ระดมสมองแก้วิกฤตขยะ "27 ล้านตันต่อปี" กำจัดต้นทางลดผลกระทบ-งบประมาณ (23 ธ.ค. 59)

Green News TV 23 ธันวาคม 2559
ระดมสมองแก้วิกฤตขยะ 27 ล้านตันต่อปี กำจัด ‘ต้นทาง’ ลดผลกระทบ-งบประมาณ

สช.จัดเวทีระดมความเห็นผลักนโยบายลดปริมาณขยะ ถอดบทเรียนพบพุ่งเป้ากำจัดตั้งแต่ “ต้นทาง” เป็นวิธีที่ดีที่สุด ชี้ประเทศสูญงบจัดการขยะกว่าปีละ 2.5 หมื่นล้าน กำจัดถูกต้องเพียง 30%

ผศ.บุญส่ง ไข่เกษ นายกสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายสาธารณะ ร่างมติการลดปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่แหล่งกำเนิดอย่างยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยในเวทีเสวนา “การลดปริมาณขยะยุค Thailand 4.0” เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า จากการศึกษารวบรวมปัญหาที่ผ่านมา สรุปได้ว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะที่เหมาะสมคือการลดปริมาณขยะที่แหล่งกำเนิดให้ได้มากที่สุดเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะดำเนินแนวทางจัดการขยะในขั้นต่อไป

ผศ.บุญส่ง กล่าวว่า การลดขยะที่แหล่งกำเนิดมีผลดีคือ 1.ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ เพราะมีขยะเกิดขึ้นให้กำจัดน้อยลง 2.ลดการใช้พื้นที่เพื่อจัดการขยะ ไม่ว่าจะเป็นบ่อขยะหรือเตาเผาที่ได้สร้างปัญหาและความขัดแย้งในหลายชุมชน 3.ลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 4.ช่วยประหยัดทรัพยากร เนื่องจากสามารถลดอัตราการผลิตที่มากเกินความจำเป็น และ 5.ช่วยลดปัญหาโลกร้อนในอีกทางหนึ่ง

สำหรับสถานการณ์ขยะมูลฝอยปัจจุบัน มีอัตราการผลิตขยะต่อวันเฉลี่ย 1.11 กิโลกรัมต่อคน รวมแล้วมีปริมาณขยะเกิดขึ้นเฉลี่ย 27 ล้านตันต่อปี และแม้จะมีการสูญเสียงบประมาณกำจัดทั่วประเทศปีละราว 2.5 หมื่นล้านบาท แต่ในจำนวนนี้กลับได้รับการกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะเพียง 8 ล้านตันต่อปี ขณะที่อีก 19 ล้านตันต่อปีถูกจัดการอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ ส่งผลให้เกิดปัญหากระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันทั่วประเทศมีขยะตกค้างประมาณ 27 ล้านตัน

ผศ.บุญส่ง กล่าวอีกว่า หลักการสำคัญของแนวทางดังกล่าว นอกจากยึดหลักจัดการขยะ 3R อันได้แก่ Reduce Reuse และ Recycle แล้ว ยังต้องบวกอีก 1R คือ Rethink หมายความว่าต้องให้ประชาชนทุกคนร่วมตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ด้วย และยังรวมถึงแนวทางปัจจัยอื่นอันได้แก่ 1.การกำหนดนโยบาย 2.การจัดการขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 3.การสนับสนุนงบประมาณแก่ อปท. 4.มาตรการเสริมการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและเอกชน 5.มาตรการทางกฎหมาย

“การเสวนาครั้งนี้จะระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม และร่างมติการลดปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนฯ เสนอต่อ สช. ซึ่งการจัดการขยะจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะเมื่อขยะเกิดจากทุกคน สอดคล้องกับหลักสากลที่ให้ผู้ก่อเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบ” ผศ.บุญส่ง กล่าว

ทั้งนี้ ภายในเวทีได้มีการแสดงความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยมีการเสนอแนะในหลายประเด็น อาทิ เพิ่มการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพิ่มการศึกษาเพื่อปลูกฝังในทุกระดับชั้น แก้ปัญหาความไม่ต่อเนื่องของนโยบายและผู้บริหารในระดับท้องถิ่น ส่งเสริมการจัดทำข้อมูลเชิงสถิติและการติดตาม สนับสนุนงบประมาณในท้องถิ่นที่ขาดแคลน มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ย่อยสลายง่าย ผลักดันกฎหมายหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น เพิ่มมาตรการจูงใจธุรกิจเพื่อจัดการขยะที่เกิดจากตนเอง เป็นต้น