ขยะพิษ: ปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ ตอนที่ 2 (17 มิ.ย. 56)
ไทยพับลิก้า 17 มิถุนายน 2556
ขยะพิษ: ปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ
17 มิถุนายน 2013
รายงานโดย: อิสรนันท์
นับเป็นความชาญฉลาดยิ่งของบรรดาบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และ บริษัทเคมีภัณฑ์ต่างๆ ที่เลือกพื้นที่รกร้างห่างไกลแถวทะเลทรายโมฮาวีหรือโมเจฟทางตอนใต้ของรัฐแค ลิฟอร์เนีย หรือพื้นที่ของอเมริกันอินเดียนหรืออินเดียนแดง อาทิที่พื้นที่เขตอนุรักษ์วินด์ รีเวอร์ ในรัฐไวโอมิง ซึ่งเป็นที่อยู่ของอเมริกันอินเดียน 8,000 ครอบครัว หรือพื้นที่ของคนดำอย่างเช่นที่ดิกสัน เคาน์ตี ในรัฐเทนเนสซี เป็นที่ทิ้งขยะพิษ เนื่องจากเสียงร้องเรียนของคนเหล่านี้มักจะถูกทำให้กลายเป็นเสียงเงียบที่ ไม่มีวันดังไปถึงหูของนักการเมืองในกรุงวอชิงตัน ทำให้คนเหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมานกับปัญหาขยะพิษ ซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ สุขภาพของคนในชุมชน ปศุสัตว์ และพืชพันธุ์ในพื้นที่อันตรายเหล่านั้น
โดยเฉพาะขยะพิษปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ถูกกลบฝังกลางทะเลทรายโมฮาวี มีปริมาณมากกว่าขนาดของเนื้อที่ของทะเลทราย 39,000 ตารางกิโลเมตร ถึง 10 เท่า นอกจากนี้ยังมีการทิ้งสารพิษที่เป็นกากนิวเคลียร์แถวรัฐวอชิงตัน จนเกิดปัญหากัมมันตรังสีรั่วไหล แต่ยังมีปริมาณไม่มากนักและยังไม่ส่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดต่อสุขภาพของ ประชาชน แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐนี้จะต้องหาทางแก้ไข
mojave desert
ที่มาภาพ: http://1.bp.blogspot.com
แต่ขยะพิษที่กลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลกก็คือกรณีของเลิฟ คาแนล แถบไนแอการา ทางตอนเหนือของนิวยอร์ก ซึ่งมีชุมชนหลายร้อยครัวเรือนสร้างบ้านอยู่บนพื้นที่ที่เคยฝังขยะพิษมากกว่า 21,000 ตัน ระหว่างทศวรรษ 2483-2492 เมื่อเวลาผ่านไป พิษของขยะอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ผุดขึ้นมาบนสวนหลังบ้านและห้องใต้ดิน นับวันปัญหายิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อเด็กๆ เริ่มมีอาการหอบ ชัก ผู้หญิงมีครรภ์มักแท้งลูกหรือคลอดลูกพิการ จนในที่สุด ชาวบ้านต้องอพยพออกจากพื้นที่
เช่นเดียวกับที่เมืองแฮนฟอร์ด ทางตอนใต้ของรัฐวอชิงตัน อดีตชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็กที่กลับกลายเป็นโรงงานผลิตพลูโตเนียมจำนวนมหาศาล เพื่อใช้ในโรงงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และในช่วงสงครามเย็น กระทั่งเกิดปัญหามีกากกัมมันตภาพรังสีจำนวนมากแต่รัฐบาลกลับไม่มีแผนรองรับ ที่ดี ทำให้พื้นที่แถวนั้นปนเปื้อนกากกัมมันตภาพรังสี เป็นเหตุให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับสารก่อมะเร็งและสารพิษนับสิบๆ ราย
ปัญหานี้ยังเรื้อรังจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากบริษัทใหญ่น้อยต่างพยายามเตะถ่วงไม่ยอมเจียดงบประมาณกำจัดขยะพิษ เหล่านั้น เพราะตระหนักดีว่าต้องใช้งบประมาณก้อนใหญ่หลายร้อยล้านดอลลาร์ แม้กระทั่งประธานาธิบดีบารัก โอบามา เองยังยอมรับว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งส่วนใหญ่มักไปลงเอยที่การปน เปื้อนผืนดินในประเทศหรือไม่ก็ถูกส่งออกนอกประเทศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากทำให้เสียโอกาสในการฟื้นฟูทรัพยากรที่มีค่า เช่น สินแร่หายาก เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านทางตอนเหนืออย่างแคนาดาและตอนใต้อย่างเม็กซิโก ก็กลายเป็นสถานที่ทิ้งขยะพิษของบริษัทอเมริกันนับพันๆ บริษัท โดยทั้งที่แคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผลภาวะน้อยที่สุด หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็นประเทศที่สะอาดที่สุด แต่สืบเนื่องจากกฎหมายที่มีช่องโหว่อยู่มาก ทำให้ประเทศนี้กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่กำลังกลายเป็นบ่อขยะพิษ แต่ละปีปริมาณขยะพิษที่สหรัฐฯ นำไปทิ้งที่คานาดามีมากกว่าที่เม็กซิโกถึง 2 เท่า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขนส่งถูกกว่ากันมาก
