ชาว "วานรนิวาส" จี้บริษัท "เหมืองโปแตช" เซ็น MOU ห้ามนำการจัดเวทีไปอ้างผลประโยชน์เอื้อการทำเหมือง (10 ม.ค. 60)
ประชาไท 10 มกราคม 2560
ชาวบ้านวานรนิวาส จี้บริษัทเหมืองโปแตชเซ็น MOU ห้ามนำการจัดเวทีไปอ้างผลประโยชน์เอื้อการทำเหมือง
ชาวบ้านวานรนิวาส กว่า 800 คน ร่วมเวทีเสวนาวิชาการเรื่องการทำเหมืองโปแตช กดดันภาครัฐและบริษัทเหมืองโปแตชเซ็น MOU ห้ามนำผลการจัดเวทีเป็นเอื้อประโยชน์ต่อการทำเหมือง พร้อมตั้งข้อสังเกตเวทีวิชาการเหตุใด ต้องตรวจหาวัตถุระเบิดกับชาวบ้าน
10 ม.ค. 2560 เวลา 9.00-15.00 น. ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ได้มีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อแสวงหาความรู้เรื่องเหมืองแร่โปแตชวานรนิวาส โปแตชคอร์เปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีชาวบ้านกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดวานรนิวาสกว่า 800 คน และตัวแทนจากบริษัทไชน่ามิ๋งต๋า รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เจ้าหน้าที่จากศาลสว่างแดนดิน พร้อมกันนี้ก่อนเริ่มเวทีได้มีกำลังเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองและอาสาสมัครเกือบ 200 นายเข้าประจำในพื้นที่และ ตชด. คอยตรวจเข้มอาวุธ วัตถุระเบิด ชาวบ้านวานรนิวาสทุกคนก่อนเข้าไปภายในบริเวณเวทีหอประชุม
โดยเวทีเสวนาครั้งนี้มีตัวแทนจากบริษัทไชน่าหมิงต๋าฯ ได้แก่ รศ.ดร.ปกรณ์ สุวานิช คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดิเรก รัตนวิชช์ อดีตรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รศ.ดร.กิติเทพ เฟื่องขจร สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ ธัญญพัฒน์ หวังวงศ์สิริ ผู้จัดการบริษัทไชน่าหมิงต๋าฯ ส่วนทางด้านตัวแทนจากภาคประชาชน ตัวแทนจากภาคประชาชน ได้แก่ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และบำเพ็ญ ไชยรักษ์ นักวิจัยอิสระ/ฝ่ายข้อมูลกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
ขณะเวลา 10.52 น. ขณะที่ฝั่งตัวแทนของบริษัทกำลังแลกเปลี่ยนบนเวทีเสวนา มีกลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีเสวนาได้ขอแสดงความคิดเห็น จึงทำให้เวทีหยุดชะงัก
ต่อมา 11.00 น. เวทีได้หยุดชะงักอีกครั้ง เมื่อชาวบ้านได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงชื่อ ทำสัญญา MOU เพื่อยืนยันว่าจะไม่นำการจัดเวทีในครั้งนี้ ไปอ้างอิงเพื่อผลประโยชน์ในดำเนินการเรื่องเหมือง หลังจากเวทีได้หยุดไปเกือบ 30 นาที เวทีเสวนาจึงได้เริ่มเสวนาต่อ หลังจากที่ตัวแทนหน่วยงาน นายอำเภอวานรนิวาส ตัวแทนจากสถานีตำรวจภูธรวานรนิวาสและตัวแทนบริษัทไชน่าหมิ๋งต๋า ได้ลงนามในสัญญา MOU เป็นที่เรียบร้อยและเอกสารดังกล่าวเก็บไว้ที่ผู้ดำเนิน
11.45น. ชาวบ้านภายในหอประชุมร่วมกันชูกระดาษโดยเขียนข้อความว่า “ไม่เอาเหมืองแร่” เพื่อแสดงจุดยืนในการดำเนินการเหมืองแร่ในพื้นที่ ทั้งนี้ในเวลาต่อมา ชาวบ้านภายในหอประชุมร่วมกันชูกระดาษโดยเขียนข้อความว่า “โปแตชออกไป” และออกจากหอประชุมก่อนวิทยากรจะพูดครบทุกคน
13.30 น. ได้เริ่มเสวนาต่อ โดยนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยราชธานี อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า ทั้งภาครัฐ และบริษัทต้องบอกทางเลือกว่า ทำอย่างไรให้โปแตชไม่ทำลายชาวบ้าน ถ้ามีผลกระทบเกิดขึ้น จะดำเนินการอย่างไร และจะต้องมีการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมกับชาวบ้านด้วย
ด้าน ปรีชา สุทธิวงศ์ กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดวานรนิวาส ให้สัมภาษณ์กับประชาไท ว่าเวทีวันนี้เกิดขึ้นได้เพราะ ศาลอนุญาตให้จัด โดยที่ก่อนหน้านี้ทางชาวบ้านได้มีแนวคิดในการจัดเวทีเสวนาวิชาการเพื่อให้ความรู้กับชาวบ้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อรับรู้ข้อมูลผลกระทบ ข้อดี ข้อเสียของการทำเหมืองโปแตซในพื้นที แต่ก็ถูกหน่วยงานภาครัฐสั่งห้ามจัดโดยระบุว่า เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมที่สาธารณะ
ปรีชา กล่าวด้วยว่า เวทีในวันนี้ได้เชิญนักวิชาการจากทั้งสองฝ่ายจากทางบริษัทและทางประชาชนมาให้ความรู้ เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้นำข้อมูลต่างๆ ไปประกอบการตัดสินใจว่า ต้องการให้มีการทำเหมืองแร่โปแตซในพื้นที่หรือไม่ เนื่องจากทั้งที่ผ่านมาผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต่างให้ข้อมูลเท็จกับชาวบ้านว่าทางบริษัทแค่มาสำรวจแร่ ไม่ได้ต้องการทำเหมือง แต่ไม่ได้บอกว่าเมื่อสำรวจเสร็จจะมีกระบวนการต่างๆ เพื่อขอทำเหมืองใต้ดิน รวมทั้งไม่ได้แจ้งให้ทราบถึงผลกระทบที่จะตามมาเช่น การแย่งชิงทรัพยากรน้ำ แผ่นดินทรุดตัว ปัญหาดินเค็ม
ปรีชา กล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์ในช่วงเช้าที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ชุดตรวจวัตถุระเบิด และอาวุธตรวจค้นประชาชนทุกคนอย่างละเอียดก่อนเข้าร่วมรับฟังเวทีเสวนานั้น สร้างความกังวลใจแก่คนในพื้นที่จนบางคนไม่กล้าเข้าไปรับฟัง เวทีในครั้งนี้เป็นเวทีวิชาการไม่ใช่สงครามไม่จำเป็นต้องตรวจค้นอาวุธเพราะชาวบ้านไม่นำเข้ามาอยู่แล้ว การทำแบบนี้ยิ่งสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน