กสม. เร่งสอบ "ระเบิดแก่งโขง" วาระด่วน! เรียก "เจ้าท่า-กรมน้ำ" ให้ข้อมูลภายใน ก.พ.นี้ (5 ม.ค. 60)
Green News TV 5 มกราคม 2560
กสม.เร่งสอบระเบิด ‘แก่งโขง’ วาระด่วน! เรียก ‘เจ้าท่า-กรมน้ำ’ ให้ข้อมูลภายใน ก.พ.นี้
ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ยื่นเรื่องถึงกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบโครงการระเบิดแก่ง “ครูแดง” ระบุ เตรียมยกเป็นประเด็นด่วน คาดสั่งสอบได้เร็วสุดไม่เกิน ก.พ.นี้
นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รับหนังสือร้องเรียนจาก นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2560 กรณีขอให้ตรวจสอบรายละเอียดโครงการแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ค.ศ.2015-2025 และขอให้นำข้อมูลโครงการมาเปิดเผยให้ชุมชนได้รับทราบ ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2559 มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาฯ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง–แม่น้ำโขง
นางเตือนใจ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรจะเร่งตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ หรืออาจให้คณะกรรมการ กสม.ทั้ง 7 ราย ร่วมกันพิจารณาเพื่อมติทันที โดยอาจมีการหยิบยกกรณีนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นเร่งด่วน เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อ 7 จังหวัดประเทศไทย และเป็นกรณีผลกระทบข้ามพรมแดน
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติและประสานงานหลัก กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และภาคประชาชน เข้ามาให้ข้อมูลได้อย่างเร็วที่สุดไม่เกินเดือน ก.พ.2560
“ครม.ยังไม่เคยได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง แต่อยู่ๆ ก็จะมีมติ ครม.ออกมาว่าเห็นชอบให้มีการเดินเรือขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขง ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนระบบนิเวศทั้งหมด ในขณะที่ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงถูกทำลายไปจากการสร้างเขื่อนมากอยู่แล้ว และ กสม.ก็มีเรื่องร้องเรียนที่กำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ นี่จึงเป็นเรื่องใหญ่” นางเตือนใจ กล่าว
สำหรับหนังสือที่กลุ่มรักษ์เชียงของและเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ยื่นถึงนางเตือนใจ ระบุถึงข้อกังวล 7 ประเด็น ได้แก่ 1.ทำลาย “แก่งคอนผีหลง” ซึ่งเป็นแก่งขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขง บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ที่ จ.เชียงราย รวมถึงแก่งอื่นๆ ในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นมรดกทางธรรมชาติอันทรงคุณค่า มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และสลับซับซ้อน การทำลายแก่งเท่ากับทำลายบ้านของปลาและนก และแหล่งอาหารของชุมชนริมฝั่งโขงทั้งสองประเทศ
2.ทำลายแหล่งพืชพรรณบนแก่งริมฝั่งน้ำ และหาดแม่น้ำโขง ซึ่งมีความสำคัญต่อการชะลอการไหลหลากของแม่น้ำโขง และเป็นอาหารสำคัญของปลาชนิดกินพืช รวมถึง “ไก” สาหร่ายแม่น้ำเฉพาะถิ่นที่เป็นรายได้สำคัญของคนริมฝั่งโขงในช่วงฤดูแล้ง
3.เกิดการพังทลายของชายฝั่ง และทำลายการเดินเรือของประชาชนริมฝั่งโขงทั้งไทยและลาว การระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงจะทำให้เกิดกระแสน้ำที่ไหลแรงและเร็วมากขึ้น กัดเซาะตลิ่งจนแม่น้ำกว้างขึ้น ส่งผลต่อการเดินเรือของชาวบ้านใน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวฯ ยังได้มีข้อกำหนดห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปทำการที่กีดขวางการเดินเรือพาณิชย์ อาทิ ห้ามวางอวนจับปลาในแม่น้ำโขง ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสองฝั่งโขง ประสบปัญหาในการประกอบอาชีพประมงเป็นอย่างมาก
4.ปัจจุบันมีการขนส่งผ่าน ถ.เอเชีย หมายเลข 13 และ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ – ห้วยทราย) ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเติบโตอยู่แล้ว และปัจจุบันก็ยังมีเรือขนส่งสินค้าจากมณฑลยูนานถึงท่าเรือเชียงแสนได้ตลอดปี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ แต่โครงการฯ เพื่อเปิดทางให้เรือสินค้าขนาด 500 ตัน จะเป็นประโยชน์ของจีนเพียงประเทศเดียว ซึ่งต้องแลกกับทำลายระบบนิเวศสำคัญของแม่น้ำโขง จึงไม่มีความคุ้มค่าแต่อย่างใด
5.การปักปันเขตแดน ไทย-ลาว ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส ใช้ร่องน้ำลึกเป็นตัวชี้วัด หากมีการระเบิดแก่งปรับปรุงร่องน้ำ ก็จะทำให้ไทยสูญเสียดินแดนเป็นบริเวณกว้าง หากปล่อยให้เกิดการระเบิดแก่งขึ้นได้ตามโครงการดังกล่าว อาจเปิดโอกาสให้ประเทศเพื่อนบ้านละเมิดอธิปไตยของไทยได้ และเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดน
6.ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดว่าโครงการที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดินแดนจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ปรากฏว่า มติครม.ดังกล่าว ยังมิได้ผ่านความเห็นของจากรัฐสภาแต่อย่างใด อันเป็นการละเมิดกฎหมายภายในประเทศ
7.โครงการนี้เป็นโครงการที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำนานาชาติ ซึ่งมีกฎหมายระหว่างประเทศคุ้มครองการดำเนินโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน การลงนามร่วมกันของ 4 ประเทศ โดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับกัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโครงการเช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม อีกทั้งยังขัดต่อทั้งข้อตกลงแม่น้ำโขงว่าด้วย กระบวนการ PNPCA และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยการบริหารจัดการแม่น้ำนานาชาติอีกด้วย
อนึ่ง เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2559 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ค.ศ.2015-2025 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง–แม่น้ำโขง และการดำเนินงานเบื้องต้น (งานศึกษาสำรวจออกแบบ) ซึ่งจะมีการปรับปรุงร่องน้ำ (ระเบิดเกาะแก่ง) ให้เรือพาณิชย์ระวางน้ำหนัก 500 ตัน สามารถล่องจากประเทศจีนถึงท่าเรือหลวงพระบางประเทศลาวได้