู้ขอรับสิทธิแต่ละรายตามที่เสนอมา ในอัตรารับซื้อไฟ 4.12 บาทต่อหน่วย จากเดิมที่กำหนดไว้ 5.66 บาทต่อหน่วย” นายประเสริฐ กล่าว.