ชัดเจน! ผลศึกษาภาครัฐเองยังชี้ทุกจังหวัดภาคใต้ "ไม่เอาอุตสาหกรรมหนัก" (3 ม.ค. 60)

MGR Online 3 มกราคม 2560
ชัดเจน! ผลศึกษาภาครัฐเองยังชี้ทุกจังหวัดภาคใต้ไม่เอา “อุตสาหกรรมหนัก” ขณะที่ภาคประชาชนคาใจ “ใครใหญ่กว่านายกฯ”?!

รายงานพิเศษ...ศูนย์ข่าวภาคใต้
----------------------------------------------------------------------------------------
               
       นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ที่ผ่านมา สถานการณ์โดยรวมของประเทศไทยน่าจะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งกล่าวได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน คสช. และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างดี
        
       แต่ตลอดปี 2559 ที่ผ่านมา สถานการณ์ในภาคใต้โดยรวมไม่อาจเรียกได้ว่าอยู่ในความสงบเรียบร้อย และนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเป็นต้นมา ในพื้นที่ภาคใต้น่าจะเป็นพื้นที่เดียวที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้านนโยบายของรัฐบาล และ คสช.มากที่สุด
        
       ทั้งที่มีคำสั่งเด็ดขาดเรื่องห้ามไม่ให้มีการชุมนุมเกิน 5 คน แต่ดูเหมือนมาตรการต่างๆ ไม่อาจยับยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ผิดหวัง และรู้สึกไม่พอใจการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และ คสช.ได้ โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับแผนพัฒนาภาคใต้ ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าภูมิภาคนี้ไปอย่างสิ้นเชิง หากโครงการต่างๆ เกิดขึ้นจริงตามแผนที่รัฐบาลวางไว้

       ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ซึ่งยกพลไปเคลื่อนไหวประท้วงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา เขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาว่า...
        
       “รัฐประหารคราวนี้ทำได้เหนือชั้นมาก เพราะแม้จะเลวร้ายที่สุด คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้สึก 1.พวกเขาใช้ยุทธวิธีเหนือชั้นที่เรียกว่า ทำให้คนอยู่ในโลกเสมือนจริง เริ่มจากการที่ต้องทำให้คนเชื่อว่า ทหารเข้ามาเพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ลบภาพความโหดร้ายของทหารแบบเดิมลง ถึงขนาดลงทุนตั้งสภาปฏิรูป ลงเงินไปไม่รู้เท่าไหร่กับผลลัพธ์ที่ว่างเปล่า แต่ก็คุ้มค่าสำหรับการซื้อความรู้สึกของประชาชน จนกระทั่งบัดนี้คนก็ยังเชื่อว่า ทหารเข้ามาปฏิรูป ปราบโกง คุ้มมากที่สุดกับการทำให้คนเชื่อ ส่วนประเทศจะฉิบหายเท่าไหร่ไม่เกี่ยว”
        
       ประสิทธิชัย ระบุว่า คสช.ใช้มาตรการอื่นที่ไม่ใช้กำลัง แม้ว่าจะมีการใช้อยู่บ้าง แต่ก็ระมัดระวังไม่ให้กระทบกับความรู้สึกถึงขั้นให้คนส่วนใหญ่โกรธ เมื่อกระแสสังคมขึ้น เขาจะผ่อนปรน เพราะเป้าหมาย คือ รักษาภาพลักษณ์ ซึ่งเท่ากับการรักษาอำนาจเอาไว้ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงนั้นยังไม่บรรลุ
        
       “เป้าหมายสูงสุดของ คสช.ยังคงเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่สามารถสืบทราบได้ว่า ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ แต่สังเกตจาก ม.44 ที่ออกมาล้วนเอื้อให้เกิดโครงการขนาดใหญ่ ที่กลุ่มทุนได้ประโยชน์ โดยไม่สนใจมิติสิ่งแวดล้อม และชีวิตมนุษย์ ตรงนี้เป็นความเหนือชั้นอีกขั้นหนึ่ง เพราะกระทำภายใต้วาทกรรมการพัฒนาที่สังคมส่วนใหญ่เชื่ออยู่แล้ว โดยไม่ตั้งคำถามว่าวันข้างหน้าประเทศจะฉิบหายยังไง”

