สั่งเดินหน้า "โรงไฟฟ้ากระบี่-เทพา" กฟผ. หืดจับทำ EHIA แก้ปัญหาสิ่งเเวดล้อม-สุขภาพ 100 ข้อ (18 ก.พ. 60)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 18 กุมภาพันธ์ 2560
สั่งเดินหน้า"โรงไฟฟ้ากระบี่-เทพา" กฟผ.หืดจับทำEHIAแก้ปัญหาสิ่งเเวดล้อม-สุขภาพ100ข้อ
กพช.สั่งเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา เสริมความมั่นคงระบบ ด้านคณะกรรมการไตรภาคีตั้งข้อสังเกตผลสรุปไม่มีการเปิดเผย ชี้แม้รัฐไฟเขียวแต่ กฟผ.ยังต้องทำ EHIA แก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม-สุขภาพอีกกว่า 100 ประเด็น
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan) ฉบับปัจจุบัน (2558-2579) ระบุว่า จะต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2562 และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา กำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2564
โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อลดความเสี่ยงในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี แต่กลับไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ ต้องใช้วิธีส่งกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านระบบสายส่งเพื่อเสริมความมั่นคงทดแทน จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถพัฒนาโครงการได้ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ต่อต้านอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงสั่งการให้ กฟผ.ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และวางเป้าหมายที่จะพิจารณาว่าจะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่หรือไม่ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช.ในเดือน ก.พ. 60 นี้
ล่าสุด ในการประชุม กพช.เมื่อ 17 ก.พ. 2560 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติ "เห็นชอบ" ให้ กฟผ.ดำเนินการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ต่อไป โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้กับพื้นที่ภาคใต้ เพราะพิจารณาจากปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้อยู่ที่ 3,089.5 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) สูงถึง 2,713 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นภาวะค่อนข้างเสี่ยงไฟฟ้าตก-ดับ หากโรงไฟฟ้าโรงใดโรงหนึ่งเกิดหยุดเดินเครื่องกะทันหัน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กพช.มีมติให้ดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด ต่อไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งพิจารณาจากเทคโนโลยีปัจจุบันมีความคุ้มค่าปลอดภัย รัฐบาลสร้างความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่มาแล้ว 2 ปี ทราบว่ามีคนมาประท้วงเรื่องนี้ แต่อย่าสร้างความขัดแย้งอีกเลย หลังจากนี้จะให้กระทรวงพลังงานชี้แจงทำความเข้าใจ
รวมพลังต้าน - มวลชนและเอ็นจีโอรวมตัวเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนลงทุนที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่ประชุม กพช.จะมีมติให้ กฟผ.เดินหน้าโครงการนี้ต่อ
ด้านแหล่งข่าวจากคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เปิดเผยว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวถูกแต่งตั้งขึ้นช่วงเดือน ธ.ค. 2558 นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาเฉพาะด้านอีกคือ อนุกรรมการด้านสิ่งแวดล้อม อนุกรรมการด้านการมีส่วนร่วม และอนุกรรมการด้านพลังงานทดแทน เป็นต้น ทั้งหมดประชุมหารือต่อเนื่อง 8-9 เดือน
จากนั้นให้คณะกรรมการไตรภาคีสรุปความเห็นทั้งหมดรวบรวมและนำเสนอรัฐบาล เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ แต่ "ไม่มี" การเปิดเผยถึงข้อสรุปดังกล่าว
ทั้งนี้ กรณีที่โรงไฟฟ้าถ่านหินได้เดินหน้าต่อ กฟผ.จะต้องจัดทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA เพิ่มอีก ซึ่งในการหารือของคณะกรรมการไตรภาคีที่ผ่านมาได้สรุปประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพกว่า 100 ประเด็น ที่ กฟผ.ต้องไปดำเนินการ คาดว่าจะใช้เวลาเป็นปี นอกจากนี้ยังต้องใช้เวลาก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีกประมาณ 4-5 ปี อาจทำให้โรงไฟฟ้าเข้าระบบล่าช้าจากที่ระบุไว้ในแผน PDP แต่ภาพรวมกำลังผลิตไฟฟ้าไม่ได้รับผลกระทบ เพราะปริมาณสำรอง (Reserve Margin) ที่มีมากกว่าร้อยละ 25