อุตฯ ลิดอำนาจกรมโรงงานออก รง.4 จี้คุมเรื่องผิดกฎหมาย - จ่อฟัน 1 พันแห่งมลพิษริมน้ำ (22 ธ.ค. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 22 ธันวาคม 2559
อุตฯลิดอำนาจกรมโรงงานออกรง.4 จี้คุมเรื่องผิดกฎหมาย-จ่อฟัน1พันแห่งมลพิษริมน้ำ

"ปลัดสมชาย" รื้อใหญ่โครงสร้างใหม่กระทรวงอุตสาหกรรมอีกรอบ พลิกโฉม 6 กรมในสังกัด โดยเฉพาะปรับบทบาท โยกย้ายระดับ "′กอง" ข้ามห้วยไปอีกกรมให้เข้าที่เหมาะสม โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะลดการออกใบอนุญาต รง.4 เพิ่มการคุมเข้มโรงงานทำผิดกฎหมาย เผยเร่งตรวจสอบโรงงานริมแม่น้ำอีก 1,000 แห่ง หากพบผิดกฎหมายสั่งฟันทันที

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำการปรับปรุงแผนการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมใหม่อีกครั้งโดย6 กรมภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะมีการปรับเปลี่ยนบทบาททั้งเพิ่มและลดการทำงาน โดยจะเริ่มวางโครงสร้างเรื่องบุคลากร รวมถึงจัดสรรโยกย้ายหน่วยงาน กองในสังกัดบางหน่วยงานให้ไปสังกัดภายใต้หน่วยงานใหม่ เพื่อให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้ การกำหนดภารกิจใหม่ที่ชัดเจนขึ้น การปรับบทบาททุกกรมจะมุ่งไปเรื่องการพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการโดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะลดเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบโรงงานอุตสาหกรรม (รง.4) และจะเพิ่มงานด้านสนับสนุนให้แต่ละโรงงานดำเนินตามกฎหมาย รวมถึงการตรวจโรงงานที่กระทำความผิด

ตามขั้นตอนหลังจากจัดทำแผนเสร็จ ต้องส่งเรื่องไปยังเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณา หลังจากได้สรุปภาพรวมทั้งหมดให้กับนางอรรชกา สีบุญเรือง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารพิจารณาเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯใหม่ ต้องนำเรื่องที่หารือกับก.พ.และก.พ.ร.นำเสนอให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาอีกครั้ง ก่อนนำเสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา จากนั้นจะนำส่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบ และเตรียมประกาศใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า

สำหรับ 6 กรมในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะปรับบทบาทหลัก ๆ เช่น กรอ. จะลดการให้ใบอนุญาตประกอบโรงงานอุตสาหกรรม (รง.4) และจะเพิ่มงานด้านสนับสนุนให้แต่ละโรงงานดำเนินตามกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรการป้องกันเรื่องมลพิษ น้ำเสีย และเตือนภัย รวมถึงการตรวจโรงงานที่กระทำความผิด รวมถึงเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ เช่น การร้องเรียนเรื่องปัญหาน้ำเสีย ส่งกลิ่นเหม็นซ้ำซาก ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินการลงพื้นที่ตรวจแล้วประมาณ 29 โรงงาน เบื้องต้นสั่งปรับปรุง 2 โรงงาน สั่งหยุดดำเนินกิจการเพื่อปรับปรุง 4 โรงงาน และเพิกถอนใบอนุญาต 2 โรงงาน คือ บริษัท ไมด้า วัน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ผลิตเรซิ่น โดยได้ดำเนินการสั่งปิดไปเมื่อ 22 ก.ค. 59 และได้ดำเนินการสั่งปิดบริษัท เจซีซีบี บิสซิเนส จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานสกัดน้ำมันหล่อลื่นไปเมื่อ 22 พ.ค. 59 เนื่องจากได้รับการร้องเรียนเรื่องปัญหาน้ำเสีย และกลิ่นเช่นกัน

นอกจากนี้ จะเริ่มตรวจสอบโรงงานริมฝั่งแม่น้ำอีกประมาณ 1,000 แห่ง โดยให้ผู้ตรวจการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัดเข้าไปมีบทบาทดำเนินการ เพื่อพิจารณาและสั่งการให้ผู้อำนวยการศูนย์ภาค และชี้แจงถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณากำหนดด้านการพัฒนาส่งเสริมมูลค่า 7,000 ล้านบาท ให้กับระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น ภายใต้โครงการ Local Economy

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มี 2 บทบาท 1.ด้านการพัฒนาสนับสนุน เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ให้มีการออกใบอนุญาตมากขึ้นจากปัจจุบันมีเพียง 1,300 ใบอนุญาตเท่านั้น กำหนดมาตรการพัฒนาผู้ประกอบการ ติดตามประเมินผลงาน มผช. โดยในเชิงปฏิบัติจะต้องลงไปยังพื้นที่มากขึ้น 2.ลดบทบาทการตรวจทดสอบลง และมอบหมายให้หน่วยตรวจ (IB) ขณะที่งานหลักจะเน้นส่งเสริมและกำกับออกมาตรฐาน

สำหรับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) มี 2 บทบาท 1.วางนโยบาย บริหารจัดการ การพิจารณาอนุญาตเขตพื้นที่ตั้งโรงงานน้ำตาล 2.ทำงานวิจัยเพื่อประโยชน์เสริมให้กับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) แปรรูปการเกษตรโดยพัฒนาพืชไร่อย่างอ้อย มันสำปะหลัง ไปใช้ต่อยอดในอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ

ส่วนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เน้นการพัฒนาวัตถุดิบแร่ในประเทศ กำหนดและควบคุมการทำเหมืองแร่ในประเทศที่ต้องไปเสริมกับการพัฒนาประเทศ สามารถนำแร่มาใช้ อย่างไรก็ตาม ในส่วน ก.พ.ร.ได้มีการจัดสรรโยกย้ายหน่วยงาน กองในสังกัดบางหน่วยงาน เช่น สำนักโลจิสติกส์เดิมอยู่กับ กพร. ซึ่งคาดว่าจะย้ายมาอยู่ภายใต้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (กสอ.) และเปลี่ยนเป็นสำนักโลจิสติกส์ระดับเทียบเท่าสำนัก รวมถึงเพิ่มงานด้านผลิตภาพ

ขณะที่ กสอ.เน้นการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยต้องส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจทั่วไป สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และ สศอ.จะเป็นผู้วางยุทธศาสตร์ของทั้งกระทรวง รวมทั้งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพใหญ่ทั้งประเทศรวมกับ S-Curve

สำหรับสถาบันเครือข่าย 11 แห่ง ได้แก่ สถาบันไทย-เยอรมัน, สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, สถาบันอาหาร, สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, สถาบันรับรองมาตรฐาน ISO, สถาบันยานยนต์, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย, สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, สถาบันพลาสติก และสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย เพิ่มภารกิจให้มาสนับสนุนงาน (S-Curve)