"ธีระชัย" จี้ รมว.คลัง แก้จุดอ่อน กม.ปิโตรเลียม เปิดช่องโกง ลั่นยังเฉยร้องยูเอ็นแน่ (9 ม.ค. 60)
MGR Online 9 มกราคม 2560
“ธีระชัย” จี้ รมว.คลัง แก้จุดอ่อน กม.ปิโตรเลียม เปิดช่องโกง ลั่นยังเฉยร้องยูเอ็นแน่
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ภาพจากแฟ้ม)
“ธีระชัย” ยื่นหนังสือถึง รมว.คลัง - กฤษฎีกา ย้ำ ต้องแก้จุดอ่อนร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯ ที่ยังไม่สอดคล้องผลศึกษาของ สนช. ไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติรองรับระบบแบ่งปันผลผลิต ไม่บัญญัติให้มีการประมูลอย่างโปร่งใสป้องกันฉ้อราษฎร์บังหลวง ส่อผิดอนุสัญญาต่อต้านทุจริตของสหประชาชาติ ลั่นหากยังเฉยร้องเลขาฯ ยูเอ็นแน่
วันที่ 8 ม.ค.เมื่อเวลา 16.40 น. ในเฟซบุ๊กแฟนเพจThirachai Phuvanatnaranubala ของ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการโพสต์ข้อความเป็นรายละเอียดของหนังสือวันที่ 6 มกราคม 2560 เรื่อง ขอให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... อย่างถูกต้อง เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สำเนาเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามโดยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
เนื้อความในหนังสือระบุว่า “ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๙ มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไปพิจารณา แล้วแจ้งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบต่อไป นั้น ข้าพเจ้าขอเรียนท่านทราบถึงจุดอ่อนและข้อด้อยที่สำคัญของร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่จะทำความเสียหายให้แก่ประเทศชาติและประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยตรงที่จะต้องแก้ไขและป้องกันมิให้เกิดขึ้น มีรายละเอียด ดังนี้
๑. ข้อศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติเล็งเห็นถึงความสำคัญของกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องปิโตรเลียม จึงได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญํติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญํติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งมีพลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ และคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวได้จัดทำรายงานผลการพิจารณาศึกษา ฉบับลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นข้อศึกษาจากหน่วยงานของทางการที่น่าเชื่อถือและละเอียดรอบคอบในแง่มุมต่างๆ แต่กระทรวงพลังงานกลับมิได้นำข้อศึกษาดังกล่าวไปบรรจุในร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ
ดังนั้น การที่กระทรวงการคลัง และ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับโดยไม่คำนึงถึงรายงานดังกล่าว ก็จะเข้าข่ายการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้รอบคอบทุกด้าน เพราะเป็นผลการศึกษาโดยบุคคลที่มีคุณวุฒิและมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง และจัดทำโดยหน่วยงานที่มีความสำคัญสูงที่สุดในเรื่องการตรากฎหมาย ทั้งนี้ ข้าพเจ้าขอเสนอว่ากรณีถ้าหากกระทรวงการคลัง และ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า ประเด็นใดในรายงานดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและไม่จำเป็นต้องใช้เพื่อแก้ไขร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับให้ดีขึ้น กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ควรจะต้องแจ้งให้ประชาชนรับทราบพร้อมทั้งคำอธิบายเหตุผล
๒. บรรษัทพลังงานแห่งชาติ
การที่ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีบทบัญญัติเพิ่มระบบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิต จึงจะเป็นครั้งแรกที่รัฐมีส่วนแบ่งในรูปปิโตรเลียม แต่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกลับไม่มีบทบัญญัติให้จัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาด้านการคลังประการหนึ่ง คือจะไม่มีองค์กรของรัฐที่ทำหน้าที่ขายปิโตรเลียมในส่วนของรัฐ โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายที่จะมอบให้เอกชนผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างผลิต เป็นผู้ทำหน้าที่ขายปิโตรเลียมแทนรัฐ แต่การมอบให้เอกชนเป็นผู้ทำหน้าที่แทนรัฐนั้น จะมีคำถามว่าเอกชนทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาทุกกรณีหรือไม่ และราคาขายปิโตรเลียมของรัฐ เป็นราคาสูงสุดที่พึงจะขายได้หรือไม่ ซึ่งกรณีไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ แต่มอบให้เอกชนเป็นผู้ปฏิบัติแทนนั้น หน่วยงานของรัฐไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะเข้าไปตรวจสอบซ้ำ เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐได้รับประโยชน์สูงสุดเท่าที่จะพึงได้ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือส่วนราชการอื่น
ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับโดยไม่เสนอแก้ไขปรับปรุงให้มีบทบัญญัติจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาตินั้น ก็จะเข้าข่ายการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้รอบคอบทุกด้าน เนื่องจากจะทำให้รัฐขาดไปซึ่งกลไกในการตรวจสอบของรัฐเพื่อให้แน่ใจว่าได้รับผลประโยชน์ของรัฐอย่างถูกต้องครบถ้วน
๓. กระบวนการคัดเลือกภาคเอกชน
