บทวิเคราะห์ขั้นต้น "ม.105" พ.ร.บ.แร่ อุปสรรคที่ต้องจับตา หลัง คสช. สั่งยุติเหมืองทอง (14 ธ.ค. 59)

Citizen Thai PBS 14 ธันวาคม 2559
บทวิเคราะห์ขั้นต้น “ม.105” พ.ร.บ.แร่ อุปสรรคที่ต้องจับตา หลัง คสช.สั่งยุติเหมืองทอง

14 ธ.ค. 2559 ภายหลังการเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 72/2559 เรื่องการแก้ปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ให้ระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ และการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป (คลิกอ่าน: http://www.citizenthaipbs.net/node/10228)

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ โดยผ่านเพจเฟซบุ๊ก สิทธิชุมชน 4.0 ระบุว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวมีใจความสำคัญอยู่ที่ข้อ 2 คือ 

“ให้ผู้มีอำนาจในการออกอาชญาบัตร ประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการต่ออายุประทาน บัตรเหมืองแร่ทองคำและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำไว้จนกว่าคณะกรรมการ จะมีมติเป็นอย่างอื่น” 

และข้อ 3 

“ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่าง ๆ ตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป จนกว่าคณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่น แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการดังกล่าวยังคงมีหน้าที่ ในการฟื้นฟูพื้นที่ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่ว่าพื้นที่ประทานบัตรจะอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใดก็ตาม”

พูดง่าย ๆ คือ ลำดับแรกจะต้องปิดเหมืองภายในสิ้นปีนี้ 2559 (สอดคล้องตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 และ 7 มิ.ย. 2559) เสียก่อน 

ผลสะเทือนของคำสั่งนี้ ไม่ใช่เฉพาะแต่เหมืองทองอัคราฯ ที่ จ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์ แต่รวมถึงเหมืองทองแห่งอื่นด้วย คือ เหมืองทองทุ่งคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ได้รับอานิสงฆ์ให้ต้องปิดเหมืองไปด้วย

ข้อ 4 น่าสนใจ ที่เมื่อได้รับการแก้ไขปัญหาของตนเองแล้ว แต่ไม่ลืมใครไว้ข้างหลัง (โดยเฉพาะคนตกงานจากการประกอบกิจการเหมืองแร่) แล้วมีเรื่องการฟื้นฟูเหมืองด้วย คือ 

“ให้หน่วยงานดังต่อไปนี้ ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการให้ระงับ การประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและการประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ
 
(1) กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับดูแล การฟื้นฟูพื้นที่ตามข้อ 3

(2) กระทรวงสาธารณสุข ดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง 

(3) กระทรวงแรงงาน ดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการระงับการประกอบกิจการ เหมืองแร่ทองคำและการประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ” 

แต่จุดพลิกผัน ที่อาจจะทำให้เหมืองกลับฟื้นคืนมาได้/กลับมาเปิดต่อไปได้ อยู่ที่ข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 5 และ ข้อ 8 คือ

“ข้อ 2 ให้ผู้มีอำนาจในการออกอาชญาบัตร ประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการต่ออายุประทาน บัตรเหมืองแร่ทองคำและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำไว้จนกว่าคณะกรรมการ จะมีมติเป็นอย่างอื่น” 

“ข้อ 3 ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่าง ๆ ตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป จนกว่าคณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่น แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการดังกล่าวยังคงมีหน้าที่ ในการฟื้นฟูพื้นที่ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่ว่าพื้นที่ประทานบัตรจะอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใดก็ตาม” 

“ข้อ 5 ให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตรวจสอบ วิเคราะห์ และวินิจฉัย ข้อเท็จจริงและปัญหา พร้อมทั้งเสนอมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหา การพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชนในเขตพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ รวมทั้งพื้นที่ ใกล้เคียง ตลอดจนเสนอกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบ และรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป” 

“ข้อ 8 ในกรณีเห็นสมควร นายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอาจเสนอให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้” 

จุดพลิกผันที่ว่าที่จะทำให้เหมืองกลับฟื้นคืนมาได้/กลับมาเปิดต่อไปได้ เชื่อมโยง/สัมพันธ์กับมาตรา 105 ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่ผ่าน สนช. ไปเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา คือ

“มาตรา 105 ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบโลหกรรมควบคุม เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับผู้ถือประทานบัตรซึ่งประกอบโลหกรรมภายในเขตประทานบัตรและผู้ประกอบโลหกรรมควบคุมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้มีอายุไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และสุขภาพอนามัยของประชาชน สัตว์ พืช และทรัพย์สิน ผู้ออกใบอนุญาตอาจกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตามที่เห็นสมควรไว้ในใบอนุญาตด้วยก็ได้การขออนุญาต การออกใบอนุญาต และคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”

ความหมายของมาตรา 105 คือ โรงประกอบโลหกรรมถ้าอยู่ในเขตประทานบัตร/เขตเหมืองแร่ ไม่ต้องขอใบอนุญาตอีกต่อไป ซึ่งเหมืองแร่ทองคำทั้งพิจิตร/เพชรบูรณ์ (ของอัคราฯ) และเลย (ของทุ่งคำ/ทุ่งคาฯ) อยู่ในเขตประทานบัตร/เขตเหมืองแร่ ทั้งคู่ 

ดังนั้น ตามมาตรานี้ โรงประกอบโลหกรรมทั้ง 2 แห่งไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาต ถ้าได้รับประทานบัตรก็ถือว่าโรงประกอบโลหกรรมเป็นของแถม/เป็นส่วนควบ ที่ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตกำกับ ควบคุม ดูแล อีกต่างหาก อีกต่อไป

