ไฟฟ้าถ่านหินเดือด! นายกฯทุบโต๊ะสั่งลุย/ศรีวราห์ชี้ม็อบการเมือง/ศาลไต่สวน20ก.พ. (18 ก.พ. 60)

ไทยโพสต์ 18 กุมภาพันธ์ 2560
ไฟฟ้าถ่านหินเดือด! นายกฯทุบโต๊ะสั่งลุย/ศรีวราห์ชี้ม็อบการเมือง/ศาลไต่สวน20ก.พ.

มติ กพช.เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ก่อนเกิดวิกฤติ "บิ๊กตู่” ทุบโต๊ะเสียเวลาไปแล้ว 2 ปี ต้องปลดล็อก วอนกลุ่มต่อต้านดูเหตุผล อย่ายกเป็นประเด็นขัดแย้ง ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงลั่นปักหลักข้างทำเนียบฯ ยาว ชุมนุมไม่เลิกจนกว่ารัฐบาลจะเลิกสร้าง ระบุปัญหาไฟฟ้าภาคใต้ดับเป็นเพราะสายส่ง ไม่ใช่เหตุไฟฟ้าไม่พอ ศาลแพ่งรับคำร้อง สน.ดุสิต ให้ม็อบยุติชุมนุม นัดไต่สวน 20 ก.พ.

เมื่อเวลา 12.20 น. วันที่ 17 ก.พ. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยกล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กพช.อนุมัติให้ดำเนินการโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดที่ จ.กระบี่ ตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (พีดีพี 2015) เราจึงได้พิจารณาจากหลักการและเหตุผลที่เทคโนโลยีปัจจุบันมีอยู่ และเห็นว่ามีความคุ้มค่า ปลอดภัย

เขาบอกว่า จากการศึกษาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลก็ได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ไปแล้ว 2 ปี ซึ่งเสียเวลาไป 2 ปีแล้ว ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการปลดล็อกให้สามารถดำเนินการได้ แต่ว่าจะสร้างได้เมื่อไหร่ อย่างไร ก็ค่อยว่ากันต่อไป

“ขอว่ากลุ่มที่มาต่อต้านอย่าสร้างความขัดแย้งกันอีกเลย ผมทราบว่ามีคนมาประท้วงก็จะขอดูว่าเขามาด้วยเหตุผลอะไร โดยจะให้กระทรวงพลังงานจัดเจ้าหน้าที่ไปชี้แจง"

นายกฯ กล่าวว่า อยากให้สื่อมวลชนช่วยชี้แจง และทำความเข้าใจว่าอะไรคือหลักการและเหตุผลในการที่จะต้องเข้าไปดูแลความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้ไฟฟ้าเราอาจจะเพียงพอ แต่ปัญหาของภาคใต้คือมีอัตราการเจริญเติบโตการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นกว่าทุกภาค แต่แหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้ามีน้อยกว่าทุกภาค ทำให้ไม่เพียงพอ จึงต้องสร้างเพิ่ม ด้วยหลักการและเหตุผลของความคุ้มค่า ความปลอดภัย และเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่

"ยืนยันว่าทุกอย่างมีคำตอบให้ จึงขอให้ฟังเหตุผลของรัฐบาล อย่าฟังอะไรที่ไม่มีข้อเท็จจริง วันนี้ผมเห็นภาพในโซเชียลมีเดีย เป็นภาพควันดำๆ ลอยจากท่อขึ้นมา ซึ่งเป็นภาพจากที่ไหนก็ไม่รู้ ที่เห็นภาพท่อไอน้ำ คือท่อระบายความร้อนของโรงไฟฟ้า บางภาพก็เป็นภาพเก่าที่นำมาจากต่างประเทศ เช่น ภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ยืนยันว่าโรงไฟฟ้าแบบใหม่ไม่มีลักษณะนี้ เพราะเขาใช้พัดลมระบาย”

