นักวิชาการชี้ "ผังเมือง" สาเหตุอุทกภัยใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช (6 ม.ค. 60)"ผังเมือง" สาเหตุอุทกภัยใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช (6 ม.ค. 60)
Thai PBS 6 มกราคม 2560
“ผังเมือง” สาเหตุอุทกภัยใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช
นักวิชาการวิเคราะห์น้ำท่วมรุนแรงเมืองนครศรีธรรมราช ปัจจัยจากการเปลี่บยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผังเมือง และพื้นที่ป่าที่หายไป แนะภาคประชาชนวางแผนรับมือ
มีการตั้งข้อสังเกตจากคนในพื้นที่นครศรีธรรมราช หลายคนนิยามว่า น้ำท่วมครั้งนี้ เป็นมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ของพวกเขาเพราะ น้ำมาเร็ว และท่วมสูง
วันนี้ (6ม.ค.2560) ดร.สมพร ช่วยอารีย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บอกว่า สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในจ.นครศรีธรรมราช ที่ชาวบ้านระบุว่าเป็นมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ก็ไม่ผิด เพราะเกือบ 10 ปีก่อน เคยมีฝนตกหนักต่อเนื่องถึง 15 วัน แต่ครั้งนั้นน้ำก็ไม่ได้ท่วมรุนแรงอย่างครั้งนี้
ปัจจัยที่อาจารย์สมพร ตั้งข้อสังเกตุว่าเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้น้ำไหล ลงมาท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในนครศรีธรรมราชอย่างรวดเร็ว ก็คือช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเห็นได้ชัด มีถนนกีดขวางทางน้ำ สะพานจุดใช้ระบายน้ำมีไม่เพียงพอ
นอกจากเรื่องการรักษาผืนป่าเพื่ออุ้มน้ำ ยังมีปัจจัยใหญ่ๆเรื่อง ปริมาณฝนมาก และความเปลี่ยนแปลง จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ของ เมืองที่ส่งผลให้ เมื่อน้ำมามาก ก็จะท่วมหนัก แล้วก็ระบายได้ยาก
อาจารย์สมพร ระบุว่า ภาคใต้เคยเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง แต่พอสถานการณ์คลี่คลาย หลายคนอาจลืมที่จะวางแผนแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยนักวิชาการ แนะนำว่า ประชาชนเองต้องสร้างเครือข่าย เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติ สร้างการมีส่วนร่วมในการออก แบบเมือง ซึ่งต้องมองภาพรวมบริบททุกพื้นที่และไม่แบ่ง เขตแดนโดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วม ส่วนหน่วยงานของรัฐควรจะต้องเริ่มพิจารณาเรื่องผังเมืองให้ดี
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภาคใต้ยังมีฝนตกหนัก ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากน้ำป่าไหลหลาก โดยฝนจะเริ่มลดลงในวันที่ 8 ม.ค.นี้
ชาวบ้านตันหยงมัสดีใจ "นายกรัฐมนตรี"มาเยี่ยม
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมจ.นราธิวาส โดยน้ำป่าที่ไหลหลากอย่างรวดเร็วและฝนที่ตกหนัก ทำให้โรงเรียนวัดร่อน ต.ตันหยงมัส อำเภออ.ระแงะ จ.นราธิวาส ต้องจมอยู่ใต้น้ำ ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่ต้องใช้ชีวิตในบ้านที่มีน้ำท่วมขัง เพราะหลายคนเป็นห่วงทรัพย์สิน จึงไม่กล้าย้ายไปอาศัยที่อื่น ขณะที่บางคนซึ่งอยู่ลึกเข้าในหมู่บ้าน และอยู่ใกล้กับคลองตันหยงมัส ซึ่งน้ำสูงจนถึงระดับคอ ก็จำใจต้องย้ายออกมาอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เพราะไม่มั่นใจว่า ปริมาณน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีกหรือไม่ เนื่องจากฝนที่ยังตกในบางพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจากโดยที่ตั้งและภูมิประเทศของหมู่ 2 ตำบลตันหยงมัส ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม จึงกลายเป็นที่รองรับน้ำจากภูเขาและอำเภอต่างๆก่อนจะไหลผ่านคลองและระบายลงสู่ทะเล ที่นี่จึงถูกน้ำท่วมทุกปี ความเดือดร้อนของชาวบ้าน ทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ในวันนี้
โดยช่วงเช้าจะประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในจังหวัดนราธิวาสทั้ง 13 อำเภอที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และในช่วงบ่ายจะเดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบภัยที่วัดร่อน และมัสยิดกลางอำเภอระแงะ ขณะที่ชาวบ้านหลายคนบอกว่า รู้สึกดีใจที่นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบปัญหา และอยากให้เร่งหาแนวทางป้องกันในระยะยาว
ขณะที่ภาพรวม พบว่า ระดับน้ำเริ่มลดลงบ้างแล้ว ในบางพื้นที่ แต่ในพื้นที่ปลายน้ำ และพื้นที่ติดแนวเทือกเขา ยังมีฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอำเภอแว้ง สุคีริน จะแนะ และอำเภอศรีสาคร ทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงยังคงต้องเฝ้าระวังต่อไป