'เฮียเพ้ง' ชงตั้งโซลาร์รูฟท็อป (3 ก.ค. 56)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 3 กรกฎาคม 2556
'เฮียเพ้ง'ชงตั้งโซลาร์รูฟท็อป

"เพ้ง" เตรียมชงแผนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเข้า กพช. 16 กรกฎาคมนี้ หวังกระทรวงการคลังลดหย่อนภาษีจูงใจประชาชน เริ่มนำร่องอาคารภาครัฐก่อน 25 เมกะวัตต์ ฟาก "เฟิร์สโซลาร์"ยันไม่ทิ้งไทย ย้ำภาพรวมตลาดยังเติบโตสูง

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านหรือโซลาร์รูฟท็อปว่า กระทรวงจะเสนอแผนโซลาร์รูฟท็อปเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือกพช. ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ โดยเฉพาะมาตรการด้านภาษีสำหรับประชาชนที่ต้องการติดตั้งโซลาร์รูปท็อปซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องยากและขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปจากทางกระทรวงการคลัง ดังนั้นจะให้กพช.เป็นผู้พิจารณามาตรการดังกล่าวต่อไป

สำหรับตัวเลขการรับซื้อไฟฟ้าได้สั่งการให้นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน สรุปตัวเลขเบื้องต้นจะใช้ระบบรับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนจริง หรือฟีตอินทรารีฟ เพราะถูกกว่าเมื่อเทียบกับระบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า หรือแอดเดอร์ ซึ่งเป็นระบบเดิมที่ต้องนำไปบวกกับค่าไฟฐาน หากเกิดกรณีค่าไฟพีคจะต้องบวกในอัตราที่ 5 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.35 บาทต่อหน่วย

ขณะที่ นายอำนวย ทองสถิตย์ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานหรือพพ. กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปว่า ขณะนี้ยังรอความชัดเจนจากกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาอัตราภาษีพิเศษ สำหรับผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ทั้งบนอาคารและหลังคาบ้าน โดยเฉพาะการลดหย่อนภาษีเงินได้ และเพิ่มค่าเสื่อมราคา เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์มากขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมเงินกู้หมุนเวียนจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อปล่อยกู้แบบเงินทุนหมุนเวียนให้กับผู้ที่ต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

"เบื้องต้นจะนำร่องติดตั้งในอาคารภาครัฐก่อน โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือกฟภ. ไปติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปใน 74 จังหวัด รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 25 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 30 กิโลวัตต์ อาทิ ศาลากลาง และพื้นที่ตัวแทนจังหวัดต่างๆ รวม 74 แห่ง และขนาด 10 กิโลวัตต์ อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หน่วยงานทหาร รวม 2.3 พันแห่ง ซึ่งจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ โดยใช้แสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าทดแทนในช่วงเวลากลางวัน อย่างไรก็ตามปัจจุบันต้นทุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนั้น ค่าแผงโซลาร์เซลล์ได้ลดลงมามากแล้ว โดยมีสัดส่วนราคาเพียง 30% เท่านั้น แต่อุปกรณ์ส่วนควบยังมีราคาสูงอยู่ แต่ก็ยังโชคดีที่ประเทศไทยสามารถผลิตหลายอุปกรณ์เองได้ หากมีการส่งเสริมในระบบมากขึ้น ก็จะทำให้อุปกรณ์ส่วนควบมีราคาลดลงได้ และก็จะทำให้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกันมากขึ้น"

ด้านนายแจ็ค เคอร์ติส รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เฟิร์สโซลาร์ อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงพลังงานยุติการออกใบอนุญาตลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในไทยของบริษัทไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ปัจจุบันมีลูกค้าในไทยรวม 15 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียง 2 เมกะวัตต์ แต่บริษัทยังมองภาพรวมตลาดโซลาร์เซลล์ในไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก แต่ภาครัฐยังมีนโยบายส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปหากแผนดังกล่าวมีความชัดเจน ก็จะเป็นผลดีกับบริษัทด้วย เนื่องจากบริษัทมีความพร้อมและสามารถผลิตแผงเซลล์ในราคาต่ำ

ปัจจุบันต้นทุนการผลิตแผงเซลล์ของบริษัทอยู่ที่ 55-56 เซ็นต์ต่อวัตต์ หรือหากคิดเป็นต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จะอยู่ที่ 60 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ซึ่งปรับลดลงจากปีที่แล้ว 20-25% อย่างไรก็ตามคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จะสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,858 วันที่  4  - 6   กรกฎาคม  พ.ศ. 2556