รุมสับ กพช.ไฟเขียวโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชาวใต้ยกระดับคัดค้าน – จี้รัฐยกเลิก (17 ก.พ. 60)

Green News TV 17 กุมภาพันธ์ 2560
รุมสับ กพช.ไฟเขียวโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชาวใต้ยกระดับคัดค้าน – จี้รัฐยกเลิก

ที่ประชุม กพช.มีมติเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ “คนใต้-เอ็นจีโอ” ออกแถลงการณ์จี้รัฐยกเลิก-ประกาศเตรียมยกระดับการคัดค้าน

ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ได้มีมติเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2560 ล่าสุดกลุ่มผู้คัดค้านในพื้นที่และภาคประชาสังคมต่างร่วมกันออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วย พร้อมประกาศเจตจำนงค์ร่วมคัดค้านโครงการดังกล่าว

เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) ออกแถลงการณ์ประชาชนชายแดนใต้ เรื่อง “การยกระดับการเคลื่อนไหว หากรัฐบาลตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่” ซึ่งมีเนื้อหาว่า หากทางรัฐบาลอนุมัติโครงการ ทางเครือข่ายฯ จะนัดหมายให้มีการชุมนุมใหญ่ที่มัสยิดกลาง จ.ปัตตานี ภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อประกาศถึงความไม่เป็นธรรมให้กับสาธารณชนได้รับทราบ และร่วมกันกำหนดการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชายแดนใต้และอันดามันต่อไป

แถลงการณ์ส่วนหนึ่ง ระบุว่า นโยบายการผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ (PDP2015) ไม่สอดคล้องกับกระแสการพัฒนาเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และไม่ใช่ความต้องการของประชาชน แต่เป็นนโยบายที่เกิดจากความต้องการพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรมหนัก และมีแนวโน้มที่จะมีผลประโยชน์ทับซ้อนและการคอรัปชั่นครั้งใหญ่อยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มทุนใหญ่ได้ไปซื้อหรือลงทุนเหมืองถ่านหินในต่างประเทศอาทิอินโดนีเซียไว้แล้ว

เนื้อหาในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้มีลักษณะพิเศษ มีอัตลักษณ์และอุดมคติของการพัฒนาที่แตกต่างจากระบบทุนนิยมสุดโต่ง การผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมมลพิษ ย่อมกระทบกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตอย่างที่ไม่ควรจะเป็น และยังจะเป็นภัยแทรกซ้อนที่สำคัญยิ่งที่จะสร้างความแตกแยกและบั่นทอนการเดินทางสู่สันติภาพของชายแดนใต้ เพราะความรู้สึกที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการที่รัฐบาลเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะเป็นเสมือนการวางยาให้กับสันติภาพที่กำลังงอกงาม

“เครือข่าย PERMATAMAS และเครือข่ายภาคประชาชนชายแดนใต้ อันประกอบด้วยกลุ่มประชาชนใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ขอประกาศย้ำอีกครั้งว่าหากรัฐบาลอนุมัติให้มีการเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หรือแห่งใดแห่งหนึ่ง ทางเครือข่ายฯ จะยกระดับการเคลื่อนไหวเพื่อการคัดค้านความไม่เป็นธรรมและหายนะภัยที่จะมากระทำกับพื้นที่อย่างถึงที่สุด” ตอนท้ายของแถลงการณ์ ระบุ

เช่นเดียวกับ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ที่ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “หยุดนโยบายการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน หันมาสร้างรูปธรรมการผลิตพลังงานเพื่อโลกอนาคตและสิ่งแวดล้อมที่ดี” ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้รัฐบาลและ กพช. ทบทวนแนวนโยบายการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า และให้หันมาสร้างรูปธรรมการพัฒนาพลังงานเพื่อโลกอนาคต ตามแนวทางการพัฒนาประเทศไทยในยุคสมัยใหม่ที่ไม่ทำลายความมั่นคงของชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

แถลงการณ์ส่วนหนึ่ง ระบุว่า การประชุมของ กพช.ในวันนี้ มีแนวโน้มว่าจะสั่งเดินหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา โดยมีความพยายามจะให้ใช้อำนาจพิเศษเพื่อสั่งเดินหน้าโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ยอมใช้กระบวนการตามระเบียบขั้นตอนที่ถูกต้องและโปร่งใส เป็นการสร้างความขัดแย้งให้กับคนในพื้นที่อย่างหนัก และมีการเบี่ยงเบนสาระสำคัญของพี่น้องประชาชนที่ออกมาคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการดังกล่าวว่าเป็นผู้ขัดขวางความเจริญ ไม่ต้องการให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงาน และยังยึดโยงไปสู่ประเด็นทางการเมืองอย่างเลื่อนลอย

เนื้อหาในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ข้อเสนอของประชาชนที่เดือดร้อนจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ไม่ได้ขัดขวางความเจริญใดๆ แต่ต้องการให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้และประเทศไทย รวมถึงยังได้พยายามทำข้อเสนอเพื่อหาทางออกให้รัฐบาล ซึ่งที่ประชุม กพช. และรัฐบาลจะต้องทบทวนแนวนโยบายดังกล่าว และต้องเปิดรับทางเลือกใหม่ๆ ในการผลิตพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงทั้งด้านพลังงานและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่การพัฒนาที่จะต้องแลกด้วยชีวิตและสุขภาวะที่ไม่ปลอดภัยจากพลังงานถ่านหิน

“เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของอารยประเทศที่กำลังลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และหันมาใช้พลังงานธรรมชาติที่ปลอดภัยมากขึ้น ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ไปสัญญาไว้ในการประชุมลดโลกร้อนที่ประเทศปารีสที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ กป.อพช.จะขอยืนหยัดร่วมเรียกร้องเพื่อให้มีการหยุดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา อย่างถึงที่สุด” ตอนท้ายของแถลงการณ์ ระบุ