หน่วยราชการ ไซน่า หมิงต๋า และกลุ่มชาวบ้าน ร่วมจัดเวทีเสวนาวิชาการ "เหมืองโปแตชวานรนิวาส" (1 ม.ค. 60)

Citizen Thai PBS 1 มกราคม 2559
10 ม.ค.นี้ เปิดเวทีเสวนาวิชาการ "เหมืองโปแตชวานรนิวาส"

กว่า 2 ทศวรรษที่รัฐบาลไทยกำหนดยุทธศาสตร์การผลิตแร่เกลือหินและเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ภาคอีสานเพื่อใช้ในการกิจกรรมอุตสาหกรรมเคมีและอุตสาหกรรมปุ๋ย โดยคาดหวังให้ไทย (ภาคอีสาน) เป็นศูนย์กลางการผลิตและการจำหน่ายปุ๋ยโปแตชและเกลือในภูมิภาคเอเชีย นำไปสู่การประกาศให้กว่า 10 พื้นที่ในภาคอีสานเป็นพื้นที่สำรวจ ทดลองและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแร่ ตามมาตรา 6 ทวิ แห่งพรบ.แร่พ.ศ.2510 ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ายื่นขอสำรวจแร่ในภาคอีสานกว่า 30 บริษัท อาทิ จังหวัดชัยภูมิ อุดรธานี นครราชสีมาและจังหวัดสกลนคร เป็นต้น

จากคำประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 ที่ระบุว่า อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพแร่เพียงพอที่จะพัฒนานำมาแร่มาใช้ประโยชน์ได้ ประกอบกับมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงสมควรเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์ยื่นคำขออาชญาบัตรเป็นกรณีพิเศษ ได้นำไปสู่การออกอาชบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ในพื้นที่ดังกล่าวแก่บริษัทไซน่า หมิงต๋า คอร์เปอเรชั่น ประเทศไทย (จำกัด) ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบลของอำเภอวานรนิวาส ประกอบด้วย ตำบลศรีวิชัย ตำบลคอนสวรรค์ ตำบลนาคำ ตำบลวานรนิวาส ตำบลขัวก่ายและตำบลธาตุ รวม 86 หมู่บ้าน จำนวน 12 แปลง คลอบคลุมพื้นที่ 116,874 ไร่ โดยอาชญาบัตรดังกล่าวมีอายุ 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2558 สิ้นสุดวันที่ 4 มกราคม 2563 อย่างไรก็ตามภายหลังการเข้าดำเนินการในพื้นที่ของบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช ฯ ก่อให้เกิดความตึงเครียดและกลายเป็นกระแสคัดค้านในพื้นที่ อันเนื่องมาจากข้อกำกัดการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการอย่างรอบด้าน ตลอดจนมุมมองและชุดความรู้ต่อการทำเหมืองโปแตชที่แตกต่างกัน

และด้วยความร่วมมือของศาลจังหวัดสว่างแดนดิน ที่ว่าการอำเภอวานรนิวาส บริษัทไซน่า หมิงต๋า โปแตชฯ และ ชาวบ้านกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กลุ่มอนุรักษ์ฮักน้ำยาม.แพงห้วยโทง กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด และประชาชนชาวอำเภอวานรนิวาส ตลอดจนภาคีเครือข่าย ได้กำหนดจัดเวทีสาธารณะเพื่อแสวงหาความรู้เรื่อง “เหมืองโปแตชวานรนิวาส: ชุมชนท้องถิ่น สิทธิ ประโยชน์และผลกระทบที่ต้องรับรู้” ในวันที่ 10 มกราคม 2560  ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร   ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนชุดความรู้และมุมมองเรื่องเหมืองโปแตชชุดต่างๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่และผู้สนใจ  ทั้งเรื่องความจำเป็นและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการทำเหมืองโปแตชทั้งในระดับประเทศและระดับชุมชนท้องถิ่น เทคนิควิธีการขุดเจาะสำรวจทางธรณีวิทยาและผลกระทบในด้านต่างๆ ที่จะตามมา และมาตรการป้องกันผลกระทบ

โดยเวทีเสวนาวิชาการในครั้งนี้ มีตัวแทนจากบริษัทไซน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์เปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้แก่ รศ.ดร.ปกรณ์ สุวานิช คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  นายดิเรก รัตนวิชช์  อดีตรองปลัดกระทรวงอึตสาหกรรม  รศ.ดร.กิติเทพ เฟื่องขจร สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ นายธัญญพัฒน์ หวังวงศ์สิริ  ผู้จัดการบริษัทไซน่า หมิงต๋าคอร์เปเรชั่น ประเทศไทย (จำกัด)  

ส่วนทางด้านตัวแทนจากภาคประชาชน ตัวแทนจากภาคประชาชน  ได้แก่ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่   ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  และนางสาวบำเพ็ญ ไชยรักษ์นักวิจัยอิสระ/ฝ่ายข้อมูลกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา

 

กำหนดการ

เวทีเสวนาสาธารณะเพื่อแสวงหาความรู้เรื่อง

“เหมืองโปแตชวานรนิสวาส: ชุมชนท้องถิ่น สิทธิ ประโยชน์และผลกระทบที่ต้องรับรู้

วันที่ 10 มกราคม 2560 เวลา09.00-15.00 น.

ณ หอประชุมอำเภอวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร

 

 

เวลา กิจกรรม หมายเหตุ
09.00 - 09.30 น.

พิธีเปิด

กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์การประชุม โดย ตัวแทนภาคประชาชน
กล่าวเปิด โดย ว่าที่ร้อยตรีรวยรุ่ง  ใครบุตร  นายอำเภอวานรนิวาสกล่าวเปิดงาน

 
09.30 - 12.00น. เวทีเสวนา ช่วงเช้า โดย วิทยากรทั้ง 8 ท่าน อยู่ระหว่างการจัดประเด็น
12.00 - 13.00 น. พักรับประทานอาหารเที่ยง  
13.00 - 14.00น. เวทีเสวนา ช่วงบ่าย โดยวิทยากรทั้ง 8 ท่าน อยู่ระหว่างการจัดประเด็น
14.00 - 15.00 น. ช่วงแลกเปลี่ยน-ซักถาม  
15.00 - 15.10น. ปิดการเสวนา โดย นายอำเภอวานรนิวาส  

 

ที่มา : นักข่าวพลเมืองจังหวัดสกลนคร