พล.อ.ประยุทธ์สรุปว่า ที่เคยชะลอไว้ก็ให้ดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย และขอให้ลดความขัดแย้งมากที่สุด เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะผลประโยชน์ของประชาชนในภาคใต้ ซึ่งเคยมีปัญหาไฟฟ้าดับมากสุด 3 ชม. หรือช่วงที่มีอุทกภัย ก็ทำให้ระบบขนส่งไฟฟ้า หรือเสาไฟฟ้าโค่นล้ม ถ้าทำใหม่ก็เป็นการเพิ่มเติมกำลังไฟฟ้าได้ ขออย่าเอาประเด็นความขัดแย้งมาขึ้นก่อน ขอให้ช่วยกัน ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหา แล้ววันหน้าไม่มีใครรับผิดชอบ ตนก็ต้องรับผิดชอบ ถ้า 20 ปีข้างหน้ามีปัญหาเรื่องไฟฟ้าแล้วไม่คิดจะเดินหน้าต่อรัฐบาลก็จะลำบาก จึงขอร้องบรรดามวลชนที่ต่อต้านให้เข้าใจด้วย สื่อมวลชนก็ต้องช่วย บางเรื่องจะติติงก็ว่ามาเถอะ แต่ยืนยันว่าชี้แจงได้หมด

ไฟฟ้าใต้ไม่เสถียร

ด้าน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่นี้ เรายืนยันว่ามีมาตรฐานที่ดีระดับโลก การดำเนินงานปัจจุบันเราล่าช้ามากว่า 2 ปีแล้ว และโดยเบื้องต้นจะต้องจัดการด้านสายส่ง เราก็ต้องจับตาดูว่าในช่วงก่อนปี 2564 ที่โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะจ่ายไฟได้อาจจะทำให้เกิดวิกฤติในบางช่วง แต่มั่นใจว่าหากสร้างเสร็จก็จะทำให้เกิดความมั่นคงกับระบบไฟฟ้าภาคใต้ได้ไปอีก 10 ปีข้างหน้า

รมว.พลังงานกล่าวว่า การใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เติบโตมากกว่าในภาคอื่นๆ เมื่อดูจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี อยู่ที่ 4.7% ส่วนภาคกลางอยู่ที่ 3.7% ซึ่งปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้อยู่ที่ 3,089.5 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่พึ่งพาได้ และมีระบบเสถียร 2,747 เมกฯ และที่เหลือเป็นโรงไฟฟ้าที่มีระบบไม่เสถียร ซึ่งเมื่อเทียบกับความต้องการใช้ไฟปัจจุบันอยู่ที่ 2,713 เมกฯ ถือได้ว่าใกล้เคียงกันมาก ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้จะช่วยไปเสริมระบบไฟฟ้าทั้งภูมิภาค ไม่ใช่เพียงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า สำหรับกลุ่มอิตาเลียนไทย และบริษัท พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า (PCCC) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ตั้งแต่ปี 2558 จะยังเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างตามเดิม ไม่มีการจัดประมูลใหม่ เนื่องจากขั้นตอนการประมูลที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความโปร่งใส ส่วนเชื้อเพลิงถ่านหินที่จะนำมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะมาจากเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย ที่ กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนลเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 11-12% เมื่อปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช.ยังได้เห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการผลิตไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) โดยรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ไม่เกิน 12 เมกฯ ในระยะแรก และจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่เกิน 30 เมกฯ ในระยะต่อไป ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดอัตราราคารับซื้อไฟฟ้า ก่อนยื่นเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาอนุมัติ

“โดยโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเพิ่มการสร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมระบบป้องกันตนเองของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบกระจายศูนย์ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงในชุมชนอย่างยั่งยืน” พล.อ.อนันตพรกล่าว

กลุ่มต้านชุมนุมยาว

ช่วงสายวันเดียวกันนี้ กลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลา และที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ จำนวนกว่า 200 คน นำโดยนายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้มาปักหลักชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามผลการประชุม

ภายหลังทราบผล นายประสิทธิชัยแถลงว่า แกนนำตัดสินใจจะปักหลักชุมนุมเช่นเดิม เพื่อรอดูว่ารัฐบาลจะทนได้นานเพียงใดกับการที่ประชาชนมารวมตัวหน้าทำเนียบรัฐบาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะชุมนุมจนกว่ารัฐบาลจะสั่งยุติโครงสร้างก่อสร้าง จากนี้แกนนำจะหารือกำหนดการเคลื่อนไหวอีกครั้ง แต่จะไม่ตั้งเวทียืนยันว่าไม่กลับบ้านอย่างแน่นอน ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน แต่เอื้อแก่กลุ่มทุนมาโดยตลอด

