ก.พลังงาน เตรียมรื้อแผนไฟฟ้าP DP กำลังผลิต 6,340MW เลื่อนลอย - กฟผ.ถูกแย่งแชร์ (25 ธ.ค. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 25 ธันวาคม 2559
ก.พลังงานเตรียมรื้อแผนไฟฟ้าPDP กำลังผลิต6,340MWเลื่อนลอย-กฟผ.ถูกแย่งแชร์

ลุ้น ปี"60 รื้อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ หลัง 4 ประเด็นรุมเร้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเอกชน-กฟผ.ล่าช้า จ่อถอดออกจากแผน ส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซของเอกชน 5,000 เมกะวัตต์ ค้างเติ่งอยู่ระหว่างเจรจาหาทางออก และภาวะเศรษฐกิจที่อาจขยายตัวช่วงรอยต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เล็งพิจารณากำลังผลิตกฟผ. ที่เหลือเพียง 37% หวั่นทำผิดกฎหมายเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ที่ 50% 

แหล่งข่าวจาก กระทรวงพลังงาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มีการคาดการณ์ว่าในช่วงต้นปี 2560 อาจจะมีการตัดสินใจปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan 2558-2579) ที่ใช้ในปัจจุบัน หากไม่มีความชัดเจนใน 4 ประเด็นคือ 1) โรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังผลิต 540 เมกะวัตต์ ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ไม่สามารถพัฒนาได้และถูกถอดออกจากแผน PDP 2) ความล่าช้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หรือการตัดสินใจยกเลิกและเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทดแทน 3) โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) คือกลุ่มบริษัท กัลฟ์ที่ชนะการประมูลรวม 5,000 เมกะวัตต์ และจะทยอยเข้าระบบปีละ 2.500 เมกะวัตต์ จะดำเนินการต่ออย่างไร และ 4) ภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในปี 2560 ไม่ว่าจะปรับขึ้นหรือลดลงก็ตาม 

สำหรับ กรณีของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ฯนั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ในระหว่างเจรจาว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากตามแผนเดิมโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะต้องเข้าระบบภายในปี 2560 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ที่สำคัญไม่ได้มีกรอบเวลากำหนดว่าในกรณีที่ดำเนินการล่าช้านั้นจะต้องสรุป ให้ได้ภายในกี่ปี ในส่วนของผู้ผลิต IPP กระทรวงพลังงานกำลังเจรจาเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุด เช่น อาจจะลดกำลังผลิตของ IPP ลงครึ่งหนึ่งจากที่ประมูลได้ หรือปรับเลื่อนเวลาผลิตไฟฟ้าเข้าระบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณสำรองในระบบที่ยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้อาจจะมีการเจรจาเพื่อขอปรับเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพ สูงเพื่อลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลง 

"บางโครงการควรชัดเจนว่าจะเดินหน้า ต่ออย่างไร เช่นส่วนของผู้ผลิตไฟฟ้า IPP ทั้ง 4 ประเด็นข้างต้นนั้นจะต้องเร่งเจรจาเพื่อให้ได้ข้อสรุป เพื่อจะนำมาปรับแผน PDP ซึ่งอาจจะปรับเล็ก ๆ ก็ได้"

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กำลังผลิตในส่วนของ กฟผ.ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 37 และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงท้ายแผน PDP คือในปี 2579 จะลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 30 ของกำลังผลิตรวมที่ 70,000 เมกะวัตต์ (หรือประมาณ 21,000 เมกะวัตต์) ทั้งที่ในความเป็นจริง กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้า จึงควรมีกำลังผลิตในมือที่ระดับร้อยละ 50 ซึ่งมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนว่ารัฐวิสาหกิจที่ดูแลระบบ สาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศจะต้องมีสัดส่วนครึ่งหนึ่ง ฉะนั้นเท่ากับว่าขณะนี้ กฟผ.อาจกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้มีการท้วงติงในประเด็นนี้เช่นกัน 

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร

ทั้งนี้ การเพิ่มกำลังผลิตของ กฟผ.อาจจะต้องใช้เวลา โดยวางเป้าหมายที่จะเพิ่มในส่วนของพลังงานทดแทนร้อยละ 20 หรือประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งค่อนข้างยาก เนื่องจากการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ กกพ.จะรับซื้อจากภาคเอกชนเป็นหลัก นอกจากนี้ในกรณีที่ชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ออกไปแล้ว ที่อาจมีการพิจารณาให้เปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติแทนนั้น กำลังผลิตในส่วนนี้อาจต้องให้ กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาต่อไป

"สัดส่วน กำลังการผลิตของ กฟผ.ถูกแย่งแชร์ไปโดยพลังงานทดแทน กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก หรือ SPP และการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นในรูปแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำและ อื่น ๆ ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า กฟผ.มีการสร้างโรงไฟฟ้าต่อเนื่อง แต่เป็นส่วนที่ใช้ทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุ เท่ากับว่าในช่วงที่ผ่านมา กฟผ.ไม่มีกำลังผลิตเพิ่มเติม และยังมีแนวโน้มลดลง ก.พลังงานอาจจะต้องเข้ามาแก้ไขในประเด็นนี้ เพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า"

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุถึง แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าว่า แผนดังกล่าวกำหนดให้ภายในปี 2579 จะมีกำลังผลิตติดตั้งรวม 70,335 เมกะวัตต์ เท่ากับว่าจะต้องมีกำลังผลิตใหม่ 57,459 เมกะวัตต์ รวมถึงมีกำลังผลิตที่ต้องปลดออกจากระบบ 24,736 เมกะวัตต์ แผน PDP ฉบับนี้ต้องการลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าให้ลดลงเหลือเพียง ร้อยละ 30-40 

จากปัจจุบันที่ใช้อยู่ถึงร้อยละ 64 และไปเพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงประเภทอื่นคือ รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มเป็นร้อยละ 20 (จากเดิมที่ร้อยละ 7) ถ่านหินเพิ่มเป็นร้อยละ 20-25 พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 15-20