กกต. ชู "ประชามติ" ไฟฟ้าถ่านหิน (23 ก.พ. 60)
ไทยโพสต์ 23 กุมภาพันธ์ 2560
กกต.ชูประชามติไฟฟ้าถ่านหิน
เครือข่ายอันดามันฯ แถลงเรียกร้องรัฐบาล ยึดหลักวิชาการ 4 ประเด็นทำ EIA-EHIA มั่นใจโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่มีทางเกิดขึ้นที่กระบี่ กฟผ.นัดถกผู้บริหารพลังงาน ปฏิบัติตามมติ ครม. กกต.พร้อมทำประชามติ ใช้เวลา 9 เดือน-งบ 20 ล้าน
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3/2560 ระบุว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ใหม่ กรณีก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ หากอีไอเอทำไม่ได้ ก็ไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ รวมถึงให้ทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงการดำเนินโครงการ หรืออีเอชไอเอ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยรัฐบาลได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับสูงเข้ามาดูแลนโยบายและยุทธศาสตร์ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
เครือข่ายฯ มีข้อเสนอเพิ่มตามที่ได้เจรจากับผู้แทนรัฐบาลคือแม่ทัพภาคที่ 1 ว่าต้องมีการจัดทำรายงานในรูปแบบใหม่ที่ยุติธรรมตรงตามหลักวิชาการ ดังนี้ 1.ในกระบวนการจัดทำครั้งใหม่นี้ ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 คือเป็นการจัดทำเพื่อประเมินทางเลือกการพัฒนาที่เหมาะสมของพื้นที่ โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลางขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำหน้าที่กำกับกระบวนการทั้งหมด และให้หน่วยงานนิติบุคคลที่มีความเป็นกลางเป็นผู้ดำเนินการจัดทำรายงาน ไม่ใช่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จ้างบริษัทมาดำเนินการจัดทำเหมือนรูปแบบเดิมที่ผ่านมา
2.ในด้านเนื้อหาการจัดทำต้องมีลักษณะสำคัญ ดังนี้ 2.1 การจัดทำ SEA (Strategic Environmental Assessment) ให้แน่ใจว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะสอดคล้องและอยู่ร่วมกับแผนพัฒนากระบี่ 2020 ต้องมีการประเมินทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าอื่นๆ เช่น พลังงานหมุนเวียน (ชีวมวล แสงอาทิตย์ ลม) ในระดับที่มีรายละเอียดเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินและประเมินผลกระทบทั้ง 3 มิติตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และสังคม) 2.2 ต้องทำการประเมินผลกระทบเป็นมูลค่าความเสียหายออกมาเป็นค่าตัวเลขในรูปต้นทุนภายนอก หากไม่มีมาตรการลดผลกระทบ โดยต้องบอกได้ว่าภาคส่วนใดถูกผลักภาระต้นทุนภายนอกนี้ไป ทั้งนี้ ต้องรวมต้นทุนเชิงนิเวศไว้ด้วย
2.3 การดำเนินการคำนวณต้นทุนภายนอก ควรอิงงานวิจัย โดยใช้นักวิจัยที่เป็นกลางและน่าเชื่อถือทางวิชาการ 2.4 เมื่อกำหนดมาตรการลดผลกระทบแล้ว ต้องประเมินความเสียหายออกมาเป็นค่าตัวเลข (มูลค่าบาท) และต้องบอกได้ว่าใครที่จะได้รับผลกระทบนี้ไป ทั้งนี้ ต้องรวมต้นทุนเชิงนิเวศไว้ด้วย และต้องมีการซื้อประกันความเสี่ยงกับธนาคารหรือสถาบันเอกชนที่ขายประกันเท่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากมีมาตรการลดผลกระทบแล้ว โดยให้เน้นภาคประมง ท่องเที่ยว และเกษตรกรรม 2.5 ต้องเอาต้นทุนภายนอกที่ต้องทำการประกันนี้ไปรวมกับต้นทุนภายใน และใช้ประกอบการประเมินว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะคุ้มทุนหรือไม่ โดยต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบความถูกต้องของการประเมิน
3.ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น นอกจากอยู่ในคณะกรรมการแล้ว จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยรัฐต้องไม่ใช้อำนาจฝ่ายปกครองในการเกณฑ์คนมาสนับสนุน ฝ่ายความมั่นคงจะต้องไม่ใช้กองกำลังมากีดกันผู้เห็นต่างอย่างที่เคยเกิดขึ้น 4.การจัดทำรายงานครั้งนี้จะต้องเป็นรายงานที่อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ (แรมซาร์ไซต์) โดยรายงานทั้ง 2 ฉบับ คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนถ่านหิน ต้องใช้เวลาจัดทำตามระบบนิเวศจริง นั่นคือระยะเวลาจัดทำต้องมากพอในการศึกษารายละเอียดการประเมินแต่ละประเด็น โดยอาจต้องใช้เวลาการประเมินแต่ละฉบับไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี
"ยืนยันว่าหากดำเนินการจัดทำรายงานตามหลักวิชาการ โรงไฟฟ้าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าพื้นที่ใดในโลก เพราะไม่มีเทคโนโลยีที่ลดผลกระทบได้ มิพักต้องพูดถึงว่ากระบี่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ และเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวที่มีระบบนิเวศสวยงามสมบูรณ์ 1 ใน 10 ของโลก โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงไม่มีทางเกิดขึ้นบนแผ่นดินกระบี่โดยเด็ดขาด" เครือข่ายฯ ระบุ
ทางด้านนายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ.จะหารือในที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงพลังงานวันที่ 23 ก.พ.นี้ ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ถึงประเด็นความคืบหน้าการเดินหน้าการทำอีเอชไอเอ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด จ.กระบี่ โดย กฟผ.จะเสนอคำตอบต่อข้อสังเกตที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ที่เคยมีคำถามค้างไว้ล่าสุดเมื่อปี 2558 ก่อนที่จะนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) รวมถึงจะเตรียมรวบรวมคำตอบต่อข้อสังเกตของคณะกรรมการไตรภาคีที่มีต่อโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อเสนอต่อ สผ.ภายใน 2 เดือนจากนี้
อย่างไรก็ตาม กฟผ.จะปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด ที่ให้ยึดมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2560 เป็นหลักในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด จ.กระบี่ ซึ่งคาดว่าจะต้องดำเนินการศึกษาอีเอชไอเอต่อเนื่องจากเดิม
นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่ชนะโครงการประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ คือกลุ่มบริษัท อิตาเลียนไทยฯ และบริษัท พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น ออฟ ไชน่า (พีซีซีซี) ขณะนี้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเป็นอย่างดี แต่ กฟผ.จะต้องมีการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้ชนะประมูลภายในเดือน ก.พ.นี้
ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารกลาง กล่าวถึงข้อเสนอให้ทำประชามติในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ว่า ปัจจุบัน กกต.มีกฎหมายประชามติอยู่แล้ว โดยแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ 1.ถ้าหากอยากทำประชามติเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการตัดสินใจ กรณีนี้ทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก คนมาใช้สิทธิ์จำนวนเท่าไหร่ก็ได้ และให้ยึดเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ แต่ผลประชามติจะออกมาอย่างไร รัฐบาลจะเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย 2.การทำประชามติเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งต้องมีเงื่อนไข โดยที่ผู้มาใช้สิทธิ์ต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ ซึ่งต้องระบุว่ามีผลกระทบกับคนจังหวัดกระบี่ทั้งจังหวัดหรือไม่ หรือเฉพาะบางอำเภอเท่านั้น และผลประชามติต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ด้วย และมีผลผูกพันในทางปฏิบัติ
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะเสนอให้ทำประชามติหรือไม่ ซึ่ง กกต.พร้อมที่จะดำเนินการ เพราะการเตรียมการในระบบธุรการใช้เวลาเพียง 3 เดือน แต่การทำประชามติต้องให้ประชาชนรู้ข้อมูล เนื้อหาสาระในประเด็นที่จะมีการทำประชามติอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งถ้ารวมกับการดำเนินการของ กกต.แล้ว จะใช้เวลาทั้งหมดเร็วสุดไม่น้อยกว่า 9 เดือนขึ้นไป คาดว่าจะใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท
นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหา แต่ปัญหาความขัดแย้งควรจะแก้ปัญหาในเรื่องการให้ข้อมูลเสียก่อน โดยรัฐบาลควรที่จะมานั่งคุยกันกับอีกฝ่ายว่าเหตุผลรองรับในการให้ข้อมูลนั้นคืออะไร ทำไมข้อมูลถึงไม่ตรงกับอีกฝ่าย แล้วหลังจากนั้นจึงให้ข้อมูลที่ตรงกัน และทุกฝ่ายจะเห็นด้วยว่าข้อมูลนั้นอยู่บนพื้นฐานของความจริง.