“เรามาจาก จ.กระบี่ เตรียมตัวมาหมดแล้ว การถูกจับเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับเรา การทำร้ายจนเสียชีวิตไม่ได้อยู่ในสายตาเรา และผมคิดว่าน่าจะมีการใช้กำลังสลายม็อบแน่นอน ซึ่งทุกคนเตรียมรับมืออยู่แล้ว เรื่องนี้เป็นที่จับตาของคนทั่วโลก เพราะ จ.กระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยว"

เขาบอกว่า การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ถือว่าประจานตัวเอง เพราะล่าสุดประธานธนาคารโลกออกมาระบุว่า หากทุกประเทศสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็จะเจ๊งแน่นอน อยากให้ทหาร ตำรวจใช้กำลังกับเราได้เต็มที่ จะดูว่ารัฐบาลทหารจะจับประชาชนที่มารักษาแผ่นดินตัวเองได้อย่างไร หากดำเนินการกับผู้ชุมนุมรัฐบาลต้องยอมรับในสิ่งที่ทำ และต้องยอมรับการถูกประณามจากทั่วโลก ซึ่งต้องดูว่ารัฐบาลจะหน้าด้านไปถึงไหน หากต้องการให้เลิกชุมนุม ก็มาจับเราให้หมด จับคนทั้ง จ.กระบี่ ทั้ง 30,000 คน หากรัฐบาลอยากลองดีก็ทำ

"การที่นายกฯ ให้เหตุผลในการสร้างโรงไฟฟ้าฯ นั้น เพื่อความมั่นคงทางพลังงานในภาคใต้ และอ้างว่าต่างประเทศก็ทำนั้น เป็นเหตุผลที่ไร้เดียงสา ไม่มีภาวะผู้นำ เพราะการที่ไฟฟ้าในภาคใต้ติดๆ ดับๆ นั้น เป็นปัญหาจากสายส่ง"

เขายังกล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการระดมแนวร่วมเข้ามาชุมนุม เพราะเรื่องดังกล่าวนี้เกี่ยวกับการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมด้วย และรัฐบาลก็ใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมมาหลายเรื่องแล้ว ซึ่งจะทำให้อายุรัฐบาลนี้อยู่ไม่นาน ส่วนจะเป็นการต่อต้านรัฐบาลเลยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเอง ทั้งนี้ อาจมีเครือข่ายประชาชนชายแดนภาคใต้เข้ามาร่วมด้วย

จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ข้ามฝั่งจากด้านหน้าศูนย์บริการประชาชน ฝั่งสำนักงาน ก.พ. มารวมตัวกันบริเวณประตู 2 ทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับตะโกนว่า “ชาวกระบี่ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่เอาทรราช”

ทั้งนี้ พ.ต.อ.เกียรติ กาบบัว ผู้กำกับการตำรวจสันติบาล 3 ได้สั่งการให้ตำรวจทำเนียบรัฐบาล เตรียมความพร้อมและปิดประตูเข้า-ออกเพื่อป้องกันเหตุ โดยมีตำรวจเตือนผ่านโทรโข่ง ขอให้ชุมนุมอย่างสงบ ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะแยกย้ายกระจายไปพักภายในสำนักงาน ก.พ. ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ หม่อมหลวงรุ่งคุณ กิติยากร หรือหม่อมโจ้ ได้เข้าร่วมการชุมนุมในครั้งนี้ด้วย

"บิ๊กตู่" ไม่เผชิญหน้า

จากนั้นนายประสิทธิชัยได้แถลงอีกครั้งว่า จะชุมนุมและค้างคืนบริเวณทำเนียบรัฐบาล โดยขอเรียกร้องให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดในแถบอันดามันมาชุมนุมสมทบ เพราะหากปล่อยให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าฯ จะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติชั่วลูกชั่วหลาน

ขณะที่เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ออกแถลงการณ์ว่า หากทางรัฐบาลอนุมัติโครงการ ทางเครือข่ายจะนัดหมายให้มีการชุมนุมใหญ่ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อประกาศถึงความไม่เป็นธรรมให้กับสาธารณชนได้รับทราบ และร่วมกันกำหนดการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชายแดนใต้และอันดามันต่อไป

