ความเคลื่อนไหวจาก "พื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน" หลังรัฐเดินหน้า EIA-EHIA (21 ก.พ. 60)

สำนักข่าวไทย 21 กุมภาพันธ์ 2560
ความเคลื่อนไหวจากพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หลังรัฐเดินหน้า EIA-EHIA

 


 

กระบี่ 21 ก.พ.-หลังเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินเดินทางขึ้นมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกมติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ กระทั่งมีการควบคุมตัว 5 แกนนำเข้าไปพูดคุยและปล่อยตัวในเวลาต่อมา เพื่อให้เจรจากับมวลชนสลายตัวเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยมีข้อตกลงว่าจะมีการยกเลิกร่าง EIA และ EHIA วันนี้กลับมามีความเคลื่อนไหวในพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอีกครั้ง เมื่อกระทรวงพลังงานระบุว่า จะไม่มีการยกเลิกการจัดทำร่าง EIA และ EHIA แต่จะปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้น

บ้านทุ่งประสาน ต.ปกาสัย อำเภอเหนือคลอง เป็นหนึ่งในชุมชนที่ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวปฏิเสธโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน โดยชุมชนนี้อยู่ห่างจากจุดที่มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินราว 3 กิโลเมตร

นายสมศักดิ์ นบนอบ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ระบุว่า การที่ รมว.พลังงาน ยืนยันว่า จะไม่มีการล้มร่างอีไอเอและอีเอชไอเอ แต่จะปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้น ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของชาวบ้าน และจะยิ่งสร้างความขัดแย้งรอบใหม่เพิ่มมากขึ้น เพราะเท่ากับรัฐบาลยังยืนกรานตามมติ กพช.ให้เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยไม่ได้สนใจข้อเสนอของภาคประชาชน ที่ต้องการให้รัฐใช้พลังงานหมุนเวียนชนิดอื่น เนื่องจากชาวบ้านที่คัดค้านต่างก็ไม่เชื่อมั่นว่าถ่านหินจะเป็นพลังงานสะอาด เช่นเดียวกับที่ไม่เชื่อมั่นในผลการทำประชาพิจารณ์ตลอดทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับหมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนบ้านแหลมหิน บ้านคลองรั้ว ต.คลองขนาน ซึ่งเป็นจุดที่จะมีการก่อสร้างสะพานขนถ่ายลำเลียงถ่านหิน ที่ระบุว่า หากไม่มีการล้มร่างอีไอเอและอีเอชไอเอใหม่ทั้งหมด ชาวบ้านจะรวมตัวกันเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงถามสัญญาที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ พร้อมระบุการออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านไม่เอาถ่านหิน เป็นเพราะปัจตุบันชาวบ้านที่นี่มีบทเรียนจากเรือขนน้ำมันเตาขนาด 3,000 ตันมาแล้ว ดังนั้น จึงมั่นใจว่าเรือขนถ่านหินขนาด 10,000 ตัน จะยื่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างแน่นอน

ด้านนายอธิราช ดำดี คณะกรรมการไตรภาคีด้านการศึกษาพลังงานทดแทนจ.กระบี่ ยืนยันว่า จ.กระบี่ มีศักยภาพมากพอในการนำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมาใช่เป็นพลังงานทดแทน โดยผลจากการวิจัยพลังงานทางเลือกของเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ทั้งจากชีวมวล ก๊าซชีวภาพ แสงอาทิตย์ และลม ที่คณะกรรมการไตรภาคีได้ศึกษารวบรวมเสนอไปยังรัฐบาล ในระยะยาวจะสามารถผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 1,700 เมกะวัตต์ และจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันเฉพาะในกระบี่ราว 26,000 ครัวเรือน มากกว่า 1,000 ล้านบาท/ปี

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ก่อให้เกิดความขัดแย้งของชุมชน ทั้งผู้สนับสนุนที่ออกมาขานรับให้รัฐเดินหน้า ขณะที่ประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยยังคงเรียกร้องให้รัฐทบทวนผลการศึกษาใหม่ รัฐจึงต้องพิจารณาทางออกเรื่องนี้ โดยคำนึงประโยน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ ซึ่งต้องจับตาต่อไป.-สำนักข่าวไทย