กฟผ. นำสื่อเยี่ยมชม "โรงไฟฟ้าชีวมวลโกโนะอิเคะ" ในญี่ปุ่น แปลงเศษไม้เป็นไฟฟ้า (1 ม.ค. 60)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 1 มกราคม 2560
พาไปดูโรงไฟฟ้าชีวมวล "โกโนะอิเคะ" ในญี่ปุ่น แปลงเศษไม้เป็นไฟฟ้า
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแผนที่จะขยายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในอนาคต เพื่อรักษากำลังผลิตติดตั้งให้อยู่ในระดับที่ร้อยละ 50 จากปัจจุบันที่มีอยู่เพียงร้อยละ 37 (กำลังผลิตถูกดึงไปให้กับภาคเอกชนทั้ง SPP/IPP) เฉพาะในส่วนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของ กฟผ.ที่มีอยู่ในขณะนี้คือ พลังน้ำขนาดเล็ก พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมเท่านั้น ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องเพิ่มการผลิตจากประเภทอื่นเข้ามาในระบบด้วย เมื่อเร็ว ๆ นี้
กฟผ.จึงนำสื่อมวลชนเข้าศึกษาโรงงานผลิตไม้แปรรูปคาชิมะ (Kashima) และโรงไฟฟ้าชีวมวล โกโนะอิเคะ (Gonoeke) ของบริษัท ชูโกะคุ โมะคุไซ (Chugoku Mokuzai) ที่ตั้งอยู่ในเมืองคาชิมะ จังหวัดอิราบากิ ประเทศญี่ปุ่น
นายยาซูดะ ผู้จัดการโรงงานให้ข้อมูลว่า โรงงานไม้แปรรูปคาชิมะเป็นโรงงานไม้แปรรูปที่ "ใหญ่ที่สุด" ในญี่ปุ่น ไม้ที่ใช้นำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 60
ส่วนที่เหลือ เป็นไม้ในประเทศ ในขั้นตอนการเลื่อยไม้จะมีเศษไม้เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 15 จึงนำมาใช้ประโยชน์ด้วยการนำมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยมีพันธมิตรร่วมลงทุนคือ บริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรงไฟฟ้า ในสัดส่วนการลงทุนที่ร้อยละ 50 จนถึงวันนี้โรงไฟฟ้าชีวมวลเดินเครื่องผลิตไฟฟ้ามาแล้ว 8 ปี ด้วยกำลังผลิตติดตั้ง 21 เมกะวัตต์ เศษไม้ที่ส่งเข้าโรงไฟฟ้าจะแบ่งเป็นขี้เลื่อยสด 15 ตัน ขี้เลื่อยแห้ง 2 ตัน และเปลือกไม้ 10 ตัน ไม้ทั้ง 3 ชนิดต้องผสมผสานกันเพื่อให้ได้ค่าความร้อนตามสเป็กของโรงไฟฟ้า ทั้งนี้แม้ว่าจะมีกำลังผลิตที่ 21 เมกะวัตต์ แต่มีการผลิตไฟฟ้าได้จริงที่ประมาณ 18 เมกะวัตต์ เนื่องจากปัญหาของเชื้อเพลิงที่มีไม่เพียงพอ
ทั้งนี้กำลังผลิตที่ 18 เมกะวัตต์ ไม่ได้ส่งขายเข้าระบบทั้งหมด เพราะจะถูกใช้ภายในโรงงาน 3 เมกะวัตต์ และจำหน่ายให้กับโรงงานแปรรูปไม้รวม 7 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจึงขายไฟฟ้าเข้าระบบ โดยโครงการดังกล่าวยังใช้ผลพลอยได้จากการผลิตคือไอน้ำ ขายให้กับโรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง
การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ในประเทศญี่ปุ่นใช้รูปแบบเหมือนกับประเทศไทย คือ อัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบ Feed in Tariff ที่ 24 เยน/หน่วย หรือประมาณ 8 บาท/หน่วย รูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า คือ Non-Firm โรงไฟฟ้า
ดังกล่าวค่อนข้างทำ รายได้ดีจนคืนทุนภายในระยะเวลา 7-8 ปี ส่วนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมนั้นจะมีมาตรฐานทางกฎหมายควบคุม รวมถึงมีบริษัทที่น่าเชื่อถือได้เข้ามาตรวจสอบและจัดส่งรายงานต่อหน่วยงาน ของรัฐที่เกี่ยวข้อง
นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ.ระบุว่า สำหรับประเทศไทยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ยังมีความจำเป็นอย่างมาก แม้จะมีการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แต่ในส่วนนี้เป็นกำลังผลิตที่ "พึ่งพา" ไม่ได้และไม่ได้เดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง การขายไฟฟ้าเข้าระบบส่วนใหญ่เป็นรูปแบบ Non-Firm จะผลิตก็ต่อเมื่อมีเชื้อเพลิงที่เพียงพอเท่านั้น แม้แต่โรงไฟฟ้าชีวมวลในญี่ปุ่นก็ยังต้องเจอปัญหาเรื่องฤดูกาล เช่น ฤดูแล้ง ที่จะมีเปลือกไม้น้อยลง ส่งผลต่อคุณภาพและไม่ตรงตามสเป็กเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้า ที่สำคัญปริมาณขี้เลื่อยยังผูกติดกับปริมาณการผลิตของโรงงานไม้แปรรูปอีก ด้วย ปัจจุบันญี่ปุ่นมีกำลังผลิตไฟฟ้า 179,407 เมกะวัตต์ และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 153,670 เมกะวัตต์ โดยกำลังผลิตส่วนใหญ่ที่ 142,562 เมกะวัตต์นั้นใช้ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลัก ตามข้อมูลสถานการณ์ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นนั้น มีการจัดทำแผนพลังงานระยะยาว เพื่อสร้างสมดุลคือ ราคาค่าไฟฟ้าต้องไม่สูงเกินไป เน้นใช้เทคโนโลยีสะอาด และสร้างความมั่นคงทางพลังงานที่เหมาะสม ที่สำคัญภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่นั้น เริ่มมีการปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงใหม่ โดยเพิ่มการใช้ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) น้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) มากขึ้น รวมถึงเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนโดยวางเป้าหมายภายในช่วงปี 2556-2573 จะมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 13.4-14.4 ซึ่งสอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลกที่พยายามผลักดันพลังงานทดแทนให้เพิ่มขึ้น เช่นกัน