การนิคมฯ ตั้งเป้าขายที่ดิน 3,000 ไร่ กรมโรงงานฯ เปิดศักยภาพอุตสาหกรรม 15 จว. (4 ม.ค. 60)
Green News TV 4 มกราคม 2560
การนิคมฯ ตั้งเป้าขายที่ดิน 3,000 ไร่ กรมโรงงานฯ เปิดศักยภาพอุตสาหกรรม 15 จว.
ผู้ว่าฯ กนอ. กำหนดเป้าขายที่ดินปี 2560 ให้ได้ 3,000 ไร่ ยืนยันต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ภายในปี 2560 กนอ.ตั้งเป้ายอดขายพื้นที่ให้ได้ 3,000 ไร่ โดยหลังจากนี้ กนอ.จะเร่งพัฒนาและจัดเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
นายวีรพงศ์ กล่าวว่า ในปี 2560 นี้ จะเป็นปีที่เริ่มก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมใน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ส่วนอีก 2 พื้นที่ ได้แก่ โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแม่สอด จ.ตาก และนิคมอุตสาหกรรม อ.สะเดา จ.สงขลา อยู่ระหว่างออกแบบผังก่อสร้างโครงการ พร้อมจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าช่วงในปลายปี 2560 จะเห็นความชัดเจนเป็นรูปธรรม
นายวีรพงศ์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ปี 2560 ยังคงมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศไทยมีความชัดเจนในเรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่สามารถต่อยอดได้
ทางด้าน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยผลการศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างมีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุน (โซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรม) เพิ่มเติมอีก 15 จังหวัด จากเดิมที่มีการจัดทำไปแล้วในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 5 จังหวัด ตั้งแต่ปี 2557 โดยผลการศึกษาดังกล่าวจะช่วยให้สามารถจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมแต่ละจังหวัดอย่างเหมาะสม
สำหรับพื้นที่โซนนิ่งภาคการผลิตใน 15 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ราชบุรี ปทุมธานี หนองคาย ร้อยเอ็ด อุดรธานี อุบลราชธานี ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และกระบี่ โดยได้วิเคราะห์ข้อมูลด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ซึ่งใช้เทคนิคการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ (PSA) และความพร้อมของพื้นที่ รวมทั้งมีการรับฟังความคิดเห็นจากพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลประเมินผล
ทั้งนี้ ประเภทอุตสาหกรรมที่เหมาะแก่การลงทุนในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป รวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม 2.อุตสาหกรรมเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง 3.อุตสาหกรรมขนส่ง/ยานยนต์ 4.อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน/ทดแทน 5.อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล (เครื่องจักรกลการเกษตร) ยานพาหนะ อากาศยาน และอะไหล่ 6.อุตสาหกรรมเครื่องไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์สื่อสาร
7.อุตสาหกรรมรีไซเคิล/ใช้ประโยชน์จากขยะหรือกากอุตสาหกรรม 8.อุตสาหกรรมบริการ (ตามการเติบโตของเมือง) 9.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 10.อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวภาพ 11.อุตสาหกรรมยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง 12.อุตสาหกรรมเครื่องเรือนและผลิตภัณฑ์ไม้ (ยางพารา) 13.อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ 14.อุตสาหกรรมอาหาร (ปศุสัตว์) 15.อุตสาหกรรมการประมงและแปรรูปอาหาร และ16.อุตสาหกรรมโลจิสติก (Logistic Hub) รวมทั้งท่าเรือและอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ในปี 2560 กรมโรงงานฯ ยังได้เตรียมศึกษาพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างมีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุนเพิ่มเติมอีก 6 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และนครพนม