กพร. เผย - ผลสอบเหมืองทอง "อัครา" ไม่กระทบดิน-น้ำ-พืช - ชง "บิ๊กตู่" พิจารณา (10 ม.ค. 60)
Green News TV 10 มกราคม 2560
กพร.เปิดผลสอบเหมืองทอง 'อัครา' ไม่กระทบ 'ดิน-น้ำ-พืช' - ชง 'บิ๊กตู่' พิจารณา
โฆษก กพร.เปิดเผยผลศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของกิจการเหมืองทองคำ “อัครา” ไม่พบกระทบต่อสภาพดิน น้ำ และพืชผัก
นายวิษณุ ทับเที่ยง ผู้อำนวยการกองบริหารยุทธศาสตร์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ในฐานะโฆษก กพร. เปิดเผยว่า ขณะนี้ผลการศึกษาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด โดยคณะทำงาน กพร.เสร็จสิ้นส่วนหนึ่งแล้ว ซึ่งพบว่าการทำเหมืองแร่ทองคำไม่กระทบต่อสภาพดิน น้ำ และพืชผักในพื้นที่แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างจัดทำผลการศึกษาเรื่องรอยรั่วของบ่อและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งคาดว่าจะทราบผลภายในเดือน เม.ย.2560
“ผลสำรวจยังไม่พบว่าเหมืองทองทำกระทำผิดส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” นายวิษณุ กล่าว
สำหรับผลการศึกษาด้านสุขภาพ กพร.ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อสำรวจข้อมูลสุขภาพในพื้นที่ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นแหล่งที่มีสายแร่ทองคำเหมือนกับเหมืองแร่ทองคำอัคราฯ จ.พิจิตร เพื่อตรวจสอบและเปรียบเทียบว่าคนในพื้นที่มีโลหะหนักเหมือนกับ จ.พิจิตร หรือไม่
นายวิษณุ กล่าวว่า ผลการศึกษาข้อเท็จจริงทั้งหมดจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อประกอบการกำหนดนโยบายเหมืองแร่ทองคำต่อไป ว่าจะมีการกลับมาเปิดให้ประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำอีกครั้งหรือไม่
สำหรับผลการดำเนินงานของ กพร.ตลอดปีงบประมาณ 2559 คือตั้งแต่เดือน ต.ค.2558-ก.ย.2559 กพร.ได้อนุญาตสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทั้งสิ้น 108 แปลง มีมูลค่าแหล่งแร่ประมาณ 19,764 ล้านบาท ดำเนินการจัดเก็บรายได้ค่าภาคหลวงแร่จำนวน 4,017 ล้านบาท ปัจจุบันมีสถานประกอบการอุตสาหกรรมแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานในการกำกับดูแลทั้งสิ้น 1,436 ราย มีการผลิตแร่จำนวน 34 ชนิด รวมมูลค่า 77,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 27.7%
อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 กพร.จะมีการปรับเปลี่ยนบทบาทใหม่ จากเดิมที่เน้นการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน ไปสู่บทบาทใหม่ที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยเน้นการจัดหาวัตถุดิบป้อนสู่ภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ วัตถุดิบขั้นต้น อาทิ ถ่านหิน หินก่อสร้าง เหล็ก
นอกจากนี้ กพร.ยังตั้งเป้าส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเกิดลงทุนด้านอุตสาหกรรมแร่ในต่างประเทศ เพื่อป้อนวัตถุดิบที่ประเทศไทยมีไม่พอใช้หรือไม่มีกลับมาเพื่อใช้ในประเทศ ไม่น้อยกว่าปีละ 10-20 ราย
อนึ่ง เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2559 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดมาตรการในการป้องกันและระงับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่ทองคำ รวมทั้งกำหนดมาตรการฟื้นฟูผลกระทบ
สำหรับคำสั่งดังกล่าว ได้สั่งระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ และการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำไว้ ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่างๆ ไปแล้ว ให้ระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นไป โดยผู้ประกอบการยังคงมีหน้าที่ในการฟื้นฟูพื้นที่ ตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทั้งนี้จนกว่าคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติจะมีมติอื่น