ก.พลังงาน ตั้งเป้า 5 ปี โรงไฟฟ้า ‘เทพา’ ต้องเกิด กฟผ.ยืนยันใช้ "เทคโนโลยีระดับโลก" เทียบเคียง (4 ม.ค. 60)

Green News TV 4 มกราคม 2560
ก.พลังงาน ตั้งเป้า 5 ปี โรงไฟฟ้า ‘เทพา’ ต้องเกิด กฟผ.ยืนยันใช้เทคโนโลยีระดับโลกเทียบเคียง

ปลัดกระทรวงพลังงานเปิดนโยบายปี 2560 เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน ระบุหาก ‘กระบี่’ เกิดไม่ได้ จะดัน ‘เทพา’ แทน ยืนยันภายในปี 2565 ต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ เป็นนโยบายหลักของกระทรวงพลังงานที่จะเดินหน้าอย่างเต็มกำลังภายในปี 2560 โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องก่อสร้างเฟส 1 กำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ให้แล้วเสร็จ และสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 2565 หรืออีก 5 ปี หลังจากนี้

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นโยบายหลักที่กระทรวงพลังงานจะดำเนินการภายในปี 2560 ก็คือแผนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหิน ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (พีดีพี2015) โดยกระทรวงพลังงานจะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ เพื่อให้จ่ายไฟเข้าระบบได้ภายในปี 2565 ซึ่งล่าช้ากว่าที่กำหนดเดิม 3 ปี ขณะเดียวกันก็จะดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าเทพาควบคู่กันไปพร้อมๆ กัน

“ในกรณีที่ไม่สามารถเดินหน้าโรงไฟฟ้ากระบี่ได้ตามกำหนด กระทรวงพลังงานจะเดินหน้าโรงไฟฟ้าเทพาก่อน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าในภาคใต้”นายอารีพงศ์ กล่าว

นายอารีพงศ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานยังมีนโยบายที่จะยืดอายุโรงไฟฟ้าด้วยการนำโรงไฟฟ้าเก่ามาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งอาจมีการปรับสัญญาเก่า โดยจะมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้เจรจา รวมถึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ศึกษาพื้นที่ที่มีความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า จะนำเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าระดับสากลซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับโรงไฟฟ้าฮิตาชินากะ ประเทศญี่ปุ่น มาใช้กับโรงไฟฟ้ากระบี่ โรงไฟฟ้าเทพา รวมถึงโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 4-7 ซึ่งนับเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยระดับโลก

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า เทคโนโลยีดังกล่าว จะสามารถควบคุมมลภาวะทั้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน และฝุ่น ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับโรงไฟฟ้าฮิตาชินากะ ซึ่งโรงไฟฟ้ากระบี่ และเทพา จะใช้แหล่งถ่านหินเดียวกับโรงไฟฟ้าฮิตาชินากะคือจากอินโดนีเซียและออสเตรเลีย แต่จะมีการติดตั้งเครื่องกำจัดปรอท หรือ ACI เพิ่มเติม เพื่อคลายความวิตกกังวลของชุมชนในพื้นที่