"อนันตพร" ตั้งเป้านโยบายพลังงาน ปี 2560 สอดรับกับ Thailand 4.0 (12 ม.ค 60)

สำนักข่าวอิศรา 12 มกราคม 2560 
พล.อ.อนันตพร ตั้งเป้านโยบายพลังงาน ปี 2560 สอดรับกับ Thailand 4.0

รมว.พลังงาน เปิดแผนการขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศ ตามแนวนโยบาย Energy 4.0 ตั้งเป้าสร้างรายได้ให้กับประชาชน หวังประเทศหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง 

วันที่ 11 มกราคม พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการดำเนินงานในรอบปี 2559 ว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานมุ่งเน้นการทำงานเพื่อเป้าหมายการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้กับภาคพลังงานของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและประชาชนอย่างรอบด้าน โดยได้ดำเนินการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้า และการพัฒนาความมั่นคงด้านปิโตรเลียม อีกทั้งผลงานด้านความมั่นคงได้ดำเนินการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน  ผลักดันให้เกิดการแข่งขันในกิจการก๊าซเสรี และผลักดัน พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  เพื่อปรับปรุงโครงสร้างในการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความชัดเจนและมีกฎหมายรองรับ รวมถึงผลงานด้านการสร้างความยั่งยืน มีการส่งเสริมพลังงานทดแทน เพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงผลักดันโครงการของประชารัฐ

สำหรับการผลักดันโครงการของประชารัฐ พล.อ.อนันตพร  กล่าวว่า จะมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนผ่านโครงการระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์  ยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านโครงการไฟฟ้าพลังงานชุมชน การนำของเหลือใช้มาผลิตพลังงาน  และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อลดรายจ่ายชุมชน  และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากพืชพลังงาน สิ่งเหลือใช้ เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพและชีวมวล  รวมถึงขับเคลื่อนพลังประชารัฐในการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตควบคู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ

สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานปี 2560 นั้น รมว.พลังงาน กล่าวว่า จะขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศตามแนวนโยบาย Energy 4.0 ซึ่งมีเป้าหมายคือ การสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ เพื่อให้ประเทศชาติในภาพรวมหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลาง สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ให้เป็นรูปธรรมตามแผนที่วางไว้ 

ขณะที่นายอารีพงศ์  ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า พลังงานของประเทศไทยที่ใช้ทุกวันนี้ แบ่งเป็น 3 ส่วน นั่นก็คือ เชื้อเพลิงภาคขนส่ง พลังงานไฟฟ้า และพลังงานความร้อน สัดส่วนปริมาณ 55% จะเป็นค่าใช้จ่ายพลังงานเชื้อเพลิงภาคขนส่ง  ส่วนพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนอยู่ในสัดส่วนปริมาณ 20% ที่ใกล้เคียงกัน  

“ในส่วนของเชื้อเพลิงภาคขนส่ง จะเห็นได้ชัดเจนในสถานะปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมัน 85%   จึงต้องหาทางจัดการ การนำเข้าน้ำมัน 85%  ให้น้อยที่สุด เพราะฉะนั้นการดำเนินการต้องมียุทธศาสตร์และยกระดับภาคพลังงาน  ลดใช้น้ำมัน การขับรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ” ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว และว่า  ทุกวันนี้เชื้อเพลิงที่ใช้ 64% มาจากแก๊สธรรมชาติ นับวันหมดไปอย่างแน่นอน ดังนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมการ คือ เตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้เพื่อความมั่นคงในระยะยาว