"น้ำตาไหล แต่ใจยังสู้" - 3 ปี คดีเพิกถอนประทานบัตรเหมืองทองเลย เมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง (28 ธ.ค. 59)

Citizen Thai PBS 28 ธันวาคม 2559
‘น้ำตาไหล แต่ใจยังสู้’ 3 ปี คดีเพิกถอนประทานบัตรเหมืองทองเลย เมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง

ความขัดแย้งที่ยาวนานของกรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ซึ่งมีคดีฟ้องร้องระหว่างเหมืองทองกับชาวบ้านมากกว่า 20 คดี วันนี้ ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาในคดีที่ชาวบ้านเกือบ 600 คน ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งคำตัดสินยกฟ้องในวันนี้ทำให้ชาวบ้านที่มาฟังคดีถึงกับหลั่งน้ำตา กับเหตุผลที่อ้างอิงหลักวิชาการแต่แย้งกับความรู้สึก

ศาลปกครองยกฟ้องคดีเพิกถอนประทานบัตรเหมืองทองเลย

วันนี้ (28 ธ.ค. 2558) เวลา 14.00 น. ศาลปกครองกลางออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่ชาวบ้าน 598 คน จาก 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ ตั้งแต่เมื่อปี 2556 เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้า

คดีนี้ กลุ่มชาวบ้านฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตร เลขที่ 26971/15558, 26972/15559, 26968 /15574, 26969/15575 และ 26970/15576 ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด รวม 5 ฉบับ บนพื้นที่ภูซำป่าบอนและภูทับฟ้า อ.วังสะพุง จ.เลย รวมทั้งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม เนื่องจากเห็นว่า หน่วยงานออกประทานบัตรโดยไม่ชอบและการประกอบกิจการก่อให้เกิดมลพิษ

คำพิพากษาศาล ระบุว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประทานบัตรทั้ง 5 ฉบับ และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ออกใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมรวมทั้งต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมให้แก่บริษัททุ่งคำฯ เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย

อีกทั้งได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฏหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการควบคุมการประกอบกิจการเหมืองแร่และการประกอบโลหกรรมของบริษัททุ่งคำฯ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือเกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน ดังนั้นการไม่เพิกถอนใบอนุญาตไม่ได้เป็นการละเลยต่อหน้าที่ พิพากษายกฟ้อง

คำพิพากษาชี้ ผลกระทบว่าพิสูจน์ไม่ได้ว่ามาจากเหมือง

นอกจากนี้ คำพิพากษาดังกล่าวได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม หรือเกิดอันตรายต่อการดำเนินชีวิตว่า จากที่สภาพบริเวณเหมืองทองและพื้นที่โดยรอบภาพหลังเปิดการทำเหมืองมีปริมาณไซยาไนด์และสารหนูปะปนอยู่ค่อนข้างสูง กพร.จึงมอบหมายให้สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษาการแพร่จระจายตัวและสาเหตุการปนเปื้อนโลหะหนักในเขตพื้นที่เหมืองทอง
 
ผลการศึกษาพบว่ามีการกระจายของสารหนูในดินและตะกอนท้องน้ำครอบคลุมทั้งพื้นที่ศึกษา แสดงให้เห็นว่าสารหนูมีค่าภูมิหลังในพื้นที่ค่อนข้างสูง

ส่วนไซยาไนด์มีการแพร่กระจายตัวหลายจุดในน้ำผิวดินช่วงเดือน พ.ค.ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน แต่จะมีปริมาณลดลงอย่างชัดเจนในเดือน ก.พ.ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง และไม่พบการกระจายตัวลงสู่น้ำใต้ดิน ยกเว้นพื้นที่ภายในเหมือง บ่งชี้ว่าสารไซยาไนด์อาจถูกชะล้างจากหลายพื้นที่ลงสู่ลำน้ำในช่วงฤดูฝน ไม่ได้รั่วไหลออกมาจากการประกอบกิจการของเหมืองแร่
 
ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ดังกล่าวสอดคล้องกับผลการตรวจสอบของกลุ่มกำกับและดฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2 สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กพร. ที่ได้ตรวจวัดคุณภาพน้ำบริเวณเหมืองแร่ทองคำภายหลังจากการเปิดเหมืองเปรียบเทียบระหว่างปี พ.ศ.2553-2556 พบว่าเดือน พ.ค.ซึ่งเป็นต้นฤดูฝนพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีปริมาณไซยาไนด์สูงกว่ามาตรฐานมากกว่าช่วงอื่นๆ

ส่วนการประกอบโลหะกรรมซึ่งมีการใช้สารละลายโซเดียมไซยาไนด์หากมีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายออกสู่ภายนอกย่อมเกิดอันตรายต่อสภาวะแวดล้อมตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนแน่นอน แต่เมื่อพิจารณาลักษณะการประกอบโลหะกรรมของบริษัททุ่งคำโดยใช้กระบวนการที่ไม่มีการปล่อยน้ำออกสู่ธรรมชาติ โดยหลักการสารไซยาไนด์จึงไม่อาจแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมได้ เห็นได้จากผลการตรวจสอบของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 9 ที่เก็บตัวอย่างน้ำในแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดินบริเวณน้ำซึมติดสันเขื่อนบ่อเก็บกักกากแร่ พบว่าปริมาณสารหนู แม่งกานีส และทองแดง มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่ไม่มีค่าไซยาไนด์เกินเกณฑ์มาตรฐาน

“ข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจสรุปได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและประกอบโลหะกรรมในลักษณะที่ก่อผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม หรือเกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง” 

ศาลยันความน่าเชื่อถืองานวิจัยนักวิชาการจุฬาฯ

A.กรณีผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ เมื่อเดือน ส.ค.2555 ที่อ้างว่าการตรวจพบการกระจายของโลหะหนักในธรรมชาติเนื่องจากเป็นพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทองคำและโลหะอื่นๆ ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจาก กพร.เป็นผูว่าจ้าง และการศึกษาเกิดขึ้นหลังจากการทำเหมืองมาแล้วหลายปี

ศาลเห็นว่า แม้การสำรวจจะเกิดจากการว่าจ้างของ กพร. แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับงานวิจัยของภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งยังสอดคล้องกันในแง่ว่า บริเวณเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำฯ เป็นพื้นที่ที่มีการกระจายตัวของสารหนูและโลหะหนักต่างๆ ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นปกติของพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทองคำ 

อีกทั้ง เนื่องจากเหมืองทองเป็นระบบปิด และพื้นที่โดยรอบเหมืองทองไม่ได้มีการตรวจพบไซยาไนด์ในปริมาณที่มีนัยสำคัญพอที่จะแสดงให้เห็นว่ามีการรั่วไหล ข้ออ้างกรณีนี้จึงไม่อาจรับฟังได้

A.กรณีผู้ฟ้องคดีอ้างว่า เมื่อวันที่ 26-27 ต.ค. 2555 เกิดเหตุการณ์สันเขื่อนบ่อเก็บกักกากแร่ด้านเหนือทรุดตัวและพังทลายลงมา เป็นระยะทางยาว 15-20 เมตร จนอาจทำให้น้ำที่มีไซยาไนด์และโลหะหนักปนเปื้อนไหลลงสู่บ่อน้ำธรรมชาติ และซึมสู่น้ำบาดาลได้

ศาลเห็นว่า กพร.ได้สั่งการให้บริษัทเหมืองหยุดการทำเหมืองทันที และให้ตรวจสอบความเสียหายและซ่อมแซมสันเขื่อนบ่อเก็บกักกากแร่ให้มั่นคงแข็งแรงโดยมีวิศวกรโยธาหรือสถาบันการศึกษามาตรวจสอบและรับรองผล ให้ดำเนินการตามมาตรการรักษาความปลอดภัยตามแผนผังโครงการ และให้จัดทำรายงานเสนอรายละเอียดกิจกรรมที่ดำเนินการไปแล้วและแผนการ้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคต ซึ่งบริษัททุ่งคำได้ดำเนินการตามคำสั่ง กพร.ประจำท้องที่จึงอนุญาตให้เปิดการทำเหมืองต่อได้

