เปิดผังเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษเฟสสอง "นครพนม-กาญจนบุรี" หลัง "บิ๊กตู่" ใช้ ม.44 เพิกถอนที่ดินราชพัสดุ-เขตสงวน (20 ธ.ค. 59)

MGR Online 20 ธันวาคม 2559
เปิดผังเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษเฟสสอง “นครพนม-กาญจนบุรี” หลัง “บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 เพิกถอนที่ดินราชพัสดุ-เขตสงวน

เปิดตัวผังเมือง “เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม-กาญจนบุรี” หลัง “บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 เพิกถอนที่ดินราชพัสดุ-ถอนการสงวนหวงห้ามที่ดิน เป็นพื้นที่เฟสสอง เผยเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ที่ดินบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (นครพนม-คำม่วน) กว่า 2,400 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ 13 ตำบล ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี “กองทัพบก” มอบให้ 8,000 ไร่เศษ ครอบคลุม 4 อำเภอ 
       
       วันนี้ (20 ธ.ค.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 74/2559 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 ดังนี้
       
       “ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗/๒๕๕๘ เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อผลักดันให้เกิด เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้นโดยเร็วตามยุทธศาสตร์ที่ ๕ การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้มีการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นที่มีศักยภาพโดยเฉพาะ พื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น โดยที่ในขณะนี้ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้จัดหาพื้นที่เพิ่มเติมในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดนครพนมที่มีความพร้อมดำเนินการเป็นเขต พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นการเร่งรัดให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว
       
       อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
       
       ข้อ ๑ ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” ของข้อ ๑ ของคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗/๒๕๕๘ เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
       
       ““เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” หมายความว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก เขตพัฒนา เศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา และ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ฉบับที่ ๑/๒๕๕๘ เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ เขตพัฒนา เศรษฐกิจพิเศษตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ฉบับที่ ๒/๒๕๕๘ เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ ๒ ลงวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๘ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอื่นที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”
       
       ข้อ ๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๖) และ (๗) ของข้อ ๒ ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗/๒๕๕๘ เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘
       
       “(๖) ที่ดินในท้องที่ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ตามหนังสือสำคัญ สำหรับที่หลวง เลขที่ ๗๙๔๑ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๑ เฉพาะภายในแนวเขต ตามแผนที่หมายเลข ๙ ท้ายคำสั่งนี้ โดยให้มีผลเป็นการถอนสภาพความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน
       
       (๗) ที่ดินในท้องที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ภายในแนวเขต ตามแผนที่หมายเลข ๑๐ ท้ายคำสั่งนี้ โดยให้มีผลเป็นการถอนการสงวนหวงห้ามที่ดินตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอวังขนาย อำเภอบ้านทวน และอำเภอวังกะ จังหวัดกาญจนบุรี พุทธศักราช ๒๔๘๑”
       

       ข้อ ๓ ให้ที่ดินอันเป็นที่ราชพัสดุตามข้อ ๒ เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗/๒๕๕๘ เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ และการดำเนินการกับที่ดิน อันเป็นที่ราชพัสดุตามข้อ ๒ ให้ดำเนินการไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว โดยคำว่า “ที่ดิน” ตามคำสั่งดังกล่าวให้หมายความรวมถึง “ที่ดิน” อันเป็นที่ราชพัสดุตามข้อ ๒ ของคำสั่งนี้ด้วย
       
       ข้อ ๔ ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอาจเสนอให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
       
       ข้อ ๕ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
       
       สั่ง ณ วันที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
       
       พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
       หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”
       
       มีรายงานว่า สำหรับ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม ถือเป็นเฟซ 2 หลังจากคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ได้คัดเลือกแปลงที่ดินบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว หรือ สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์จำนวน 2,400 ไร่ เป็นพื้นที่ให้เอกชนเช่าพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรม
       
       โดยมอบให้กรมธนารักษ์ดูแล ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ 13 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 744.79 ตารางกิโลเมตร หรือ 465,493.75 ไร่ ประกอบด้วย อำเภอเมืองนครพนม 10 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 554.58 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ ตำบลกุรุคุ ตำบลท่าค้อ ตำบลนาทราย ตำบลนาราชควาย ตำบลในเมือง ตำบลบ้านผึ้ง ตำบลโพธิ์ตาก ตำบลหนองญาติ ตำบลหนองแสง และตำบลอาจสามารถ อำเภอท่าอุเทน 3 ตำบล ครอบคลุม พื้นที่ 190.21 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ ตำบลโนนตาล ตำบลรามราช และตำบลเวินพระบาท มีประชากรคาดการณ์ใน 20 ปีข้างหน้า (ปี 2578) 178,307 คน จากปัจจุบันที่มี 93,970 คน
       
       “เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถเชื่อมการขนส่งได้ทั้งทางน้ำและสะพานไปยัง สปป.ลาว และประเทศใกล้เคียงได้อย่างรวดเร็ว ตามวิสัยทัศน์ นครพนมเมืองน่าอยู่ ประตูเศรษฐกิจสู่อาเซียนและจีนตอนใต้-ตะวันออก โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้วางผังพื้นที่เฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดนครพนมแล้วเสร็จ โดยเน้นย้ำว่าพื้นที่สีเขียวหรือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมจะได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษแตกต่างไปจากผังเมืองปกติทั่วไป คือ สามารถพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้”
       
       อุตสาหกรรมที่เน้นจะเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมเกี่ยวกับอาหารแช่แข็งและห้องเย็น ขณะที่การค้าชายแดนจะเน้นให้เป็นศูนย์กลางการค้าส่งและตลาดกลางสินค้าเกษตรระดับภูมิภาคอินโดจีน สินค้าแปรรูปอุตสาหกรรมอาหารปลอดภัย และศูนย์กลางโลจิสติกส์ การขนส่งรวบรวมและกระจายสินค้า
       
       ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี ตั้งอยู่บนตำบลบ้านเก่า บริเวณด่านถาวรบ้านพุน้ำร้อน หมู่ 12 ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งด่านผ่านแดนถาวรออกไปเมืองทวาย ประเทศพม่า ทางกองทัพบกได้ยินยอมมอบพื้นที่ที่เคยดูแลในด้านความมั่นคงให้ทางจังหวัดกาญจนบุรี นำมาพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษบ้านพุน้ำร้อน ประมาณ 8,000 ไร่เศษเรียบร้อยแล้ว โดยมีการลงนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา
       
       ทั้งนี้ ในแบบผังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบ้านพุน้ำร้อน แบ่งเป็น 4 โซน คือ 1. พื้นที่ศุลกากร จำนวน 1,000 กว่าไร่ 2. พื้นที่จัดสร้างศูนย์ราชการ จำนวน 3,000 ไร่ 3. พื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 3,000 ไร่ และโซนที่ 4. พื้นที่ชุมชนประกอบธุรกิจ จำนวน 1,400 ไร่ สำหรับพื้นที่สร้างศูนย์ราชการคาดว่าต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนกว่า 3 พันล้านบาท