นายกฯ ให้ "เซตซีโร่" ถ่านหิน (20 ก.พ. 60)
ไทยโพสต์ 20 กุมภาพันธ์ 2560
นายกฯให้เซตซีโรถ่านหิน
ม็อบต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ได้ข้อยุติ สรุปยกเลิกรายงาน EIA และ EHIA ฉบับเดิม เริ่มกระบวนการใหม่ พร้อมปล่อย 5 แกนนำก่อนเดินทางกลับ นายกฯ ยัน "อีไอเอ" ไม่ผ่านก็สร้างไม่ได้ จวกฝ่ายการเมืองอย่าฉวยโอกาสหาคะแนนเสียง 94 นักวิชาการและเครือข่ายพัฒนายั่งยืนแนะหาคนกลางจัดเวทีสาธารณะครอบคลุมใน 4 ประเด็นหลัก
การชุมนุมของเครือข่ายอันดามันต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ที่ปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันศุกร์ได้ข้อยุติแล้ว พร้อมเดินทางกลับเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันอาทิตย์ เวลา 09.30 น. นางเตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เดินทางมาสังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า กสม.มีข้อเรียกร้อง 3 ประเด็น คือ 1.ในเรื่องการควบคุมตัวแกนนำนั้น ขอให้รัฐบาลไม่ดำเนินคดี และปล่อยตัวโดยเร็วที่สุด 2. กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลต้องรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540, 2550 และที่ผ่านประชามติ รวมถึงข้อตกลงจากสหประชาชาติกำหนดไว้ โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิชุมชนและอาชีพประมงพื้นบ้าน และ 3.การอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยความสุจริตใจ ดังนั้นการใช้กฎหมายควรใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะมากกว่าคำสั่งพิเศษ
"มีความห่วงใยความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะเด็กกับผู้หญิง ซึ่งถูกยุงกัด โดยหลายคนบอกว่านอนปักหลักมา 3 คืนแล้ว จึงขอรัฐบาลให้คำตอบกลุ่มผู้ชุมนุมโดยเร็ว ทั้งนี้ อนุกรรมการสิทธิชุมชนและสิทธิพลเมืองและการแสดงออกทางการเมืองของ กสม. ก็จะได้เร่งประชุมและเสนอแนวทางถึงรัฐบาลอย่างเร่งด่วน ยืนยันว่าการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมนี้ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง เพียงแต่เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนอย่างสุจริต" นางเตือนใจกล่าว
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อเท็จจริงการดำเนินการดังกล่าวจะเน้นเรื่องการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) สรุปขั้นต้นโดย กพช.เห็นชอบให้คณะกรรมการอีไอเอไปพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อ พร้อมนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการไตรภาคีไปพิจารณาประกอบด้วย ซึ่งหากคณะกรรมการอีไอเอเห็นว่าจะต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่ ทางกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งประเด็นนี้จะตอบโจทย์ว่าการที่ กพช.เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการนี้ตามขั้นตอน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างได้เลยทันที โดยเฉพาะเรื่องอีไอเอจะเป็นจุดผ่านที่สำคัญ ถ้าไม่ผ่านก็สร้างไม่ได้
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนกรณีเครือข่ายอันดามันต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินชุมนุมข้างทำเนียบฯนั้น ขณะนี้ถือว่าผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ต้องส่งฟ้อง แต่รัฐบาลก็ยังไม่ดำเนินการเลย จะใช้วิธีการเรียกมาคุยเพื่อทำความเข้าใจ ขณะเดียวกันอยากฝากถึงนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนและนักการเมือง อย่ามาหาคะแนนเสียงในเวลานี้ ที่ผ่านมาเคยฟังเหตุผลและข้อเท็จจริงหรือไม่ แต่กลับคิดเองมาตลอด
"ยืนยันว่ารัฐบาล คสช.และนายกฯ ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ไม่เช่นนั้นจะเข้ามาให้เปลืองตัวทำไม ดังนั้นขอให้เห็นใจในการดำเนินการของรัฐบาลด้วย ที่ยึดกฎหมายเป็นหลัก และโครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 ไม่ใช่มาเริ่มในรัฐบาลนี้" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