       เขาเชื่อว่า อุปสรรคชนิดเดียวของ คสช.คือ การตื่นของประชาชน แต่จะใช้กำลังปราบปรามก็ทำไม่ได้ เพราะประเทศไทยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวในโลกใบนี้ มาตรการทางกฎหมายจึงถูกนำมาใช้ ผสมกับการทั้งขู่ ทั้งปลอบของฝ่ายทหารที่กระทำต่อมวลชน ซึ่งยังรักษาขอบเขตให้คนส่วนใหญ่รู้สึกดีว่า ทหารไม่ใช้ความรุนแรง การเอาปืนไปจี้ การอุ้มหาย การกระทำได้ภายใต้วาทกรรมการทำผิดกฎหมาย กลายเป็นการกระทำอันชอบธรรม เพราะทำตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น ม.44 กฎหมายประชามติ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จึงถูกนำออกมาใช้ควบคุม กดขี่ ข่มเหงคนอย่างชอบธรรม เพราะรัฐบาลต้องการให้โปรเจกต์ขนาดใหญ่ผ่านไปได้
        
       ส่วนโปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่ว่านั้น ประกอบด้วยอะไรบ้าง เมื่อไปดูรายละเอียดในแผนพัฒนาภาคใต้ ที่เสนอโดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า โครงการหลักๆ ที่รัฐบาลที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาลนี้กำลังผลักดันนั่นคือ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จ.กระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อ.เทพา จ.สงขลา โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งจะเชื่อมโยงกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล รวมทั้งถนนมอเตอร์เวย์ และระบบรถไฟอุตสาหกรรมรางคู่สำหรับขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ และบรรทุกสินค้า ระหว่างท่าเรือ 2 ฝั่งทะเล ล่าสุด มีการผลักดันโครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น
        
       ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ภาครัฐได้แยกส่วนโครงการต่างๆ ออกเสมือนว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ วัตถุประสงค์หลักของโครงการที่บริษัทที่ปรึกษานำไปประชาสัมพันธ์กับชาวบ้านในพื้นที่ ระบุเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และเพื่อสนับสนุนการทำเกษตร แต่เมื่อเปิดไปดูรายละเอียดในแผนพัฒนาภาคใต้ทั้งฉบับกลับพบว่า อ่างเก็บน้ำ และเขื่อน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ภาครัฐกำลังจะผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคตทุกโครงการ
        
       ล้วนมีเส้นทางมุ่งไปยัง “นิคมอุตสาหกรรม” ที่จะจัดตั้งขึ้นบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและชายฝั่งทะเลอันดามันทั้งสิ้น 

       หน้าตาของแผนพัฒนาภาคใต้หากเกิดขึ้นจริง จึงเปรียบเสมือนยก “นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด” จาก จ.ระยอง มาไว้ในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 2 ชายฝั่งทะเล แตกต่างตรงที่จะมีขนาดใหญ่กว่ากันหลายเท่าตัว และชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเรื่องนี้ เนื่องจากในขั้นตอนของการประชาสัมพันธ์โครงการทั้งหมด ภาครัฐใช้วิธีการแยกส่วนโครงการต่างๆ ออกจากกัน เสมือนว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน
        
       ซึ่งวิธีการนี้ทำให้ “เครือข่ายภาคประชาชน” ในพื้นที่ก่อตั้งโครงการมองว่า รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการดำเนินโครงการ และกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะฝ่ายที่เห็นต่าง ขณะเดียวกัน ภาครัฐกลับมีการเคลื่อนไหวใต้ดินจัดตั้งฐานมวลชนขึ้นมาสนับสนุนโครงการ โดยพบข้อเท็จจริงว่า มีการใช้ “เงิน” เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเรียกเสียงสนับสนุน หาใช่ “ข้อมูลที่ถูกต้อง” ซึ่งประชาชนทุกคนควรมีสิทธิรับรู้แต่อย่างใด
        
       การผลักดันเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลนี้ จึงถูกภาคประชาชนในพื้นที่มองว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้มีความแตกต่างจากรัฐบาลก่อนๆ แต่อย่างใด ตรงกันข้ามอาจจะเลวร้ายกว่าด้วยซ้ำ 
        
       แม้การเคลื่อนไหวของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา จะได้รับการตอบรับจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศว่าจะชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เอาไว้ก่อน ซึ่งควรจะสร้างความพอใจให้แก่เครือข่าย แต่กลับตรงกันข้าม เพราะเครือข่ายยืนยันให้รัฐบาลยุติโครงการนี้ และสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน 100%
        
       การไม่สั่งยุติโครงการของรัฐบาล ทำให้ภาคประชาชนยิ่งปักใจเชื่อว่า ผู้ที่มีอำนาจจริงๆ ในการตัดสินใจ หรือกล่าวได้ว่ามีอำนาจเหนือรัฐบาล และ คสช. แท้จริงแล้วคือ “กลุ่มทุนพลังงาน” ที่ทรงอิทธิพล และอยู่เบื้องหลังรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย 

       เหตุที่เครือข่ายภาคประชาชนปักใจเชื่อเช่นนั้น เป็นเพราะท่าที และพฤติการณ์ของ กฟผ.และบุคคลบางกลุ่มในกระทรวงพลังงาน ที่มีการเคลื่อนไหวผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเทพาอย่างต่อเนื่อง 
        
       โดยเฉพาะการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ทั้งที่อยู่ในช่วงเวลาการศึกษาข้อมูลของคณะกรรมการ 3 ฝ่ายที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งให้ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาโครงการ โดยผลการศึกษาของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ที่มีนายทหารยศพลเอกเป็นประธานมีข้อสรุปที่น่าสนใจคือ จ.กระบี่ สามารถพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้ 100% โดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ข้อสรุปนี้กลับไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด
        
       ล่าสุด แม้นายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เอาไว้ก่อน แต่ในส่วนของ กฟผ.และกระทรวงพลังงาน กลับยังคงมีการเคลื่อนไหวผลักดันโครงการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์ล่อแหลมมากยิ่งขึ้น เพราะมีการทุ่ม “เงิน” ลงไปจัดตั้งมวลชนฝ่ายสนับสนุนโครงการ และปลุกระดมให้มีการต่อต้านผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ตามการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ.เมื่อ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า
        

       “การตัดสินใจว่าเห็นด้วย หรือไม่กับการสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ ต้องคำนึงถึงสิทธิชุมชนเป็นสำคัญ เพราะเป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยตรง ไม่ควรให้คนนอกพื้นที่มาละเมิดสิทธิ โดยเป็นผู้กำหนดว่าจะสร้างหรือไม่สร้างแทนคนในชุมชน ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ชี้แจงอธิบายถึงความจำเป็น ข้อดี ข้อเสีย และผลประโยชน์ที่เกิดแก่ชุมชน ในขณะที่ NGOs ฝ่ายค้านก็สามารถแสดงความห่วงใย ข้อกังวล และให้ข้อมูลที่เชื่อว่าชุมชนจะได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายคนตัดสินคือ เสียงส่วนใหญ่ของชุมชน…
        
       “จึงอยากให้ชุมชนได้ร่วมกันแสดงออกไม่ทางใดก็ทางหนึ่งว่า เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยให้ชัดเจน ด้วยวิธีการใดก็ตาม เช่น ลงชื่อสนับสนุนหรือคัดค้าน หรืออาจใช้วิธีติดป้ายสนับสนุนหรือคัดค้าน ขอให้ชุมชนออกมาปกป้องสิทธิของคนในชุมชน ไม่ให้คนนอกพื้นที่มาเป็นผู้กำหนดความต้องการแทนชุมชน”

       สอดคล้องต่อการเคลื่อนไหวของ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่เสนอให้มีการทำโพลสำรวจประชามติโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จนทำให้ ประสิทธิชัย ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เขียนจดหมายเปิดผนึกเผยแพร่ต่อสาธารณะในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า
        
       “ถ้าจะมีใครจุดชนวนให้ประชาชนออกมาจัดการต่อรัฐบาล ผมคิดว่าคุณเป็น 1 ใน 3 รัฐมนตรีที่มีคุณสมบัตินั้น ผมเพิ่งเข้าใจว่า ทำไมการประกาศชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อปีที่แล้ว กฟผ.ยังเดินหน้าต่อ เพราะมีรัฐมนตรีที่ใหญ่กว่านายกรัฐมนตรีหนุนหลัง…
        
