ลุ้นเรกูเลเตอร์สั่งเดินหน้าหรือถอดโรงไฟฟ้าถ่านหิน NPS (6 ม.ค. 60)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 6 มกราคม 2560
ลุ้นเรกูเลเตอร์สั่งเดินหน้าหรือถอดโรงไฟฟ้าถ่านหินNPS
กกพ.เตรียมพิจารณาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของ NPS จะเดินหน้าหรือถอดออกจากแผนพีดีพี สั่ง กฟผ.สรุปข้อมูลทั้งหมดให้พิจารณา ด้าน NPS แจงยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง เชื่อมั่นขอเวลา 5 ปีทำแบบประเมิน EHIA-ก่อสร้างโครงการ คาดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ปี′64
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภายหลังจากที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังผลิต 540 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด หรือ NPS จะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันตามกำหนดคือภายในปี 2560 เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างจัดทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA นั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้กกพ.ได้สั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สรุปข้อมูลการดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ฯ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาว่าจะให้โครงการเดินหน้าต่อหรือไม่ ส่วนจะมีการตัดสินใจถอดออกจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ หรือ PDP (Power Development Plan 2558-2579) ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหรือไม่นั้นคงต้องรอข้อมูลทั้งหมดก่อนจึงจะพิจารณาได้
ส่วนโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงของผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่(IPP) รวม 5,000 เมกะวัตต์ ที่ชนะการประมูลครั้งล่าสุดนั้น และได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟผ.ไปแล้วนั้น เบื้องต้นคงต้องให้เอกชนรายดังกล่าวพัฒนาโรงไฟฟ้าต่อไป เพราะถือว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ภาครัฐกำหนดทั้งหมด ซึ่งประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงพลังงาน
"สำหรับโรงไฟฟ้าของ NPS ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบไม่ทันแน่ ซึ่งเลื่อนมาแล้วหลายรอบเพราะเขาทำ EHIA ยังไม่จบ เพราะเป็นเงื่อนไขใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ NPS ได้ทำ EIA แล้วเสร็จ คงต้องรอข้อมูลจาก กฟผ.ก่อนที่จะมีการพิจารณาว่าจะตัดสินใจอย่างไรเพราะเขาเป็นเอกชน กกพ.ก็ไม่ต้องการให้เกิดการฟ้องร้องตามมาในอนาคต"
ด้านนายสิทธิพร รัตโนภาส ประธานกรรมการ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัดกล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการเจรจากับ กกพ.ในเบื้องต้น ซึ่ง กกพ.ยืนยันที่จะให้เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไปภายใต้เงื่อนไขเดิมทั้งหมด เว้นแต่ในกรณีที่ขอเปลี่ยนเทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์ และสามารถรักษาระดับอัตราค่าไฟฟ้าปลายทางไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นก็อาจจะมีการพิจารณาใหม่ให้เหมาะสม
อย่างไรก็ตามไม่มีการหารือถึงประเด็นถอดโครงการดังกล่าวออกจากแผนPDP เนื่องจากความล่าช้าที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายของภาครัฐ ที่กำหนดให้ทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพิ่มเติม หลังจากที่ได้จัดทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม กกพ.สั่งให้ดำเนินการจัดทำ EHIA ให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 นี้ หลังจากนั้น จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟผ.ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 2564 นี้
"ความล่าช้าของ EHIA ที่เกิดขึ้นทำให้โครงการของเราล่าช้า นอกจากนี้ ยังทำให้การเจรจาซื้อ-ขายถ่านหินกับต่างประเทศก็มีปัญหาตามมาด้วย ส่งผลให้ต้องเจรจาซื้อขายใหม่ เราตั้งใจที่จะพัฒนาโครงการ มีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่และไม่มีปัญหาการต่อต้าน หากว่าภาครัฐตัดสินใจยกเลิกโครงการนี้ทาง NPS ก็เตรียมที่จะยื่นอุทธรณ์เช่นกัน"