ต่อมาเวลา 11.00 น. พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1, พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วยแกนนำเครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ทั้ง 5 คน ประกอบด้วย นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล 2.นายอัครเดช ฉากจินดา 3.ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร 4.นายบรรจง นะแส 5.นายชัชพงศ์ แกดำ ที่ถูกควบคุมตัวก่อนหน้านี้
มาปล่อยตัวกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ
ปล่อย 5 แกนนำเดินทางกลับ
โดย พล.ท.อภิรัชต์กล่าวว่า ทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระบุว่า มีความเป็นห่วงใยพี่น้องทุกคน และเรื่องที่ตนจะพูดในฐานะฝ่ายความมั่นคง ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหารก็ได้มีการประนีประนอมการชุมนุม ซึ่งครั้งแรกมีการตกลงกันว่าจะใช้พื้นที่ชุมนุมฝั่งสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แต่กลับมีการละเมิดข้อตกลงด้วยการข้ามมาชุมนุมที่ฝั่งทำเนียบรัฐบาล ซึ่งทางแกนนำก็ได้ยอมรับเรื่องนี้ จึงต้องมีการควบคุมตัว โดยขณะนี้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ได้ขออนุญาต จึงต้องมีการควบคุมตัวเพื่อดำรงไว้ซึ่งกฎระเบียบ และเป็นไปตาม พ.ร.บ.การชุมนุม
"ผู้ที่ถูกควบคุมตัวได้รับการดูแลอย่างดี เพราะพวกเขาไม่ใช่โจร แต่เป็นผู้หวังดีต่อจังหวัดกระบี่และประเทศ หลังจากผ่านไป 2 คืน กลับมีผู้ที่ไม่ประสงค์ดีเข้ามาแทรกแซงในกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้วัตถุประสงค์ในการเรียกร้องมีความผิดเพี้ยนไปในหลายเรื่องด้วยกัน โดยตนได้หารือกับทางแกนนำว่ามีกลุ่มอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาแทรกแซง พยายามทำให้เกิดความขัดแย้งต่อนโยบายของรัฐบาล โดยหลังจากมีการพูดกับแกนนำ ก็ได้มีการชี้แจงและหารือกันเรียบร้อยแล้ว จึงขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำตามที่แกนนำจะให้ปฏิบัติต่อไป"
แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวว่า รัฐบาลนี้ได้ทำหน้าที่ของท่านดีที่สุดแล้ว ทางรัฐบาลมีหน้าที่หาแหล่งพลังงาน ส่วนแหล่งพลังงานจะสร้างได้หรือไม่ ก็อยู่ที่พี่น้องประชาชน ในเมื่อจะมีการทบทวนและเริ่มต้นการทำ EIA กันใหม่ ก็ขึ้นอยู่กับพวกท่าน แต่พลังงานในประเทศจะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบไหน เพราะพลังงานฝั่งอันดามันไม่เพียงพอ ทุกวันนี้ที่ใช้พลังงานกันอยู่ก็พีกกันอยู่แล้ว ความเจริญเติบโตในพื้นที่และความต้องการในการใช้ไฟฟ้าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนจะเป็นจากถ่านหินหรืออะไรนั้น เป็นเรื่องที่พวกท่านไปหารือกันเพื่อหาข้อยุติในการจัดทำ EIA ขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายความมั่นคง เราเห็นใจประชาชน แต่ถ้ามีการแทรกแซงจะดำเนินการทันที ขอให้ประชาชนอย่าตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง หวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และถ้าจะมีใครชุมนุมตรงนี้ต่อ ทางตำรวจจะดำเนินการตามกฎหมายความมั่นคง
ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า เมื่อวานตนได้นำข้อมูลทั้งหมดเรียนท่านนายกฯ และ รมว.พลังงาน ซึ่งนายกฯ ได้ฝากข้อความมาว่ารัฐบาลเข้าใจกลุ่มผู้ชุมนุม ผู้รักกระบี่ รักประเทศไทย เช่นเดียวกับรัฐบาล โดยจากการหารือที่ได้เชิญเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานระดับสูงมาพูดคุย ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ประชาชนนั้นไม่วิตกว่าจะใช้พลังงานอะไรในการทำไฟฟ้า เพียงแต่ไม่มั่นใจกระบวนการ EIA และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) รัฐบาลจึงสั่งให้กระทรวงพลังงานแจ้งไปยัง กฟผ. ให้เริ่มต้นกระบวนศึกษารายงานกระบวนการดังกล่าวใหม่ โดยปรับปรุงเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม และไม่ว่าผลการศึกษาจะออกมาอย่างไร ก็ยืนยันว่าทุกฝ่ายพร้อมจะยอมรับ
