ชาวแกลงโวยโรงงานยางพาราอัดแท่งปล่อยน้ำเสีย-กลิ่นเหม็น (12 ก.ค. 56)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 กรกฎาคม 2556
ชาวแกลงโวยโรงงานยางพาราอัดแท่งปล่อยน้ำเสีย-กลิ่นเหม็น
ระยอง - ชาวบ้านอำเภอแกลง โวยโรงงานยางพาราอัดแท่งปล่อยน้ำเสียเข้าท่วมสวนยาง สร้างความเสียหาย รวมทั้งมีกลิ่นเหม็นด้วย
วันนี้ (11 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า มีชาวบ้าน ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง เข้าร้องเรียนนายเสรี เจริญรื่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) วังหว้า มีโรงงานยางพาราอัดแท่งของบริษัทเซาท์แลนดืรีซอซส์ จำกัด โรงงานยางพาราอัดแท่ง หมู่ 12 ก่อนหน้านี้โรงงานแห่งนี้ถูกชาวบ้านร้องเรียนเรื่องปล่อยน้ำเสีย กลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน ชาวบ้านทนกลิ่นเหม็นไม่ไหวประกาศขายบ้าน และที่ดินทั้งหมู่บ้านพร้อมกลิ่นเหม็น ราคา 2 ล้านล้านบาท จนมีคำสั่งจากอุตสาหกรรม จ.ระยอง สั่งปิดปรับปรุงแก้ไขเรื่องกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านเป็นเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา และเพิ่งเปิดโรงงานเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ยังถูกชาวบ้านร้องเรียนอีกว่า มีการปล่อยน้ำออกจากใต้คานคอนกรีตกำแพงรั้วโรงงาน ติดกับบ้านพักแรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ ทำให้น้ำท่วมสวนยาง สวนผลไม้ และส่งกลิ่นเหม็นได้รับความเดือดร้อน โดยมี น.ส.สุภาวดี ชมพูเวช ผู้จัดการโรงงานพาดูสถานที่
นายเสรี นายก อบต.วังหว้า กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณภายในโรงงานพบว่า น้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักทำให้น้ำไหลเข้าไปในพื้นที่ของโรงงานไหลเข้าท่วมสวน ยางพารา และสวนผลไม้ของชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากโรงงานออกแบบก่อสร้างผิดฝังท่อไว้ในโรงงานโดยชาวบ้านมองไม่เห็น ทำให้ไม่ทราบว่าน้ำที่ปล่อยออกจากโรงงานเป็นน้ำเสียหรือน้ำดีที่ปล่อยออกมา ไหลท่วมสวนยางเพราะฉะนั้น ต้องขอให้ทางโรงงานเปิดชั่วคราว พร้อมให้ทางโรงงานและชาวบ้านทำบันทึกร่วมกันไม่ให้น้ำเสียออกจากจากโรงงาน เนื่องจากน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในขณะนี้ ทำให้น้ำด้านเหนือโรงงานขึ้นไปกำลังท่วม จะเชิญเจ้าของโรงงานมาพูดคุยว่าจะช่วยดูแลรับผิดชอบสวนยาง สวนผลไม้ ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ไหลออกมาท่วมไร่ สวนยางพารา และสวนผลไม้อย่างไร
น.ส.สุภาวดี ชมพูเวช ผู้จัดการโรงงานกล่าวว่า น้ำที่ไหลผ่านที่โรงงานเข้าท่วมพื้นที่สวนยางชาวบ้านนั้นเป็นน้ำฝนไม่ใช่น้ำ เสีย และพร้อมที่จะร่วมกับทาง อบต.ในการแก้ไขปัญหาทุกอย่าง ส่วนเรื่องกลิ่นเหม็นที่ถูกร้องเรียน หลังถูกคำสั่งปิดปรับปรุงแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นรบกวนเป็นเวลา 1 เดือน โดยให้แก้ไขโรงเก็บขี้ยาง อาคารผลิตเป็นระบบปิด ขณะนี้ได้ดำเนินการแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว และเปิดดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา และขณะนี้ได้นำแบบของกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบบบำบัดน้ำเสียสครับเบอร์มาติด ตั้งเพิ่ม เดิมมีสครับเบอร์ตามมาตรฐานโรงงานอยู่แล้วพร้อมใส่ระบบไซโคลนเพิ่มอีก 2 ตัวในการบำบัด ขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองสครับเบอร์ตัวใหม่ซึ่งทางโรงงานมีความพยายามที่จะ แก้ไขปัญหาไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน
ด้านนางสมทรง กาญจนบรรจง อายุ 56 ปี บ้านเลขที่ 36 หมู่ 12 กล่าวว่า รั้วกำแพงคอนกรีตของโรงงานด้านทิศใต้ สังเกตดูว่าโรงงานจะปล่อยน้ำออกมาใต้คานคอนกรีตกำแพงไหลท่วมสวนยาง สวนผลไม้ชาวบ้าน รวมทั้งสระน้ำที่ใช้ในการเกษตร หวั่นจะเป็นน้ำเสียขอให้รีบดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว