ยกเครื่องอนุบัญญัติจัดการ "สารปรอท" เตรียมพร้อมเข้าร่วม "อนุสัญญามินามาตะ" (26 ธ.ค. 59)

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ 26 ธันวาคม 2559
ยกเครื่องอนุบัญญัติจัดการ "สารปรอท" เตรียมพร้อมเข้าร่วม "อนุสัญญามินามาตะ"


ชิโนบุ ซาคาโมโต ผู้ป่วย "โรคมินามาตะ" (หรือโรคพิษจากสารปรอท) แต่กำเนิด
ภาพ: กานต์ ทัศนภักดิ์

ธวัชพงศ์ อาจเอี่ยม และอัฏฐพร ฤทธิชาติ: รายงาน

คพ. เผย ไทยเร่งปรับปรุงอนุบัญญัติการจัดการ “สารปรอท” เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วม “อนุสัญญามินามาตะ” คาดอีก 1 ปี สามารถเข้าร่วมภาคยานุวัติในอนุสัญญาได้ ด้านเอกชนยังกังวลแนวทางการปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ณ ห้องประชุมกิ่งทอง โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ สำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย ภายใต้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้จัดประชุมชี้แจงความจำเป็นในการเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท และแนวทางปฏิบัติต่างๆ ภายใต้อนุสัญญาดังกล่าว โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์ที่เติมปรอท กลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งมีกระบวนการผลิตที่มีการใช้ปรอท และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปลดปล่อยปรอทสู่อากาศ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน เตาเผาขยะ เตาเผาปูนซีเมนต์ เป็นต้น

โดยการประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมคณะอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะฯ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559  ซึ่งได้มีมติเห็นชอบในหลักการภาคยานุวัติในอนุสัญญามินามาตะ และมีความเห็นเพิ่มเติมว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการออกอนุบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการปรอทและสารประกอบปรอทภายใต้พระราชบัญญัติเดิมที่มีอยู่ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างครบถ้วนก่อนการเสนอขอความเห็นชอบในการภาคยานุวัติต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี

คพ.  ในฐานะศูนย์ประสานงานกลางอนุสัญญามินามาตะฯ จึงได้จัดประชุมครั้งนี้ขึ้นเพื่อชี้แจงความจำเป็นในการเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาฯ เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบสาระสำคัญและทำความเข้าใจในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมภาคีดังกล่าว ก่อนที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นด้านการปรับปรุงอนุบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญามินามาตะในลำดับถัดไป

ธีราพร วิริวุฒิกร ผู้อำนวยการส่วนสารอันตราย สำนักจัดการกากของเสียฯ ได้อธิบายความเป็นมาของอนุสัญญามินามาตะว่า จากการประเมินของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)  พบว่าสารปรอทส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชากรโลก จึงมีมติให้ดำเนินการจัดทำมาตรการด้านการจัดการสารปรอทโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันสุขภาพอนามัยของมนุษย์  ซึ่งต่อมาที่ประชุมUNEP ก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการพัฒนามาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านการจัดการปรอท (INC) เพื่อจัดทำร่างมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านการจัดการสารปรอท  จนกระทั่งในปี 2556 ที่ประชุม INC จึงได้พิจารณาร่างมาตรการทางกฎหมายเพื่อพัฒนาเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศ และได้จัดให้มีการรับรองการลงนามในอนุสัญญามินามาตะ เมื่อเดือนตุลาคม 2556 ณ ประเทศญี่ปุ่น

ธีราพร  ได้กล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2559 มีประเทศที่ให้สัตยาบันในอนุสัญญามินามาตะฯ แล้ว  35 ประเทศ  อาทิ สหรัฐอเมริกา สมาพันธรัฐสวิส ญี่ปุ่น และจีน  โดยอนุสัญญาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ใน 90 วัน หลังจากมีประเทศให้สัตยาบัน (ratification)[1] หรือภาคยานุวัติ (accession)[2] ครบ 50 ประเทศ ดังนั้น ปัจจุบันอนุสัญญาฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้  แต่อย่างไรก็ตาม สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ คาดว่าอนุสัญญานี้จะมีผลบังคับใช้ในปี 2560 และอาจกำหนดให้การประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการพัฒนามาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านการจัดการปรอท (INC) สมัยที่ 8 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2560 ณ สมาพันธรัฐสวิส เป็นการประชุมรัฐภาคีสมัยแรก

 

ด้านนภาพร ตั้งถิ่นไท นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ ส่วนสารอันตราย ได้กล่าวให้ข้อมูลว่า จากการจัดทำทำเนียบสารปรอทเบื้องต้น เมื่อปี 2556 พบว่า แหล่งกำเนิดที่มีการปลดปล่อยสารปรอทสู่สิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทย คือ

(1) การลักลอบทิ้งขยะทั่วไป

(2) ปิโตรเลียม-การสกัด การกลั่น และการใช้

(3) ก๊าซธรรมชาติ -การสกัด การกลั่น และการใช้

(4) เตาเผาที่ไม่มีการควบคุม

นอกจากนี้ คพ. ยังได้จัดทำโครงการการศึกษาความพร้อมของประเทศไทยในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ตั้งแต่ปี 2557 แล้ว โดยหลายภาคส่วนได้แสดงความเห็นว่า การเข้าร่วมเป็นภาคีฯ จะมีผลดีมากกว่าผลเสีย โดยจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเจรจาต่อรองต่อที่ประชุม (Conference of Parties: COP) ได้ อีกทั้งจะทำให้ได้รับการสนับสนุนด้านแหล่งทุนและความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีจากประเทศภาคีสมาชิกเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพด้านการจัดการปรอทภายในประเทศอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมบางส่วนได้แสดงความเป็นกังวลต่อแนวทางการปฏิบัติหลังการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ อาทิ การกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยของเสียปรอทสู่สิ่งแวดล้อมทั้งทางดิน น้ำ และอากาศ มาตรการควบคุมการปลดปล่อยปรอทและสารประกอบปรอทสู่บรรยากาศจากแหล่งกำเนิดที่มีจุดกำเนิดแน่นอน เป็นต้น

ซึ่งต่อประเด็นดังกล่าว  คพ. ได้ชี้แจงว่า เรื่องมาตรการควบคุมและค่ามาตรฐานนั้นยังคงต้องรอความชัดเจนจากการประชุมร่วมกันของประเทศภาคีสมาชิกอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นจะต้องมีการติดตามความคืบหน้าการปรับปรุงอนุบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญามินามาตะต่อไป โดยกระบวนการปรับปรุงอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงจะสามารถให้ภาคยานุวัติในอนุสัญญาได้

ทั้งนี้ การเข้าร่วมเป็นภาคีดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการลดและเลิกใช้สารปรอทในผลิตภัณฑ์ที่เติมสารปรอท เช่น  แบตเตอรี่ หลอดไฟ สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และมีการควบคุมแหล่งปลดปล่อยสารปรอทสู่อากาศ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน เตาเผาขยะ โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตาม จะมีช่วงเวลารองรับการเปลี่ยนผ่านจนถึงปี 2563 ซึ่งประเทศภาคียังสามารถขอขยายเวลาได้อีก 5 ปี (1 ครั้งต่อหนึ่งผลิตภัณฑ์) อีกด้วย

 

[1] การมอบสัตยาบันสารหรือหนังสือแสดงความยินยอมที่จะผูกพันตามข้อตกลง หลังจากลงนามในข้อตกลงนั้นแล้ว

[2] การให้คำยินยอมที่จะผูกพันตามข้อตกลงในภายหลัง โดยที่มิได้ให้มีการลงนามในข้อตกลงนั้นในขั้นต้น