สื่อหลายสำนักรายงานว่า ปริมาณการนำเข้าขยะพิษจากสหรัฐฯ สู่แคนาดาได้พุ่งขึ้นถึง 5 จุดจากปี 2536-2542 ส่วนใหญ่มุ่งไปที่รัฐควิเบก ซึ่งมีปริมาณขยะพิษที่ต้องกำจัดกว่า 330,000 ตัน ตามด้วยรัฐออนแทริโอ มีปริมาณขยะพิษราว 324,000 ตัน นอกจากนี้ ขยะพิษยังกระจัดกระจายไปกลบฝังที่รัฐแอลเบอร์ตา มานิโตบา และนิวบรันสวิก แต่ยังไม่มากนัก
ส่วนเม็กซิโกนั้น แม้จะมีกฎหมายห้ามนำเข้าขยะพิษเพื่อนำมาทิ้งในประเทศ แต่ยินยอมให้นำเข้าขยะพิษเพื่อนำมารีไซเคิล ก็ไม่สามารถป้องกันไม่ให้บริเวณชายแดนที่รกร้างว่างเปล่ากลายเป็นที่ทิ้งขยะ พิษอย่างลวกๆ จนสร้างปัญหาเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในบริเวณนั้น
ขยะพิษในเอเชีย: เหยื่อการหลอกลวงของยูเอ็น
ทวีปผิวเหลืองเอเชียเป็นอีกทวีปหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาขยะพิษ โดยเฉพาะที่แดนมังกรจีนและแดนภารตะอินเดีย สองพี่เบิ้มในทวีปนี้ ซึ่ง แต่ละปีต้องเผชิญกับปัญหาการทิ้งโทรทัศน์รวมกันกว่า 1.5 ล้านตัน และตู้เย็นอีกกว่า 6 แสนตัน ส่วนขยะโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นราว 7 เท่า ในรายงานเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติเมื่อ ปี 2548 ได้ประเมินว่า ยอดขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในจีนและอินเดียสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย เฉพาะโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ซึ่งเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2550 โทรศัพท์มือถือขายได้ถึง 1,000 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขายได้ 896 ล้านเครื่อง ซึ่งจะทำให้ขยะพิษเพิ่มขึ้นเป็นราวปีละ 50 ล้านตัน
รายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า กว่า 72 เปอร์เซ็นต์ของขยะพิษ จะถูกส่งมาคัดแยกและทำลายที่จีน ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยมีการผลิตราวปีละ 2.3 ล้านตัน ตามหลังสหรัฐฯ ที่ผลิตได้ราวปีละ 3 ล้านตัน คาดว่าในปี 2563 แดนมังกรจะกลายเป็นที่ทิ้งขยะพิษแหล่งใหญ่ของประเทศพัฒนาแล้ว โดยจะมีขยะคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น 2-4 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 ไม่นับรวมฮ่องกง ที่กลายเป็นแหล่งกลบฝังขยะคอมพิวเตอร์ราว 10-20 เปอร์เซ็นต์ ของคอมพิวเตอร์ที่ถูกทิ้ง ส่วนอินเดีย คาดว่าปริมาณขยะพิษอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า โดยขยะมือถือจะเพิ่มสูงถึง 18 เท่า
ว่าไปแล้ว การที่ทวีปเอเชียกำลังกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะพิษแหล่งใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากการสมคบคิดระหว่างบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตะวันตก กับโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติที่นำเสนอรายงานตอกย้ำความเชื่อผิดๆ ว่าการรีไซเคิลมีแต่ผลดีต่อประเทศกำลังพัฒนา ดังรายงานผู้อำนวยการใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติที่กล่าวว่า การส่งเสริมการรีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนาจะช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงาน และนำโลหะที่มีค่ากลับมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทอง แพลเลเดียม ทองแดง อินเดียม “ประเทศเหล่านั้นสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส เพราะการรีไซเคิลสามารถฟื้นคืนคุณค่าของทรัพยากรได้ “
