กนอ. ฟุ้งนิคมอุตสาหกรรมเนื้อหอม ขยายตัว 13% (24 มิ.ย. 56)

ไทยรัฐออนไลน์  24 มิถุนายน 2556 
กนอ.ฟุ้งนิคมอุตสาหกรรมเนื้อหอมขยายตัว 13%

กนอ.ฟุ้งนิคมอุตสาหกรรมเนื้อหอมขยายตัว 13% เมื่อเทียบจากปีก่อน ส่วนแผนขยายพื้นที่อุตสาหกรรมเอกชนสนใจเสนอแล้ว 28 โครงการ ส่วนแผนกันน้ำท่วมบรรลุแล้ว 95%...

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยว่า ปัจจุบันนิคมฯ ในประเทศไทย มีทั้งหมด 48 นิคม ใน 15 จังหวัด แบ่งเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้น 144,679 ไร่ พื้นที่สำหรับเช่า/ขาย จำนวน 88,308 ไร่ พื้นที่ขาย/เช่าแล้ว 74,568 ไร่ จึงมีพื้นที่เหลือสำหรับขาย/เช่า 13,740 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท มีการจ้างงาน 530,601 คน มีจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด 4,082 ราย

"สำหรับยอดขายเปรียบเทียบการขาย/ให้เช่าพื้นที่โดยปี 2556 พื้นที่ขาย/ให้เช่า (ต.ค.55-พ.ค.56) จำนวน 3,267 ไร่ เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2555 พื้นที่บาย/ให้เช่า (ต.ค.54-พ.ค.55) จำนวน 2,883 ไร่ เพิ่มขึ้น 384 ไร่ คิดเป็น 13.31% สะท้อนให้เห็นว่า กระแสการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่่อน" ผู้ว่า กนอ. กล่าว

ส่วนความคืบหน้าด้านการเพิ่มพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐบาล โดย กนอ. ได้ออกประกาศชักชวนเอกชนเพื่อเสนอพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม SMEs (ทั่วประเทศ) นิคมอุตสาหกรรมเชียงของ และนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (8 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา นครพนม อุบลราชธานี สกลนค มุกดาหาร หนองคาย) ล่าสุดภาคเอกชนให้ความสนใจ พร้อมเสนอพื้นที่แล้วจำนวน 28 โครงการ

สำหรับการขยายพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมนั้นตั้งเป้าไว้ที่ 13 โครงการ แต่ปรากฏว่าเอกชนให้ความสนใจเสนอมาถึง 28 โครงการ โดยแบ่งออกเป็น พัฒนาพื้นที่ฯ กลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) 18 โครงการ (วงเงินพัฒนา 2,886 ลบ.) พัฒนาพื้นที่ฯ ด้านโลจิสติกส์ และการค้าชายแดน 4 โครงการ (วงเงินพัฒนา 3,660 ลบ.) และพัฒนาพื้นที่ฯ ตามพื้นที่เป้าหมาย (Area Base) 6 โครงการ (วงเงินพัฒนา 14,699 ลบ.)

"เกี่ยวกับเรื่องการขยายพื้นที่อุตสาหกรรม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสาร และลงพื้นที่จริง เพื่อดูความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องในแง่ของกฎหมาย คาดจะสามารถส่งเรื่องเข้าที่ประชุม กนอ. ได้ภายใน 60 วัน และในวันพรุ่งนี้ (25 มิ.ย.) จะมีการประชุม โดยจะมีการพิจารณาโครงการที่มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และนโยบายของการนิคมอุตสาหกรรมต่อไป"

นอกจากนี้ ในด้านการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันน้ำท่วมรอบนิคมฯ โดยระบบป้องกันน้ำท่วมทั้งหมดแล้วเสร็จกว่า 95% คาดจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ 100% ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

ผู้ว่า กนอ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ปัตตานี แผนพัฒนาโครงการระยะแรก 170 ไร่นั้น ยืนยันว่าแผนพัฒนานี้ยังคงต้องดำเนินการต่อ แต่เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ทำให้ภาคเอกชนต้องหยุดพัฒนาโครงการไป แต่ในระหว่างนี้อยู่ในช่วงการหาผู้ดำเนินการรายใหม่เข้ามาแทน

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม คือการ ก้าวขึ้นเป็นนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำ ภายใต้แผนการพัฒนาผ่านกลยุทธ์ 3Gs ได้แก่ Green Strategy, Growth Strategy และ Great Strategy ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นแนวทางขับเคลื่อนให้การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไปสู่ความเป็นเลิศในภูมิภาคอาเซียนต่อไป.