ด้านนายประสิทธิ์ชัยได้กล่าวกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ตนได้รับความสะดวกสบายเป็นอย่างดีระหว่างถูกควบคุมตัว และจากการหารือกับทางรัฐบาล ก็ได้ข้อยุติว่าจะยกเลิกรายงาน EIA และ EHIA ฉบับเดิมออกไป ดังนั้น การสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่ขณะนี้ จึงกลายเป็นศูนย์ ถ้าจะสร้าง ก็ต้องเริ่มกระบวนการรับฟังความเห็นกันใหม่ โดยครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม ซึ่งการรับฟังความเห็นจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย จะไม่มีการจัดตั้งคนสนับสนุนโดยบริษัทที่ปรึกษาของการไฟฟ้าเข้ามาอีกแล้ว
"ก็ต้องถือว่ารัฐบาลได้รับฟังข้อเรียกร้องของเรา ขอขอบคุณที่รัฐบาลเข้าใจ ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตประชาชน หลังจากนี้รัฐบาลจะประกาศยกเลิกรายงาน EHIA ฉบับดังกล่าวในวันที่ 21 ก.พ.นี้ และไม่ว่าผลการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร พวกเราก็พร้อมน้อมรับ หลังจากขอให้พี่น้องทุกคนเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย" แกนนำผู้ชุมนุมกล่าว
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวแกนนำทั้ง 5 คน ไปรวมกับกลุ่มผู้ชุมนุม ก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนาด้วยรถบัสปรับอากาศที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดหาให้ช่วงเที่ยงวันเดียวกัน
จัดเวทีสาธารณะที่เป็นกลาง
วันเดียวกัน 94 นักวิชาการและเครือข่ายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ออกแถลงการณ์ 3 ข้อ 1.เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เป็นกรณีตัวอย่างของการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ หาทางเลือกทางออกโดยใช้สันติวิธี ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นและผลลัพธ์รูปธรรมของการปฏิรูปการสร้างความสามัคคีปรองดองอย่างแท้จริง และการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล ตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ม.65) และเป็นภารกิจหลักของ ป.ย.ป. 2.รัฐบาลควรจัดเวทีสาธารณะที่เป็นกลางที่เป็นที่ยอมรับโดยทุกฝ่าย เพื่อให้ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ รวมทั้งในพื้นที่อื่นๆ ได้ถกแถลงเหตุผลและข้อมูลของทั้งสองฝ่าย
3.การจัดเวทีสาธารณะและการตัดสินใจทางนโยบาย ควรมีประเด็นที่ครอบคลุมอย่างน้อย 4 เรื่อง ดังนี้ 3.1 การพิจารณาถึงความสอดคล้องกับเป้าหมาย เป้าประสงค์ และตัวชี้วัดเรื่องเป้าหมายการพัฒนที่ยั่งยืน (SDGs) 3.2 ความสอดคล้องกับพันธสัญญาภายใต้ "ความตกลงปารีส" 3.3 เป้าหมายความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 3.4 ทางเลือกของการจัดหาพลังงานอย่างรอบด้าน ทั้งที่เป็นพลังงานฟอสซิล พลังงาน หมุนเวียน โดยมีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนโดยรวมของแต่ละทางเลือก ทั้งที่เป็นต้นทุนด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านสุขภาพ
สำหรับรายชื่อนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อ อาทิ นายสุริชัย หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศืกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, นายสมชาย หอมลออ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นต้น
ส่วนนายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า การตัดสินใจยุติการเผชิญหน้าของรัฐบาลกับกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้วยการยกเลิก EHIA ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพื่อเริ่มกระบวนการใหม่ที่น่าเชื่อถือ และทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และไม่ใช้อำนาจหักดิบ เป็นเรื่องที่ดีที่ไม่ทำลายบรรยากาศการปรองดอง เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจต่อการทำงานของ ป.ย.ป. โดยเฉพาะการทำความเข้าใจต่อความขัดแย้งแตกแยกในสังคม ซึ่งมีต้นเหตุเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ส่วนความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกัน เป็นปัญหาปลายเหตุ และมาทีหลัง ไม่ใช่เหมารวมว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนทะเลาะกันเอง.