รัฐไล่บี้กำจัดกากอะลูมิเนียม (3 ก.ค. 56)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 3 กรกฏาคม 2013
รัฐไล่บี้กำจัดกากอะลูมิเนียม

กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ผลไล่บี้โรงงานหลอมอะลูมิเนียมโชว์ตัวเลข 3 เดือน มีกากอันตรายเข้าระบบแล้ว 7.9 พันตัน จากโรงงาน 41 แห่ง ยันต้องเข้มงวดต่อเนื่อง ยันมีกากอุตสาหกรรมประเภทต่างๆยังไม่ถูกกำจัดอย่างถูกต้องอีกมาก ด้าน "เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน" รับอานิสงส์มีปริมาณกากเข้ากำจัดเพิ่ม 3-5% ส่งผลทั้งปีหน้าจะขยายตัวถึง 15%

นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่กรอ.ได้เข้มงวดในการเข้าตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง เพื่อให้ดำเนินการกำจัดกากอุตสาหกรรมตามกระบวนการอย่างถูกต้อง และได้สั่งดำเนินคดีกับผู้ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมไปแล้วหลายราย โดยเฉพาะโรงงานหลอมอะลูมิเนียมที่มีอยู่ราว 100 โรงงาน ซึ่งอยู่ย่านซอยกองพล ถนนเอกชัย ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาครถึง 74 โรงงาน ที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเกรงจะได้รับอันตรายนั้น

"จากการเก็บสถิติในช่วงตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้มาขออนุญาตนำกากตะกรันอะลูมิเนียมหรือโดรส ออกไปกำจัดแล้วประมาณ 41 ราย คิดเป็นปริมาณ 7.978 พันตัน เมื่อเทียบกับปี 2555 มาขออนุญาตเพียง 12 ราย คิดเป็นปริมาณเพียง 4.652 พันตันต่อปีเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมามีกากตะกรันอะลูมิเนียมที่ยังไม่เข้าสู่ระบบอีกเป็นจำนวนมาก และไม่ทราบว่าจะจัดการโดยวิธีไหนหรือมีการลักลอบไปทิ้งที่ใดบ้าง ซึ่งหลังจากนี้ไปกรอ.จะเข้าตรวจโรงงานเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงกากอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆว่ามีการกำจัดถูกต้องแล้วอย่างไรบ้าง เพราะหากไม่ไล่ตรวจหรือไม่เข้มงวด ก็จะทำให้มีการลักลอบทิ้งกากมากยิ่งขึ้น"


ขณะที่ นางทัศนีย์ ทองดี กรรมการผู้จัดการและเลขานุการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด(มหาชน) หรือ BWG ผู้ประกอบการธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมครบวงจร เปิดเผยว่า จากที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้มีมาตรการเข้มงวดและเข้าตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง ให้ดำเนินการกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธีในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ขณะนี้มีกากอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายเข้าสู่กระบวนการกำจัดของบริษัทมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมามียอดการกำจัดเพิ่มขึ้นถึง 3-5% จากปกติที่จะมีกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายเข้ามากำจัดประมาณ 500 ตันต่อวัน และที่ไม่เป็นอันตรายประมาณ 1 พันตันต่อวัน เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ที่ผ่านมาและในปัจจุบันยังมีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอีกมากที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการกำจัดอย่างถูกวิธี


ทั้งนี้ อยากให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงงานประเภท 106 ที่เป็นโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรมหรือที่เข้าใจเป็นโรงงานรีไซเคิล ที่มีอยู่เกือบ 1 พันแห่ง เนื่องจากรับของเสียจากโรงงานมาแล้ว แต่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด มีของเสียที่เกิดขึ้นอีก ซึ่งกฎหมายระบุว่าจะต้องกำจัดให้ถูกต้อง เมื่อกำจัดไม่ได้ ก็จะกองไว้ในโรงงานสร้างปัญหาให้กับชุมชนรอบข้าง หรือมีการลักลอบขนออกมาทิ้งสร้างปัญหาก่อมลพิษให้ประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้นๆ โดยไม่นำไปกำจัดอย่างถูกต้องเนื่องจากมีราคาแพงประมาณตันละ 4.5 พันบาท

"กรณีของโรงงานประเภท 105 ที่เป็นโรงงานเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล ที่รับกากอุตสาหกรรมออกมาจากโรงงาน โดยหลีกเลี่ยงการแจ้งประเภทของกากที่นำออกมา ซึ่งวิธีนี้จะมีราคาถูกอยู่ตันละ 1.2 พันบาท แต่เมื่อรับกากมาแล้วไม่สามารถนำมากำจัดอย่างถูกต้องได้ ก็จะนำกากมาลักลอบทิ้งทั่วไป ซึ่งกรมโรงงานฯจะต้องตรวจสอบโรงงานเหล่านี้ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น"


อย่างไรก็ตาม  หากภาครัฐยังเข้มงวดการตรวจสอบการลักลอบทิ้งกากอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ น่าเห็นภาพชัดเจนของการนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการกำจัดมากขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้เองหลายโรงงานใบอนุญาตการขนกากออกจากโรงงานกำลังจะหมดอายุ เมื่อมีการต่อใบอนุญาตใหม่ จากการเข้มงวดของภาครัฐจะทำให้ผู้ประกอบการเกรงกลัวต่อกฎหมาย และนำกากเข้าสู่การกำจัดอย่างถูกวิธีมากขึ้น


โดยในปีนี้ตั้งเป้าไว้ว่ารายได้น่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อนมีรายได้ 1.06 พันล้านบาท มีกำไร 75.85 ล้านบาท ส่วนไตรมาสแรกปีนี้มีรายได้ 302.80 ล้านบาท มีกำไร 35.20 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,858 วันที่  4  - 6   กรกฎาคม  พ.ศ. 2556