"ซีแอนด์เจ" ผุดโรงงานรีไซเคิล จี้รัฐปลดล็อคผลิตไฟจากขยะ (2 ม.ค. 60)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 2 มกราคม 2560
"ซีแอนด์เจ"ผุดโรงงานรีไซเคิล จี้รัฐปลดล็อคผลิตไฟจากขยะ
ซีแอนด์เจฯเตรียมเท 30-40 ล้านบาท สร้างโรงงานรีไซเคิลขี้เถ้าที่ได้จากโรงไฟฟ้าขยะมาผลิตเป็นซีเมนต์ หลังกรมโรงงานฯระบุ เถ้าที่เกิดจากโรงไฟฟ้าขยะต้องส่งฝังกลบ เสียค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท/ตัน จี้หน่วยงานรัฐกำหนดเงื่อนไขให้เอื้อลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะ
นายหนิงเหอ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีแอนด์เจ เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" มีแผนที่จะลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลขี้เถ้าที่เกิดขึ้นจากโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หนองแขม ประมาณร้อยละ 10 หรือ 40 ตัน/วัน ของขยะที่เข้าเตาเผา 300-400 ตัน/วัน เนื่องจากเมื่อเร็ว ๆ นี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ระบุว่า ขี้เถ้าที่เกิดขึ้นจากการเผาขยะนั้นถือเป็นกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย ตามกฎหมายจะต้องส่งไปฝังกลบบ่อขยะที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานฯ ซึ่งบ่อฝังกลบส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดราชบุรีและฉะเชิงเทรา ส่งผลให้ซีแอนด์เจฯมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1,000 บาท/ตัน ฉะนั้นเพื่อลดต้นทุนและเพื่อป้องกันปัญหาในกรณีที่ส่งฝังกลบแล้วพบว่าเป็นบ่อฝังกลบที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงตัดสินใจลงทุนในโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ โรงกำจัดขยะฯมีกำลังผลิต 9.8 เมกะวัตต์ รองรับขยะได้สูงสุดที่ 11,000 ตัน/วัน เป็นโครงการที่ผลักดันโดย กทม.โดยมีเป้าหมายที่จะกำจัดขยะสะสมในเขตกรุงเทพมหานคร จาก 5 เขต เช่น เขตจอมทองและเขตภาษีเจริญ ฯลฯ ในช่วงเริ่มต้นโครงการนั้น ซีแอนด์เจฯได้ดำเนินการตามเงื่อนไขของ กทม.ทั้งหมด และยังเพิ่มเติมในส่วนที่ไม่ได้ระบุไว้ในเงื่อนไขอย่างการสร้างสวนเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงสร้างศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาได้ด้วย
"ถ้าจะขนไปฝังกลบไกล ๆ มันก็มีต้นทุนอีก แต่เมื่อต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงตัดสินใจสร้างโรงงานรีไซเคิล โดยเตรียมที่ดินส่วนขยายในพื้นที่ด้านหลังของโรงไฟฟ้าไว้แล้ว ซีแอนด์เจฯต้องการสร้างโครงการนี้ให้เป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าขยะอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย"
นายหนิงเหอยังกล่าวเพิ่มเติมถึงโอกาสในการขยายโรงไฟฟ้าขยะในอนาคตว่า ซีแอนด์เจฯมีความพร้อมที่จะลงทุน เพราะก่อนหน้านี้ได้ลงนามข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ไว้กับจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น พัทยา บางละมุง และสัตหีบ เป็นต้น แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ โดยเฉพาะเงื่อนไขการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน และที่สำคัญคืออัตราค่าขยะในแต่ละพื้นที่ที่ยังไม่มีความชัดเจน ที่สำคัญต้องรอว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเปิดโควตารับซื้อไฟฟ้าจากขยะหรือไม่ ปริมาณรับซื้อและเงื่อนไขจะเป็นอย่างไร จึงยังไม่สามารถวางแผนการลงทุนที่ชัดเจนได้ ที่สำคัญไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำได้ตามเงื่อนไขที่ กกพ.กำหนดได้หรือไม่
ก่อนหน้านี้ได้นำเสนอภาครัฐว่าควรให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าขยะ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีกรอบการกำจัดขยะที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังสามารถประสานงานกับองค์กรส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพโดยตรงทันที รวมถึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการกำจัดขยะให้ความสำคัญในประเด็นการ "กำจัดขยะ" มากกว่าที่จะมองเรื่องการผลิต "ไฟฟ้า" เพราะจะทำให้ทุกฝ่ายมองแต่เพียงผลประโยชน์
"โรงไฟฟ้าขยะใหม่ ๆ เกิดขึ้นไม่ได้เพราะมองกันที่ประโยชน์เท่านั้น จนวันนี้ขยะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อประเมินศักยภาพขยะแล้วพบว่าสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ถึง 800 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตไทยจะกลายเป็นหัวใจของเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนแล้ว ปริมาณขยะก็จะเพิ่มขึ้น ภาครัฐต้องเตรียมแผนรองรับ"