แถลงการณ์ยังระบุว่า ขอให้รัฐบาลอย่าประเมินความสามารถของประชาชนต่ำเกินไป โดยเฉพาะ “เราประชาชนชายแดนใต้” ซึ่งพบเจอกับเรื่องหนักๆ มามากแล้ว ขอให้รัฐบาลทบทวนการตัดสินให้ดี อย่าให้เรื่องถ่านหินที่เป็นผลประโยชน์กลุ่มทุนมาทำลายความรู้สึกดีๆ ที่ประชาชนชายแดนใต้มีต่อรัฐไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 15.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมเตรียมการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า โดยภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น ผู้เข้าร่วมประชุมต้องเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล โดยใช้ทางออกประตูอรทัย เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน รวมตัวชุมนุมที่สะพานชมัยมรุเชฐ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำทำเนียบรัฐบาลต้องลากรั้วเหล็กปิดเส้นทางดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าม็อบจะรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ ถือเป็นการกลับบ้านไวกว่าทุกครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ผ่านมา ซึ่งปกติจะกลับเวลาประมาณ 16.30 น.

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากผู้คัดค้านยอมรับว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ามีมากขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้า ก็ต้องเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวให้กับประเทศและคนส่วนใหญ่ในภาคใต้ด้วย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลพยายามรับฟังความคิดเห็นมาโดยตลอด แต่ยังไม่เห็นข้อเสนอที่ชัดเจนว่าควรจะดำเนินการอย่างไร มีแต่เพียงออกมาคัดค้าน

“รัฐบาลขอเรียกร้องให้กลุ่มผู้คัดค้านแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ ไม่กระทำการที่ขัดต่อกฎหมาย หรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น โดยยืนยันว่าเมื่อรัฐบาลยินดีรับฟังความคิดเห็นของท่านแล้ว ท่านก็ควรรับฟังรัฐบาลและคนส่วนใหญ่ด้วยเช่นเดียวกัน” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

ร้องศาลแพ่งยุติชุมนุม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด ไม่สอดคล้องกับทิศทางของพลังงานในอนาคตที่มีทางเลือกที่ดีกว่า และสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายกับพื้นที่การท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นทุนที่มีค่าสำหรับพื้นที่นั้น และกังวลว่าความขัดแย้งจะไม่ยุติ ส่วนที่ชาวบ้านมาชุมนุมกันนั้น เห็นว่าทุกคนต้องเคารพกฎหมาย แต่ความจริงมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ และไม่กระทบความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งพรรคได้นำเสนอไปแล้ว แต่เสียดายว่ารัฐบาลไม่ดูทางเลือกให้ครบถ้วนในการวางรากฐานสำหรับอนาคต

ต่อมาเวลา 16.00 น. ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก พ.ต.ท.สุภัค วงษ์สวัสดิ์ รอง ผกก.สส.สน.ดุสิต เดินทางมายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่ปักหลักชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลกว่า 200 คนให้เลิกการชุมนุม

โดยศาลแพ่งได้รับคำร้องไว้พิจารณา และนัดไต่สวนพยานทั้งสองฝ่ายในวันที่ 20 ก.พ.นี้ เวลา 09.00 น. และให้แจ้งหมายพร้อมสำเนาคำร้องให้กับผู้จัดการชุมนุมทราบ โดยการปิดหมายให้มีผลทันที

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง กล่าวถึงกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินชุมนุมปิดล้อมบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลว่า จากการสืบสวนสอบสวนประกอบกับข้อมูลด้านการข่าวชัดเจนว่าการชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมทางการเมือง มีผู้อยู่เบื้องหลัง รู้กันว่าใครเป็นใคร ซึ่งถือว่าขัดต่อประกาศ คสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง จึงประสานไปยังฝ่ายกฎหมาย คสช.ให้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ สั่งการในพื้นที่ไปแล้ว ให้ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อเปิดพื้นที่การจราจร เนื่องจากตอนขออนุญาตขอใช้พื้นที่บริเวณสำนักงาน ก.พ.เท่านั้น แต่กลับใช้พื้นที่เกิน มีการปิดกั้นถนน อย่างนี้ต้องดำเนินการตามกฎหมาย และต้องพิจารณาผู้อนุญาตด้วยในประเด็นอนุญาตให้มีการชุมนุมทางการเมือง อย่างไรก็ตาม วันนี้ต้องเปิดการจราจรให้ได้ สั่งการให้นำกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนอีก 1 กองร้อยเข้าพื้นที่แล้ว โดยทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย.