ภาค ปชช. 20 องค์กรค้าน "ระเบิดแก่งโขง" ซัด ครม. ผิดพลาดรุนแรง ไทยเสียดินแดนอื้อ (28 ธ.ค. 59)
Green News TV 28 ธันวาคม 2559
ภาคปชช.20องค์กรค้านระเบิด‘แก่งโขง’ซัดครม.ผิดพลาดรุนแรง–‘ไทย’เสียดินแดนอื้อ
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง พร้อมภาคี ร่อนแถลงการณ์คัดค้านมติ ครม.ไฟเขียว ‘จีน’ ระเบิดเกาะแก่ง เปิดทางเดินเรือพาณิชย์ 500 ตัน ชี้รัฐบาลผิดพลาดรุนแรง อาจส่งผลไทยเสียดินแดนเป็นวงกว้าง
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และภาคีเครือข่ายรวม 20 องค์กร ร่วมกันออกแถลงการณ์เรื่อง “ยุติโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ปกป้องผืนดินไทย และระบบนิเวศ-มรดกทางธรรมชาติ” เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2559 เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2559 ที่เห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ.2558-2568 และเห็นชอบการดำเนินงานเบื้องต้นในโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (งานศึกษา สำรวจ ออกแบบ)
สาระสำคัญของแถลงการณ์ ระบุว่า การยินยอมให้ดำเนินโครงการปรังปรุงร่องน้ำฯ ของรัฐบาลไทย ถือเป็นความผิดพลาดอย่างรุนแรง เพราะโครงการดังกล่าวจะสร้างความเสี่ยงและผลกระทบร้ายแรง ดังนั้นเครือข่ายฯ และองค์กรภาคีฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติโครงการทันที เพื่อปกป้องผืนดินไทยและระบบนิเวศอันทรงคุณค่า
“เหตุผลในการผ่านมติ ครม.ครั้งนี้ มีเบื้องลึกหรือข้อตกลงพิเศษกับจีนอยู่เบื้องหลังหรือไม่ สิ่งนี้ต้องอธิบายให้ประชาชนได้รับทราบทันที”ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ
สำหรับผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมจากโครงการฯ ตามที่เครือข่ายฯ แสดงความกังวล มีด้วยกัน 7 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ทำลาย “แก่งคอนผีหลง” ซึ่งเป็นแก่งขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขง บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ที่ จ.เชียงราย รวมถึงแก่งอื่นๆ ในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นมรดกทางธรรมชาติอันทรงคุณค่า มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และสลับซับซ้อน การทำลายแก่งเท่ากับทำลายบ้านของปลาและนก และแหล่งอาหารของชุมชนริมฝั่งโขงทั้งสองประเทศ
2.ทำลายแหล่งพืชพรรณบนแก่งริมฝั่งน้ำ และหาดแม่น้ำโขง ซึ่งมีความสำคัญต่อการชะลอการไหลหลากของแม่น้ำโขง และเป็นอาหารสำคัญของปลาชนิดกินพืช รวมถึง “ไก” สาหร่ายแม่น้ำเฉพาะถิ่นที่เป็นรายได้สำคัญของคนริมฝั่งโขงในช่วงฤดูแล้ง
3.เกิดการพังทลายของชายฝั่ง และทำลายการเดินเรือของประชาชนริมฝั่งโขงทั้งไทยและลาว การระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงจะทำให้เกิดกระแสน้ำที่ไหลแรงและเร็วมากขึ้น กัดเซาะตลิ่งจนแม่น้ำกว้างขึ้น ส่งผลต่อการเดินเรือของชาวบ้านใน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวฯ ยังได้มีข้อกำหนดห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปทำการที่กีดขวางการเดินเรือพาณิชย์ อาทิ ห้ามวางอวนจับปลาในแม่น้ำโขง ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสองฝั่งโขง ประสบปัญหาในการประกอบอาชีพประมงเป็นอย่างมาก
4.ปัจจุบันมีการขนส่งผ่าน ถ.เอเชีย หมายเลข 13 และ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ – ห้วยทราย) ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเติบโตอยู่แล้ว และปัจจุบันก็ยังมีเรือขนส่งสินค้าจากมณฑลยูนานถึงท่าเรือเชียงแสนได้ตลอดปี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ แต่โครงการฯ เพื่อเปิดทางให้เรือสินค้าขนาด 500 ตัน จะเป็นประโยชน์ของจีนเพียงประเทศเดียว ซึ่งต้องแลกกับทำลายระบบนิเวศสำคัญของแม่น้ำโขง จึงไม่มีความคุ้มค่าแต่อย่างใด
5.การปักปันเขตแดน ไทย-ลาว ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส ใช้ร่องน้ำลึกเป็นตัวชี้วัด หากมีการระเบิดแก่งปรับปรุงร่องน้ำ ก็จะทำให้ไทยสูญเสียดินแดนเป็นบริเวณกว้าง หากปล่อยให้เกิดการระเบิดแก่งขึ้นได้ตามโครงการดังกล่าว อาจเปิดโอกาสให้ประเทศเพื่อนบ้านละเมิดอธิปไตยของไทยได้ และเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดน
“เหตุผลข้อนี้เองที่ก่อนหน้านี้ในปี 2546 ครม.ได้มีมติให้ชะลอโครงการและให้มีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและเสนอให้กระทรวงกลาโหมจัดทำข้อตกลงกับประเทศลาวให้แล้วเสร็จในปี 2546 และทำให้โครงการยุติมาจนปัจจุบัน” แถลงการณ์ ระบุ
6.ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดว่าโครงการที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดินแดนจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ปรากฏว่า มติครม.ดังกล่าว ยังมิได้ผ่านความเห็นของจากรัฐสภาแต่อย่างใด อันเป็นการละเมิดกฎหมายภายในประเทศ
7.โครงการนี้เป็นโครงการที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำนานาชาติ ซึ่งมีกฎหมายระหว่างประเทศคุ้มครองการดำเนินโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน การลงนามร่วมกันของ 4 ประเทศ โดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับกัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโครงการเช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม อีกทั้งยังขัดต่อทั้งข้อตกลงแม่น้ำโขงว่าด้วย กระบวนการ PNPCA และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยการบริหารจัดการแม่น้ำนานาชาติอีกด้วย
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า เบื้องต้นภายใน 1-2 วัน จะมีการทำหนังสือคัดค้านเพื่อยื่นถึงบริษัท CCCC Second Habor Consultant เจ้าของสัมปทานโครงการปรับปรุงร่องน้ำจากประเทศจีน พร้อมกับยื่นถึงรัฐบาลไทย เพื่อชี้แจงให้ทราบว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่ประโยชน์ของไทย แต่เป็นประโยชน์ของจีนที่ความเสียหายตกอยู่กับไทย
“เรายืนยันไปตั้งแต่วันนั้นแล้วว่าถึงแม้รัฐบาลไทยจะเห็นอย่างไร ในฐานะกลุ่มคนท้องถิ่นเราต้องลุกขึ้นมาปกป้องแน่นอน เพราะเรามีเหตุผลและข้อมูลจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่า การอนุญาตให้จีนมาทำแบบนี้มันทำให้ชาวบ้านเสียหาย ท้องถิ่นเสียผลประโยชน์ ไม่มีใครได้ มีแต่จีนแค่นั้น ส่วนท้องถิ่นจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไรจะมีการพูดคุยกันต่อไป” นายนิวัฒน์ กล่าว
อนึ่ง ภาคีเครือข่ายลุ่มแม่น้ำโขง 20 องค์กร ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ ประกอบด้วย 1.เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง 2.เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมล้านนา 3.เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) 4.สมาคมคนฮักถิ่น จ.อำนาจเจริญ 5.กลุ่มรักษ์เชียงของ
6.เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน 7.ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำชีตอนล่าง 8.เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลราชธานี 9.กลุ่มรักษ์เชียงคาน 10.สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต 11.สมาคมสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง 12.ภาคีความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์แม่น้ำอิง 13.www.mymekong.org 14.มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน 15.สมาคมรักษ์ทะเลไทย
16.มหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ 17.โครงการอาหารปันรัก 18.สมาคมเพื่อผู้บริโภคสงขลา 19.มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (Thai-Water Partnership) 20.เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน