ล่มซ้ำ - เวที "โรงไฟฟ้าขยะบางโทรัด" ชาวบ้านชี้พิรุธใบลงทะเบียนซ้อน ติงปกปิดข้อมูล (15 ก.พ. 60)
กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) 15 กุมภาพันธ์ 2560
ล่มซ้ำ - เวที "โรงไฟฟ้าขยะบางโทรัด" ชาวบ้านชี้พิรุธใบลงทะเบียนซ้อน ติงปกปิดข้อมูล
อัฏฐพร ฤทธิชาติ มูลนิธิบูรณะนิเวศ
รายงาน
ภาพโดย: "กลุ่มรวมพลังคนรักษ์บ้านเกิด" ต.บางโทรัด
เวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการ "โรงไฟฟ้าขยะบางโทรัด" สมุทรสาคร ล่มเป็นครั้งที่ 2 - กลุ่มค้านชี้พิรุธใบลงทะเบียนซ้ำซ้อน 2 ชุด รัฐ-เอกชนให้ข้อมูลไม่ชัดเจน ก่อนกลุ่มหนุนวอล์คเอาท์ สั่งปิดเวทีไร้ข้อสรุป
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ที่วัดประสาทสามัคคีธรรม (วัดคลองซื่อ) หมู่ 1 ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ทางอำเภอเมืองสมุทรสาครได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชนเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าขยะของบริษัทสมุทรสาคร เนเชอรัล คลีน เอ็นเนอร์จี จำกัด และบริษัทสมุทรสาคร คลีน เอ็นเนอร์จี จำกัด โดยมีตัวแทนบริษัทฯ และหน่วยงานราชการหลายแห่งเข้าร่วมชี้แจง ได้แก่ สำนักงานพลังงานจังหวัด สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เขตที่ 9 (กาญจนบุรี) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 (นครปฐม) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และประชาชนตำบลบางโทรัดเข้าร่วมเวทีกว่า 400 คน ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนโครงการ และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยซึ่งได้มีการชูป้ายคัดค้านโครงการเพื่อแสดงจุดยืนอยู่เป็นจำนวนมาก
ภาพโดย: "กลุ่มรวมพลังคนรักษ์บ้านเกิด" ต.บางโทรัด
โดยในช่วงต้นของการลงทะเบียนเข้างาน ได้มีประชาชนที่มาร่วมงานสังเกตเห็นว่า มีใบลงทะเบียน 2 ชุด คือ ใบลงทะเบียนของทางอำเภอเมืองสมุทรสาครซึ่งเป็นหน่วยงานราชการและผู้จัดงาน และใบลงทะเบียนของบริษัทฯ จึงมีความกังวลว่า บริษัทฯ จะใช้ใบรายชื่อดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ จึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้น ก่อนที่ฝ่ายประชาชนจึงขอให้ใช้ใบลงทะเบียนของทางอำเภอเพียงชุดเดียวเท่านั้น
สำหรับบรรยากาศของเวทีการแสดงความคิดเห็น ได้มีประชาชนตั้งคำถามถึงหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าของ กกพ. และการจัดทำประมวลหลักปฏิบัติ (COP) ที่กำหนดว่า โรงไฟฟ้าขยะกับที่พักอาศัยควรมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 300 เมตร ขณะโรงไฟฟ้าของบริษัท สมุทรสาครฯ ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนน้อยกว่า 300 เมตร อีกทั้งยังติดกับพื้นที่เกษตรกรรมในเขต อ.บ้านแพ้ว ซึ่ง กกพ. ได้ให้คำตอบว่า การซื้อขายไฟจะต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกอบการและรายละเอียดโครงการทั้งหมด และไม่ใช่ กกพ. เป็นผู้พิจารณาเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องร่วมกับกระทรวงมหาดไทยด้วย
ด้าน สุนิสา โชติกเสถียร ตัวแทนกลุ่ม “รวมพลังคนรักษ์บ้านเกิด” ได้กล่าวให้ความเห็นว่าบริษัทและหน่วยงานรัฐไม่สามารถตอบคำถามของชาวบ้านได้ชัดเจน โรงงานยังคงพูดเหมือนเดิม คือแจ้งเพียงว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 10 เมกกะวัตต์ โดยไม่มีการชี้แจงรายละเอียดภาพรวมของโครงการ
ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของเวที ขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งยังคงต้องการถามคำถามเพิ่มเติม ทำให้ประชาชนอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีท่าทีสนับสนุนโครงการเกิดความไม่พอใจและพากันลุกเดินออกจากที่ประชุม ปลัดอำเภอจึงต้องสั่งปิดประชุม โดยไม่มีการลงมติหรือมีสรุปใดๆ
ภาพโดย: "กลุ่มรวมพลังคนรักษ์บ้านเกิด" ต.บางโทรัด
อนึ่ง เวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงไฟฟ้าขยะครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่เวทีครั้งแรกล่มไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มรวมพลังคนรักษ์บ้านเกิดซึ่งประกอบด้วยประชาชนในพื้นที่ ม.3 จึงขอให้หน่วยงานรัฐช่วยจัดเวทีวิชาการเพื่อให้ความรู้เรื่องผลกระทบแก่ประชาชน โดยขอให้จัดบริเวณพื้นที่ ม.3 ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการ แต่ภายหลังอำเภอได้เปลี่ยนแปลงการจัดเวทีดังกล่าวเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น และย้ายมาจัดในพื้นที่ ม. 1 ซึ่งห่างจากที่ตั้งโครงการกว่า 3 กิโลเมตร
ปัจจุบัน บริษัท สมุทรสาคร เนเชอรัล คลีน เอ็นเนอร์จี จำกัด และบริษัท สมุทรสาคร คลีน เอ็นเนอร์จี จำกัด อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ในกิจการโรงงานลำดับที่ 53(9) และ 40(1) เพื่อล้าง บด หรือย่อยพลาสติก และการอัดกระดาษเข้าด้วยกัน ซึ่งในกระบวนการผลิตของโรงงานจะเกิดเศษขยะสำหรับทำปุ๋ย ทำให้ประชาชนในพื้นที่ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทฯ จะรับขยะสดเข้ามาคัดแยกด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทฯ ไม่เปิดเผยข้อมูลโครงการทั้งหมด และไม่ชี้แจงรายละเอียดให้ประชาชนเข้าใจอย่างครบถ้วน การดำเนินการที่ไม่โปร่งใสทำให้ไม่ได้รับความไว้วางใจจากคนในพื้นที่ และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน