"ลูกหลานน้ำโขง" ร่อนแถลงการณ์เรียกร้อง ครม. ทบทวนมติไฟเขียวแผนพัฒนาเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำ (4 ม.ค. 60)
Green News TV 4 มกราคม 2560
ลูกหลาน ‘น้ำโขง’ ร่อนแถลงการณ์ เรียกร้อง ครม.ทบทวนมติไฟเขียว
ชาวบ้านเชียงราย ในนามลูกหลานแม่น้ำโขง-กลุ่มหลืบผา ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ ครม.ทบทวนมติเห็นชอบแผนพัฒนาเดินเรือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง หวั่นได้รับผลกระทบรุนแรง
การแสดงจุดยืนคัดค้านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2559 ที่เห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ค.ศ.2015-2025 ซึ่งจะมีการปรับปรุงร่องน้ำ (ระเบิดเกาะแก่ง) ให้เรือพาณิชย์ระวางน้ำหนัก 500 ตัน สามารถล่องจากประเทศจีนถึงท่าเรือหลวงพระบางประเทศลาว ยังคงมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค.2559 ชาวบ้าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในนามลูกหลานแม่น้ำโขง และกลุ่มหลืบผา ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินท้องถิ่น ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ ครม.ทบทวนมติดังกล่าว จากเหตุผล 3 ประการ ประกอบด้วย 1.โครงการสำรวจและการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงไม่เอื้อประโยชน์ให้กับคนท้องถิ่นและประเทศไทย
2.การตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับแม่น้ำโขงจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้คนริมโขงก่อน 3.ระบบนิเวศและวิถีประเพณีจะถูกทำลาย
สำหรับแถลงการณ์ในนามลูกหลานแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย และกลุ่มหลืบผา ลงวันที่ 29 ธ.ค.2559 ระบุว่า พวกเราในฐานะลูกหลานแม่น้ำโขง มีความกังวลเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงเพื่อเดินเรือพาณิชย์ เพราะแม่น้ำโขงเป็นสายเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงพวกเรา มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งเรื่องของพันธุ์ปลา พันธุ์พืชผัก พื้นที่เกษตรริมโขง รวมถึงระบบนิเวศน์เกาะแก่งซึ่งเป็นมรดกทางธรรมชาติที่สำคัญของพวกเรา ที่กำลังจะถูกทำลายลงเพียงเพื่อให้เรือพาณิชย์ประเทศจีนขนส่งผ่านแม่น้ำโขงไปยังท่าเรือหลวงพระบาง
ทั้งนี้ จากมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2559 ซึ่ง ครม.ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศ ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ค.ศ. 2015 – 2025 และการดำเนินงานเบื้องต้น (งานศึกษาสำรวจออกแบบ) รวมทั้งเห็นชอบให้กรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานปฏิบัติและประสานงานนั้น ในฐานะลูกหลานแม่น้ำโขงที่พึ่งพาแม่น้ำโขงเป็นหลักจึงของเรียกร้องไปยัง ครม.ให้ทบทวนมติดังกล่าว
สำหรับเหตุผล ประกอบด้วย 1.ให้หยุดโครงการสำรวจรวมถึงการระเบิดเกาะแก่งเพราะไม่เอื้อประโยชน์ให้คนท้องถิ่นและประเทศไทยเลย 2.การจะดำเนินการใดๆ กับแม่น้ำโขงควรจะมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้คนริมฝั่งโขงก่อน ไม่ใช่เพียงแค่ ครม.ไม่กี่คน
3.การระเบิดเกาะแก่งจะทำลายวิถีประเพณีการพึ่งพาแม่น้ำโขง ความหลากหลายทางชีวภาพ มรดกทางทรัพยากรธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ของคนลุ่มน้ำโขง รวมถึงข้อกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเรื่องการระเบิดแก่ง ทั้งที่การเสร้างเขื่อนเกิดปัญหาผลกระทบเรื่องระดับน้ำและการลดลงของพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงส่งผลต่อคนท้องถิ่นยังไม่ได้รับการแก้ไข