กพร. ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแล้ว

A กรณีผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผลการตรวจหาปริมาณไซยาไนด์ในเลือดของประชาชนที่อาศัยอยู่รอบเหมืองจำนวน 279 คน ในระหว่างวันที่ 21-25 ม.ค. 2551 มีค่าเกินมาตรฐานร้อยละ 2.87 และผลการเก็บตัวอย่างเลือดประชาชนเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2553 จำนวน 725 คน พบมีไซยาไนด์ในเลือดเกินมาตรฐานร้อยละ 17.10 

ศาลเห็นว่า ผลในปี 2551 เป็นการเก็บตัวอย่างเลือดของประชาชนในช่วงเดือน ม.ค.ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง ในขณะที่การเก็บตัวอย่างในปี 2553 เก็บในเดือน มิ.ย.ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน ค่าไซยาไนด์ดังกล่าวจึงสอดคล้องกับงานวิจัยของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ที่พบว่าบรืเวณดังกล่าวมีค่าไซยาไนด์ปนเปื้อนเกินมาตรฐานในช่วงฤดูฝน และยังไม่สามารถสรุปได้ว่าไซยาไนที่ปนเปื้อนมีที่มาอย่างไร

ส่วนกรณีที่มีการตรวจพบสารปรอทในเลือดกลุ่มตัวอย่างเกินมาตรฐานร้อยละ 6.6 ในปี 2553 ข้อเท็จจริงพบว่าการประกอบกิจการเหมืองแร่ของบริษัททุ่งคำไม่มีการใช้สารปรอทในกระบวนการผลิต ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ร่ำไห้หลังฟังผลคำพิพาพากษา แต่ยันสู้ต่อ

ผลคำตัดสินทำให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย กว่า 80 คน ที่มาฟังคำพิพากษาต้องหลั่งน้ำตา แม้ว่าจะบอกว่าคาดเดาผลคำพิพากษาได้จากการมารับฟังการแถลงคดีตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผลก็ออกมาในทิศทางเดียวกัน แต่ก็ยังรู้สึกผิดหวังกับคำพิพาษานี้

“ผู้พิพากษาเชื่อนักวิชาการ ไม่สนใจไทยบ้าน ดังนั้นต่อไปเราจะสู้ด้วยลำแข้ง เมื่อกฎหมายเราสู้ไม่ได้” วิรอน รุจิไชยวัฒน์ กล่าว

ส่วน พรทิพย์ หงษ์ชัย กล่าวว่า ผลของคดีวันนี้ทำให้ชาวบ้านเห็นว่าการต่อสู้ไม่ได้ได้มาด้วยการร้องขอ ส่วนน้ำตาที่ไหลไม่ได้มีเพราะเป็นผู้แพ้ วันนี้ชาวบ้านไม่ได้แพ้ แต่เสียใจเพราะรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม มาจากความรู้สึกขมขื่นใจที่ผู้มีอำนาจมองไม่เห็นหัวชาวบ้านที่ต้องทนทุกข์มาเป็น 10 ปี และถูกกระทำมาเป็น 10 ปี 

“ไม่ว่าจะแพ้หรือจะชนะ เราก็จะสู้ต่อไป” ระนอง กองแสง

ขณะที่ สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เดินทางมาร่วมให้ให้กำลังใจชาวบ้าน กล่าวกับชาวบ้านหลังฟังคำตัดสินว่า ได้ติดตามข่าวเหมืองแร่ทองคำ และติดตามการต่อสู้ของกลุ่มชาวบ้านมาตลอด คิดว่าการต่อสู้ของชาวบ้านและเป็นต้นแบบให้สังคมไทยหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องการปกป้องชุมชน และการรักษาสิทธิชุมชน การต่อสู้ต้องมีอุปสรรค์ อย่างไรก็ตามขอให้กำลังใจชาวบ้านให้เดินหน้าสู้ต่อ

ด้าน ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนซึ่งมาสังเกตุการณ์คดีระบุว่า ชาวบ้านสามารถยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อได้ในชั้นศาลปกครองสูงสุด ภายในเวลา 30 วัน ซึ่งทนายความเจ้าของคดีคงจะได้มีการพูดคุยกับชาวบ้านต่อไป

โหลดลิงค์: สรุปคำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีฟ้องเพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย 

http://www.admincourt.go.th/admincourt/site/08news_detail.php?ids=15706