ถึงแม้ว่าร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จะมีแนวทางการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแบบใหม่ ซึ่งเอกชนแต่ละรายย่อมจะมีแนวคิดและมุมมองที่แตกต่างกัน และย่อมจะนำไปสู่การเสนอสัดส่วน หรืออัตราผลประโยชน์ ที่จะให้แก่รัฐที่แตกต่างกัน และจะก่อปัญหาในการคัดเลือกผู้ชนะ แต่ร่างพระราชบัญญัติกลับมิได้บัญญัติให้ทำการคัดเลือกผู้ชนะโดยวิธีประมูลโปร่งใส ดังนั้น นอกจากจะไม่มีกลไกที่ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจได้โดยอัตโนมัติว่าประเทศได้รับประโยชน์สูงสุดเท่าที่จะพึงได้แล้ว ยังเป็นร่างกฎหมายที่ไม่สามารถป้องกันการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงได้อย่างแท้จริงอีกด้วย เพราะมีการบัญญัติให้เอกชนต้องเสนอปริมาณงานและปริมาณเงิน ซึ่งย่อมจะต้องใช้ดุลพินิจของข้าราชการในการพิจารณาเปรียบเทียบข้อเสนอดังเช่นที่ใช้อยู่ในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ข้าพเจ้าได้พบว่าพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น มีจุดอ่อนในกระบวนการพิจารณาคัดเลือกผู้ขอสัมปทานซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้ดุลพินิจ เนื่องจากเปิดช่องให้มีการเสนอคัดเลือกผู้ชนะที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นได้ โดยข้าพเจ้าพบว่าในอดีต เคยมีการให้สัมปทานสำรวจปิโตรเลียมเป็นพื้นที่กว้างขวางเกินกว่าสามหมื่นตารางกิโลเมตร (ซึ่งเป็นพื้นที่เกือบร้อยละหกของพื้นที่ประเทศไทย) แต่เป็นการให้สัมปทานแก่ผู้ขอสองรายที่ไม่มีประสบการณ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาก่อน รวมทั้งเป็นบริษัทที่เพิ่งจัดตั้งและมีทุนเป็นเงินเพียงเล็กน้อย และเมื่อเวลาผ่านไปเพียงเจ็ดเดือน ทั้งสองบริษัทก็โอนสัมปทานส่วนใหญ่ไปให้แก่บริษัทตะวันออกกลางกลุ่มหนึ่ง จึงมีลักษณะมิใช่เป็นการขอสัมปทานเพื่อตั้งใจจะทำการสำรวจอย่างจริงจัง แต่ขอเพื่อไปทำกำไร โดยหนังสือที่เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีระบุว่าผู้ขอสัมปทาน ๒ รายนี้ มีผู้ที่รับรองตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในต่างประเทศรายหนึ่ง
แต่ข้าพเจ้าพบข้อมูลว่า ถึงแม้สถาบันการเงินในต่างประเทศรายนั้น จะได้มีหนังสือฉบับหนึ่งมาถึงกระทรวงพลังงานเกี่ยวข้องกับผู้ขอสัมปทานก็ตาม แต่มิใช่หนังสือรับรองตามแบบที่กระทรวงพลังงานเรียกจากผู้รับรองรายอื่นๆ และหนังสือดังกล่าวก็มิได้ระบุ หรือผูกมัด รับรองที่จะดำเนินการตามที่พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ กำหนดไว้แต่อย่างใด รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะที่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์เคยทำงานในธนาคารพาณิชย์ ย่อมจะทราบดีว่า ไม่มีสถาบันการเงินรายใดที่จะสามารถออกหนังสือรับรองให้แก่ลูกค้า โดยที่หนังสือรับรองไม่ระบุจำนวนเงินชัดเจนที่จะต้องรับผิดชอบแทนลูกค้าได้ เพราะจะทำให้สถาบันการเงินรายนั้นไม่สามารถคำนวณการดำรงอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามที่กฎหมายกำหนดได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องในการเสนอคณะรัฐมนตรี ที่ยืนยันว่าผู้ขอสัมปทาน และผู้รับรอง มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ นั้น พิจารณาได้อย่างไร
เพื่อเป็นการพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศชาติ ข้าพเจ้าจึงได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๙ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแจ้งข้อสงสัยดังกล่าว แนะนำให้ทำการตรวจสอบ และหากพบว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง ก็ต้องสั่งให้ยึดคืนสัมปทาน และควรจะทำการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสัมปทาน รวมทั้งแก้ไขร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในประเด็นที่เกี่ยวข้องด้วย ข้าพเจ้าได้มีหนังสือติดตามเรื่องนี้ ฉบับวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ แต่จนบัดนี้ ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้รับคำชี้แจงประการใดจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ข้าพเจ้าจึงขอแนะนำให้ท่านสอบถามเรื่องนี้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อจะเป็นประโยชน์ในการเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อปิดจุดอ่อนนี้ต่อไป
ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับโดยไม่มีบทบัญญัติที่จะป้องปรามการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงได้อย่างแท้จริงนั้น รวมทั้งละเลยจะไม่เสนอแก้ไขบทบัญญัติในกระบวนการพิจารณาให้สัมปทานตามกฎหมายปัจจุบันซึ่งมีจุดอ่อน นอกจากจะเข้าข่ายการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้รอบคอบทุกด้าน เนื่องจากอาจจะทำให้ผลประโยชน์ของรัฐเกิดขึ้นอย่างไม่ครบถ้วนแล้ว ยังจะมีประเด็นปัญหาจากการที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. ๒๐๐๓ ซึ่งบัญญัติให้ประเทศภาคีต้องจัดให้มีกระบวนการทำงานที่ป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่เสนอให้แก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับเพื่อป้องกันจุดอ่อน ก็จะเป็นการดำเนินการที่ฝ่าฝืนอนุสนธิสัญญาดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งข้าพเจ้าในฐานะพลเมืองที่มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๗๑ อีกทั้งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๓ วรรคหนึ่ง ก็จำเป็นจะต้องแจ้งต่อเลขาธิการสหประชาชาติให้รับทราบต่อไป”