กฟผ. นำชมโรงไฟฟ้าฮิตาชินากะ "ต้นแบบเทคโนโลยีถ่านหินกระบี่" (22 ธ.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจ 22 ธันวาคม 2559
โรงไฟฟ้า "ฮิตาชินากะ" ต้นแบบเทคโนโลยีถ่านหินกระบี่
การพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan 2558-2579) รวม 4,800 เมกะวัตต์ เป็นความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ต้องเป็นผู้พัฒนา ในระยะแรกนั้น กฟผ.ระบุ 2 โครงการที่ชัดเจนคือ 1) โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ และ 2) โรงไฟฟ้าเทพา จังหวัดสงขลา กำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถพัฒนาได้ เนื่องจากแรงต่อต้านจากประชาชนรวมถึงองค์กรเอกชน (NGO) ที่ชูประเด็นว่าถ่านหินจะทำลายสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของชุมชน อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ถูกพัฒนาสู่ยุคถ่านหินสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเทคโนโลยีที่เรียกว่า Ultra-Super Critical หรือ USC ที่ถือว่ามีประสิทธิภาพด้านค่าความร้อนสูงที่สุดในโลกที่ร้อยละ 45 ทำให้ประหยัดการใช้ถ่านหินและมีระบบดักจับฝุ่นได้สูงสุดร้อยละ 99.99 รวมไปจนถึงอุปกรณ์กำจัดไนโตรเจนออกไซด์ที่ร้อยละ 85 และเครื่องกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ถือเป็นเทคโนโลยี "ที่ดีที่สุด" ในโลกขณะนี้
ในปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี USC มากมายในประเทศญี่ปุ่น เช่น โรงไฟฟ้าฮิตาชินากะ (Hitachinaka) กำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ ในจังหวัดอิราบากิ ของบริษัท เทปโก้ ฟูเอล แอนด์ พาวเวอร์ (TEPCO Fuel & Power) และเทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ในอนาคตด้วย กฟผ.จึงนำสื่อมวลชนศึกษาเชิงลึกเทคโนโลยี USC ที่โรงไฟฟ้าฮิตาชินากะ โรงไฟฟ้าดังกล่าวใช้ถ่านหินอยู่ที่ 16,000 ตัน/วัน (ประเภทซับบิทูมินัส) ถ่านหินทั้งหมดนำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และรัสเซีย การกระจายแหล่งที่มาของถ่านหินยังทำให้สามารถบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงได้ถูกลง มีพื้นที่จัดเก็บถ่านหินสูงสุดถึง 800,000 ตัน จากปัจจุบันที่มีการเก็บอยู่เพียง 400,000 ตัน ถ่านหินจะถูกลำเลียงเข้าโรงไฟฟ้าด้วยระบบปิดป้องกันการฟุ้งกระจาย ปัจจุบันในเครือของบริษัทเทปโก้ฯ มีโรงไฟฟ้าอยู่ในมือ 15 โรง และกำลังเตรียมขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าฮิตาชินากะอีก 650 เมกะวัตต์
เมื่อถามถึงประเด็นที่ว่าทำอย่างไรจึงไม่มีประชาชนคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเช่นในไทยนั้นนายสึเนะโยชิคาซามิ ผู้จัดการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนฮิตาชินากะ กล่าวว่า เทปโก้ฯจะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับฟังรายละเอียดของโครงการ รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะรวม 3 ครั้ง พร้อมทั้งจัดทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA จากนั้นจึงเริ่มก่อสร้างโครงการ สิ่งที่ทำให้ประชาชนมั่นใจนั่นคือ การดำเนินโครงการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด มีการตรวจสภาพน้ำก่อนปล่อยลงสู่ทะเล ตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง และยังต้องจ่ายเงินให้กับรัฐบาลในรูปของภาษี (ร้อยละ 14 ของมูลค่าที่ได้จากการขายไฟฟ้า) และภาษีท้องถิ่น โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าจนถึงขณะนี้ "ไม่มี" ประชาชนมาร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแต่อย่างใด
ตามสถานการณ์การใช้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าที่พึ่งได้ของญี่ปุ่นพบว่าส่วนใหญ่ยังคงใช้นิวเคลียร์ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก รวมกำลังผลิตจากส่วนนี้ทั้งสิ้น 142,562 เมกะวัตต์ ขณะที่ภาพรวมกำลังผลิตติดตั้งทั่วประเทศอยู่ที่ 179,407 เมกะวัตต์ โดยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 153,670 เมกะวัตต์ ส่วนปริมาณสำรองไฟฟ้าของญี่ปุ่นอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำไม่ถึงร้อยละ 15 และมีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงประมาณ 7 บาทกว่า/หน่วย ในขณะที่ไทยอัตราค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 3 บาทกว่า/หน่วย
โรงไฟฟ้าฮิตาชินากะของเทปโก้ฯ ถือเป็นโครงการต้นแบบที่จะนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ด้วย นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ.ระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะใช้เทคโนโลยี USC และเพิ่มเติมในรายละเอียดที่ประชาชนในพื้นที่กังวล ซึ่งแตกต่างจากโครงการอื่น ๆ เช่น การเจาะลอดทำอุโมงค์เพื่อลำเลียงถ่านหินเข้าสู่โรงไฟฟ้าเพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่ป่าชายเลน ฯลฯ กฟผ.ต้องการผลักดันให้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เพื่อรักษาอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยไม่ให้สูงจนเป็นภาระผู้บริโภค รวมถึงต้องสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความต้องการใช้ไฟเพิ่มสูงขึ้นทุกปีเฉลี่ยร้อยละ5แต่กลับไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต้องอาศัยไฟฟ้าที่ส่งผ่านระบบสายส่งจากภาคกลางลงไปเสริมเท่านั้น
สำหรับความคืบหน้าโรงไฟฟ้ากระบี่นั้นเบื้องต้นได้ปรับเลื่อนการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) เป็นปี 2565 แทน เนื่องจากยังต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังต้องดำเนินการให้บุคคลที่ 3 ที่น่าเชื่อถือได้มาศึกษาลงลึกในพื้นที่พร้อมทั้งจัดทำโพลในพื้นที่จังหวัดกระบี่ว่าต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้มีการตัดสินใจภายในเดือนม.ค. 60 ว่าจะ "ถอย" หรือ "เดินหน้า" โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ต่อไป