       “ผมเพิ่งเข้าใจว่า ประเทศนี้มีรัฐมนตรีที่ใหญ่กว่านายกรัฐมนตรี แน่นอนที่สุด ใครที่จะมาเป็นรัฐมนตรีพลังงาน ต้องมีคุณสมบัติบางอย่างที่กลุ่มทุนเลือกแล้วว่า ใช้ได้ เพราะกระทรวงนี้เต็มไปด้วยผลประโยชน์อันมหาศาล ทั้งปิโตรเลียม และไฟฟ้า เมื่อมีกลุ่มทุนหนุนหลัง นายกรัฐมนตรีจึงกลายเป็นตัวประกอบ…
        
       “เรื่องพลังงานมีผลประโยชน์อันมหาศาล ทั้งการสัมปทานถ่านหิน การก่อสร้างโรงไฟฟ้า ท่าเทียบเรือ การขนส่งถ่านหิน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแหล่งทำมาหากินของบุคคลหลายฝ่าย นโยบายอันดีงามจึงเกิดขึ้นไม่ได้ในกระทรวงนี้ เพราะกลุ่มทุนมีผลประโยชน์มหาศาล…

       “รัฐมนตรีเสนอตรรกะวิบัติที่ผมคิดว่า เป็นการจุดชนวนสงครามถ่านหิน โดยการให้ กฟผ.ทำโพลที่กระบี่ ให้หน่วยงานที่อยากสร้างทำโพลสำรวจความเห็น มันแสดงถึงวิธีคิดที่ไม่ตั้งอยู่บนความถูกต้องของรัฐมนตรี จากวิธีคิดเรื่องทำโพล เชื่อมโยงให้เห็นวิธีคิดเรื่องการจัดการพลังงานทั้งหมดของรัฐมนตรีคนนี้...
        
       “ผมเห็นด้วยต่อการทำประชามติของคนกระบี่ ด้วยการมีองค์กร หรือคณะบุคคลที่เชื่อถือได้ มีการออกแบบวิธีวิทยาร่วมกัน และยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย แล้วจึงค่อยลงมือทำ หากมักง่ายแบบที่รัฐมนตรีพลังงานเสนอนั้น ผมคิดว่าเป็นการก่อความขัดแย้งแน่นอน…
        
       “วันหนึ่งคุณต้องหลุดจากการเป็นรัฐมนตรี ซึ่งไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่คนอันดามันจะจารึกชื่อคุณไว้ ในฐานะฆาตกรที่ฆ่าอันดามัน อย่าให้หัวโขนที่มีคนหยิบมาใส่ให้ทำให้คุณเปลี่ยนแปลงสภาพของตัวเอง จนไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ผมขอเตือนว่า ถ่านหินเป็นเรื่องของโลกไปแล้ว เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ เป็นเรื่องของคนทั้งภาคใต้ หากคุณยังเดินหน้าสร้างถ่านหิน คุณจะพังลงไม่เฉพาะคุณ แต่หมายถึงรัฐบาลด้วย อย่าได้จุดชนวน อย่าได้เป็นผู้รับใช้จนไม่ลืมหูลืมตา”
        
       ในท้ายของจดหมายดังกล่าว ประสิทธิ์ชัย ได้ระบุไว้ด้วยข้อความสั้นๆ ว่า “ขอย้ำว่าอย่าจุดชนวน”

       ทั้งนี้ที่ผ่านมา ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยผลสรุปการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment : SEA) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในเดือน ก.ย.2559 และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นภาพ กรอบแนวทาง และวิธีการในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ที่ชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้เป็นคู่มือประกอบในการพัฒนาโครงการต่างๆ มีทั้งท่าเรือ โรงไฟฟ้า แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะทราบว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาโครงการมีความสอดคล้องต่อความต้องการของพื้นที่ เกิดเป็นรูปธรรม และประเทศได้ประโยชน์ในภาพรวม
        
       “ที่ผ่านมา การดำเนินโครงการของรัฐอาจขาดการบูรณาการร่วมกัน ไม่มีความเชื่อมโยง ขาดการสื่อสารการทำงานร่วมกัน และส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ การลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลความต้องการจากประชาชน พร้อมกับบอกถึงประโยชน์ และผลกระทบที่จะได้รับจากโครงการของรัฐ และทำให้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของภาคใต้อีกด้วย”
        
       นครินทร์ สัทธรรมนุวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การศึกษานี้จะเน้นในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไปว่าจะพัฒนาอย่างไร ที่ผ่านมา มีการต่อต้านโครงการของรัฐบาลมาก ซึ่งขอบเขตดำเนินการจะศึกษาด้านเศรษฐกิจ (ความคุ้มค่า), สังคม (การยอมรับของชาวบ้าน), สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี และนำเสนอโครงการทางเลือกที่เหมาะสม พร้อมแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
        
       โดยผลจากการลงพื้นที่พบว่า จ.สตูล ต้องการพัฒนาบนพื้นฐานของทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งการท่องเที่ยว ประมง เกษตรแปรรูป ไม่รับอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยอุตสาหกรรมที่รับได้ เช่น ปลาป่น ยาง และอยากได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมที่พัฒนา ไม่ใช่ให้ประโยชน์แก่นายทุนฝ่ายเดียว

       จ.สงขลา เป็นเมืองการค้า จึงไม่เหมือน จ.สตูล ที่มีการคัดค้านท่าเรือปากบารา แต่ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา จะคัดค้านน้อยกว่า เนื่องจากสงขลาต้องการท่าเรือเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ และเป็นศูนย์กลางการค้าของจังหวัด และมองว่าถ้ามีโครงการเข้ามาจะมีผลกระทบต่อประชาชน ต้องมีการเยียวยา เช่น การเวนคืน ต้องหาพื้นที่รองรับอย่างไร และไม่รับอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง
        
       จ.นครศรีธรรมราช ต้องการให้มีการท่องเที่ยว และปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 44 หรือถนนเซาเทิร์นซีบอร์ด ให้ใช้ประโยชน์มากกว่านี้ มีการส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน มีหมู่บ้านคีรีวงเป็นต้นแบบที่ควรขยายไปที่หมู่บ้านอื่นๆ ในรูปแบบเดียวกัน พัฒนาท่องเที่ยวโดยชุมชนเข้มข้น และไม่ต้องการอุตสาหกรรม
        
       จ.ชุมพร ต้องการระบบคมนาคม โดยเฉพาะการเชื่อมท่าเรือชุมพรกับท่าเรือระนอง ควรปรับปรุงถนนให้มีสภาพดีขึ้น และมองไปถึงขุดคอคอดกระ โดยไม่ต้องการอุตสาหกรรมหนัก
        
       จ.ระนอง ทำยางพารามาก จึงต้องการเป็นศูนย์กลางการเกษตร การค้าที่สามารถเชื่อมต่อไปพม่า ศรีลังกา อินเดีย และต้องการใช้ประโยชน์จากท่าเรือระนองให้มากขึ้น
        
       ส่วน จ.กระบี่ เน้นเรื่องท่องเที่ยว ไม่ต้องการอุตสาหกรรมหนัก

 

       “โดยภาพรวมทุกจังหวัดไม่ต้องการอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงสรุปนำเสนอทางเลือกการพัฒนาศักยภาพพื้นที่สูงสุด สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ให้เม็ดเงินเกิดขึ้นจากท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 80% จากเดิมที่มีท่องเที่ยว 30% เกษตร 60% อื่นๆ 10% ต้องปรับใหม่ เพราะด้านการเกษตรขยายพื้นที่ปลูกยางพาราไม่ได้”
        
       ผลจากการศึกษาข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐเอง ประกอบกับการเคลื่อนไหวแสดงออกอย่างต่อเนื่องของเครือข่ายภาคประชาชน นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา และก่อนหน้านั้น น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ต้องการการพัฒนาในรูปแบบใด
        
       ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เองก็มีท่าทีที่ตอบรับต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ดูจากการสั่งตั้งกรรมการ 3 ฝ่าย และสั่งชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ทำให้ กฟผ. และกระทรวงพลังงาน ต้องเดินเกมรุกทั้งใต้ดิน และบนดิน โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ไม่สนใจผลที่จะตามมา และไม่สนใจว่า นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.จะมีคำสั่งว่าอย่างไร
        
       หรือที่ภาคประชาชนสงสัยว่า แท้จริงแล้วมีกลุ่มทุนพลังงานเป็นผู้สั่งการผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์ในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด และเป็นกลุ่มทุนที่มีอำนาจเหนือนายกรัฐมนตรีและ คสช.นั้น จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่!?