ชาวโขงอีสาน ร่วมค้าน "ระเบิดแก่ง" จี้รัฐบาลยกเลิกแผนเอื้อประโยชน์ (9 ม.ค. 60)
Green News TV 9 มกราคม 2560
ชาวโขงอีสาน ร่วมค้าน ‘ระเบิดแก่ง’ จี้รัฐบาลยกเลิกแผนเอื้อประโยชน์
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง-อีสาน ออกแถลงการณ์จี้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม. “ระเบิดเกาะแก่ง” แม่น้ำโขง ก่อนถูกมองเอื้อประโยชน์จีน-กลุ่มทุน
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง-อีสาน ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2560 เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2559 ซึ่งเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ.2558-2568 ซึ่งจะมีการปรับปรุงร่องน้ำ (ระเบิดเกาะแก่ง) ให้เรือพาณิชย์ระวางน้ำหนัก 500 ตัน สามารถล่องจากประเทศจีนถึงท่าเรือหลวงพระบางประเทศลาว
แถลงการณ์ดังกล่าว ยังได้เรียกร้องให้มีการเปิดโอกาสภาคประชาชนนำเสนอข้อมูล ถกเถียงแลกเปลี่ยน เพื่อให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ พร้อมระบุว่าไม่ควรใช้โอกาสในการบริหารประเทศช่วงนี้ ตัดสินใจเพื่อผลักดันโครงการ ที่จะนำไปสู่การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้คนในสังคมตั้งคำถามกับรัฐบาลชุดนี้ว่าใช้อำนาจเผด็จการ เอื้อประโยชน์ต่อทุนจีนเพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์กับกลุ่มทุนบางกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล
เนื้อหาส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า มติ ครม.ดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนโดยไม่ให้ข้อมูลข่าวสาร และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง จะส่งผลต่อระบบนิเวศและความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง ซึ่งประชาชนได้อาศัยสัตว์น้ำเป็นแหล่งอาหาร รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและอธิปไตยของประเทศในเรื่องเขตแดน นอกจากนี้ยังจะเกิดผลกระทบข้ามพรมแดน เพราะมีถึง 6 ประเทศที่ใช้ประโยชน์แม่น้ำโขงร่วมกัน
“ประชาชนริมแม่น้ำกว่า 8 ล้านคน พึ่งพาอาศัยจับปลาในแต่ละปีได้กว่า 2 ล้านตัน การทำลายเกาะแก่งในแม่น้ำน้ำโขง จึงเท่ากับทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งขยายพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ และในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ก็ไม่อนุญาตให้มีการระเบิดเกาะแก่งเพราะจะทำให้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และเส้นทางน้ำจะเปลี่ยนแปลงจนส่งผลกระทบต่อเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ
ทั้งนี้ เครือข่ายฯ จึงมีข้อเสนอ คือ 1.ให้รัฐบาลทบทวนมติ ครม. และยกเลิกแผนระเบิดแก่งเพื่อพัฒนาเส้นทางการเดินเรือของจีนทั้งหมด 2.ให้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลในวงกว้างเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและคนในสังคม 3.รัฐบาลควรหาทางเลือกในการพัฒนาแม่น้ำโขงที่ไม่ทำลายธรรมชาติ เพราะการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และทำให้ปริมาณปลาในแม่น้ำโขงลดลง
สำหรับเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง-อีสาน ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน 2.เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน 3.ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.) 4.เครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน 5.เครือข่ายนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน 6.กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา 7.เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา 8.ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชี 9.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี 10.กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้า จ.อุดรธานี 11.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย