ก.พลังงาน จ่อรื้อใหญ่แผนพีดีพี 2015 ชี้ กฟผ. "ส่อขัด รธน." - คาดล้มถ่านหินกระบี่ (27 ธ.ค. 59)
Green News TV 27 ธันวาคม 2559
ก.พลังงานจ่อรื้อใหญ่แผนพีดีพี2015ชี้‘กฟผ.’ส่อขัดรธน.–คาดล้มถ่านหิน‘กระบี่’
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เผย มีแนวโน้มจะรื้อใหญ่แผนพีดีพี 2015 ช่วงต้นปี 2560 ระบุ 4 เงื่อนไขสำคัญ ชี้ กฟผ.ส่อขัดรัฐธรรมนูญเหตุมีกำลังการผลิตไม่ถึง 50% ของประเทศ
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2559 โดยอ้างอิงแหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ที่ระบุว่า อาจมีการปรับเปลี่ยนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2558-2579 (พีดีพี 2015) ภายหลังพบปัญหาความล่าช้าของการพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้า รวมถึงกำลังการผลิตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่อยู่ต่ำกว่า 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวกับประชาชาติธุรกิจว่า มีการคาดการณ์ว่าในช่วงต้นปี 2560 อาจจะมีการตัดสินใจปรับแผนพีดีพี 2015 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หากยังไม่มีความชัดเจนใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ ไม่สามารถพัฒนาได้ ก็อาจถูกถอดออกจากแผน
2.ความล่าช้าของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งอาจทำให้ต้องตัดสินใจยกเลิกและเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทดแทน 3.ความชัดเจนในการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ ที่ชนะการประมูลรวม 5,000 เมกะวัตต์ 4.การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2560
แหล่งข่าว กล่าวกับประชาชาติธุรกิจอีกว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตในส่วนของ กฟผ.อยู่ที่ 37% ของกำลังการผลิตทั้งหมด และตามแผนพีดีพี 2015 จะค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงท้ายของแผนคือในปี 2579 ซึ่งจะลดลงเหลือไม่ถึง 30% ของกำลังผลิตรวมที่ 7 หมื่นเมกะวัตต์ (กฟผ.มีเพียง 2.1 หมื่นเมกะวัตต์) ในขณะที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่ารัฐวิสาหกิจที่ดูแลระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศจะต้องมีสัดส่วนครึ่งหนึ่ง หรือ 50%
“เท่ากับว่าขณะนี้ กฟผ.อาจกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้มีการท้วงติงในประเด็นนี้เช่นกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร”แหล่งข่าวกล่าวกับประชาชาติธุรกิจ
แหล่งข่าวรายเดียวกันนี้ กล่าวอีกว่า การเพิ่มกำลังผลิตของ กฟผ.อาจจะต้องใช้เวลา โดย กฟผ.วางเป้าหมายที่จะเพิ่มในส่วนของพลังงานทดแทนอีก 20% หรือประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งค่อนข้างยากในการดำเนินการ เนื่องจากส่วนใหญ่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนเป็นหลัก
“จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา กฟผ.มีการสร้างโรงไฟฟ้าต่อเนื่อง แต่เป็นส่วนที่ใช้ทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุ นั่นเท่ากับว่าในช่วงที่ผ่านมา กฟผ.ไม่มีกำลังผลิตเพิ่มเติม และยังมีแนวโน้มลดลง ซึ่งกระทรวงพลังงานอาจจะต้องเข้ามาแก้ไขในประเด็นนี้ เพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า”แหล่งข่าว ระบุ