คาดการณ์

1. ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. นี้ เหมืองทองทั้ง 2 แห่งคงจะถูกปิดลงเสียก่อน (ปิดภายในสิ้นปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2560) 

2. เมื่อปิดแล้ว จุดพลิกผันก็อยู่ที่/ก็ต่อเมื่อคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติตามข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 5 จะมีมติ/มีความคิดเห็นเป็นอย่างอื่น เช่น มีมติ/มีความคิดเห็นให้กลับมาเปิดใหม่ เป็นต้น

3. ข้อ 5 เป็นอะไรที่ดูเหมือนกว้าง ๆ เลื่อนลอย แต่จริง ๆ แล้วเป็นการกำหนดนโยบาย/ทิศทาง/แนวโน้มในอนาคต คือ การเสนอกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ เช่น ผลักดันกรอบนโยบายฯ การให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในอนาคตให้กลับมาใหม่หลังจากปิดเหมืองทองคำไปแล้วก็ได้ 

4. และจุดพลิกอีกข้ออยู่ที่ข้อ 8 นอกจากคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการแร่แห่งชาติจะเป็นผู้มีอำนาจ/หน้าที่ในการมีมติ/มีความคิดเห็นเป็นอย่างอื่นแล้ว อีกคนหนึ่งที่มีอำนาจ/หน้าที่ในระดับเดียวกันคือนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดี กพร. อาจเสนอให้ คสช. เปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้ เช่น เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้เปิดเหมืองทอง เป็นต้น

5. หมายเหตุ คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เป็นโครงสร้างในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่มีอำนาจและหน้าที่เด็ดขาดในการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่แทน กพร. ซึ่งเคยมีอำนาจและหน้าที่ในการอนุมัติ/อนุญาตการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่แต่เพียงหน่วยงานเดียวมาตลอด 

คณะกรรมการดังกล่าว เป็นการดุลอำนาจในการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ร่วมกันระหว่างกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ที่ย้ายสังกัดมาอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรฯ ซึ่งมีนักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยา กับ กพร. ซึ่งมีแต่วิศวกรเหมืองแร่ (แต่ไม่มีความรู้ทางธรณีวิทยา)

ทธ. มีความเห็นไม่สอดคล้องกับ กพร. มาตลอดว่าการอนุมัติ/อนุญาตให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานับแต่ปฏิรูประบบราชการเมื่อปี 2545 เป็นการอนุมัติ/อนุญาตของ กพร. โดยขาด/ไม่มีความรู้เพียงพอ จึงไปผลักดันให้ออกระเบียบสำนักนายกฯ เมื่อ 15 พ.ย. 2559 และก็ผลักดันให้คณะกรรมการฯ ดังกล่าวแทรกเข้าไปอยู่ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่ผ่าน สนช. เมื่อ 8 ธ.ค. 2559 เพื่อทำหน้าที่ในการอนุมัติ/อนุญาตให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองได้สำเร็จ ซึ่ง กพร. ไม่พอใจมากและพยายามเสนอความเห็นต่อ ครม. ให้ตัดคณะกรรมการฯ ดังกล่าวออกไปจากกฎหมายแร่ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ

สรุป

1. คำสั่งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านเหมืองทองทั้ง 2 พื้นที่ แต่จุดพลิกผันอยู่ที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ โดยเฉพาะมาตรา 105 ที่บริษัทฯ/เอกชนอาจฟ้องคดีตามศาลไทยหรืออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ว่า ในเมื่อโรงประกอบโลหกรรมอยู่ในเขตประทานบัตร/เขตเหมืองแร่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการอีกต่อไป หมายถึง ประกอบกิจการต่อไปได้เลย พร้อมไปกับการทำเหมืองแร่

2. มีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะเหมืองทองอัคราฯ ที่หาก Kingsgate ทุนออสเตรเลียถูกกำจัดออกแล้ว ทุนไทยอาจจะเข้ามาแทนที่ได้

3. ความสำคัญของขบวนชาวบ้านไม่ได้อยู่ที่ไชโยโห่ร้องว่า คสช. ปิดเหมืองให้แล้ว แล้วรีบขอบคุณ/มอบช่อดอกไม้ให้ คสช. แต่อยู่ที่จะรีบผลักดัน/เสนอให้มีการจัดทำแผนฟื้นฟูเหมืองอย่างเร่งด่วนได้อย่างไร 

เพราะสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การปิดเหมืองอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่าจะฟื้นฟูเหมืองอย่างไร เพราะบ่อไซยาไนด์ตั้งตระหง่านอยู่ตรงนั้น ใครจะเป็นฝ่ายฟื้นฟู รัฐหรือบริษัทฯ ใครจะเป็นคนจ่ายค่าฟื้นฟู ให้ดูกรณีคลิตี้เป็นตัวอย่างจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งถึงความล่าช้า/ไม่ตั้งอกตั้งใจของข้าราชการ หรือจะไล่เบี้ย/กดดันให้บริษัทฯ ต้องเป็นฝ่ายรับภาระ/รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูเหมืองได้หรือไม่ เป็นต้น 

4. ต้องไม่ให้ มาตรา 105 ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ ถูก กพร. และบริษัทฯ นำมาอ้างเพื่อเปิดเหมืองทองรอบใหม่ได้

5. คำสั่งนี้ ยังไม่ชัดเจนมากนัก (นอกจากข้อ 5) ต่อนโยบายการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำฉบับใหม่ทั่วประเทศ 12 จังหวัด กว่า 1.5 ล้านไร่ ว่าจะเปิดหรือปิด ซึ่งเป็นข้อห่วงกังวลของประชาชนหลายจังหวัดในภาคตะวันออก เหนือ ใต้ และกลาง