เพราะความจริงที่พูดไม่หมด ทำให้ความต้องการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในทวีปผิวเหลืองเอเชียมีมากขึ้นตามลำดับ เนื่อง จากคนงานในแหล่งทิ้งขยะพิษเหล่านั้นต่างเชื่อว่า ระหว่างกระบวนการรีไซเคิล ตัวเองสามารถคัดแยกสารที่มีค่าออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นทองแดง เหล็ก ซิลิกอน นิกเกิล และทองคำ จึงแทบไม่สนใจคำเตือนของกลุ่มเอ็นจีโอที่ว่า ขยะพิษเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ขยะพิษในจีน ที่มาภาพ: http://www.disputeabout.eu/dwn/
แม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะพยายามป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นด้วยการออกกฎหมาย เมื่อ พ.ศ. 2543 เพื่อห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่จากการตรวจสอบของกลุ่มกรีนพีซพบว่า กฎหมายเหล่านี้ไม่มีการบังคับใช้จริงจัง แต่ละปี จะมีขยะพิษ อาทิ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ด โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ปริมาณมหาศาลนับล้านๆ ชิ้นส่งไปยังหมู่บ้าน 4 หมู่บ้านในเมืองกุ้ยอวี๋หรือกุ้ยหยู มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเคยเป็นพื้นที่การเกษตรเก่าแก่ใกล้กับแม่น้ำเหลียนเจียง ไม่ห่างจากฮ่องกงมากนัก ใช้เวลาขับรถแค่ 4 ชั่วโมงก็ถึง เมืองนี้ได้กลายเป็นศูนย์รวมขยะพิษและเป็นพื้นที่รีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2538 ทั้งด้วยการรับซื้อขยะพิษจากกองทัพนักเก็บขยะพิษหลายแสนคนทั่วประเทศ เฉพาะที่กรุงปักกิ่งมีถึง 170,000 คน และจากร้านรับซื้อเครื่องอิเล็กทรอนิกส์เก่าเพื่อนำไปขายต่อ ทั้งยังมีการนำเข้าจากต่างประเทศด้วย
ถึงแม้ว่าธุรกิจรีไซเคิลขยะพิษ โดยเฉพาะการคัดแยกโลหะทองจากขยะพิษ จะทำเงินให้กับเมืองนี้ประมาณปีละพันล้านหยวน (ราว 5,000 ล้านบาท) แต่คนงานซึ่งมีมากถึง 100,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคนกลับถูกเอารัดเอาเปรียบ ได้รับค่าตอบแทนเพียงน้อยนิดแค่วันละประมาณร้อยบาทเท่านั้น หนำซ้ำการรีไซเคิลขยะพิษเหล่านั้นก็เป็นไปตามยถากรรม ปราศจากมาตรฐานความปลอดภัยใดๆ นอกจากคนงานจะไม่รู้ว่างานที่ทำมีความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว ทางการเองก็ยังปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจที่จะออกกฎหมายคุ้มครองคุณภาพชีวิตให้ กับคนงานกลุ่มนี้ รายงานของสื่อทางการจีนกล่าวว่า คนงานในเมืองกุ้ยอวี๋ 9 ใน 10 ราย ป่วยเป็นโรคผิวหนัง โรคเกี่ยวกับระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ ฯลฯ
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ที่บุกเข้าไปสำรวจชีวิตของคนงานในเมืองกุ้ยอวี๋ รายงานว่า คนงานบางส่วนเท่านั้นที่มีถุงมือบางๆ ใส่ป้องกันผิวหนังจากการปนเปื้อนสารพิษ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีแม้กระทั่งหน้ากากป้องกันสารพิษ อีกทั้งยังอยู่ในพื้นที่อับลม ทำให้มลพิษทางอากาศในบริเวณนั้นมีค่อนข้างสูง ขณะที่กรีนพีซรายงานว่า แม้คนงานส่วนใหญ่จะรู้ดีว่าการทำงานแบบนี้จะทำร้ายสุขภาพในระยะยาว แต่ก็ไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากนัก
(คลิกที่นี่ เพื่ออ่าน "ขยะพิษ: ปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ ตอนที่ 1")