รื้อผังเมืองรวม 31 จังหวัด รับเมกะโปรเจ็กต์ 2ล้านล้าน (10 มิ.ย. 56)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 10 มิถนายน 2556
รื้อผังเมืองรวม 31 จังหวัดรับเมกะโปรเจ็กต์ 2 ล้านล้าน
กรมโยธาฯไฟเขียวรื้อผังเมืองรวมทั้งประเทศ รับเมกะโปรเจ็กต์ 2 ล้านล้าน เร่ง 31 จังหวัดจัดทำผังเมืองรวมให้เสร็จใน 1 ปี เผยทุกจังหวัดขอทบทวนใหม่ เพื่อรับมือเปิดเสรีการค้าเออีซี การขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย ชี้ธุรกิจพลังงานทดแทนบูมสุด แห่ขยายพื้นที่เพิ่มอื้อซ่า
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ใน 1 ปีนี้จะเร่งบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดทั้ง 31 จังหวัดที่ขอนำไปทบทวนใหม่โดยเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปมาก จากนโยบายรัฐบาลจะลงทุนโครงการมูลค่า 2 ล้านล้านบาท การบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558
"กรมมีนโยบายให้ทุกจังหวัดปรับปรุงผังเมืองรวมใหม่ให้รับกับการพัฒนาของประเทศมี 31 จังหวัดที่ขอทบทวนทันทีจะเร่งรัดโดยเร็ว ไม่อยากให้กลายเป็นสุญญากาศ กรมจะออกประกาศควบคุมการก่อสร้างไว้ก่อนอิงตามกฎหมายควบคุมอาคาร"
ขอทบทวนใหม่ 31 จังหวัด
สำหรับ 31 จังหวัดที่ขอทบทวนใหม่ ได้แก่ ตาก ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี สตูล ชลบุรี ชัยนาท ลพบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ มหาสารคาม อำนาจเจริญ นครพนม กำแพงเพชร สุโขทัย มุกดาหาร สมุทรสาคร กาญจนบุรี ระยอง สุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ พิจิตร ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม เพชรบุรี ร้อยเอ็ด สกลนคร และอุตรดิตถ์
"ทุกจังหวัดมองว่าร่างผังเมืองรวมจังหวัดดำเนินการวางผังมานานแล้วตั้งแต่ปี"47 จะอัพเดตใหม่ เพราะสภาพเปลี่ยนไปเยอะ กรมก็เข้าไปช่วยโดยกำหนดแนวทางใหม่ให้ เป็นพิมพ์เขียวให้จังหวัดดำเนินการต่อไป เช่น ลดความเข้มข้นข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินลงให้เกิดความคล่องตัวในการพัฒนามากขึ้น ทั้งที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม พาณิชยกรรมเกษตรกรรม พื้นที่รับน้ำ จะสรุปได้ในเดือนมิถุนายนนี้ จากนั้นจะแจ้งไปยังจังหวัด ตั้งเป้าใน 1 ปีนี้จะแก้ผังเมืองรวมจังหวัดทั้ง 31 จังหวัดให้เสร็จ"
ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ที่ประกาศไปแล้วและอยู่ระหว่างทบทวนใหม่ เช่น สิงห์บุรี จะขอเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรม, ปราจีนบุรี จะขอขยายพื้นที่เขตอุตสาหกรรมใน อ.กบินทร์บุรี จากพื้นที่สีเขียวเป็นสีม่วง โดยจะต้องเริ่มนับหนึ่งขั้นตอนต่าง ๆ ใหม่ว่า ต้องการพัฒนาไปทิศทางไหน
"ควรจะปรับปรุงผังเมืองรวมทั้งประเทศ ให้รับแผนการลงทุน 2 ล้านล้านของรัฐบาลที่จะเปลี่ยนโฉมประเทศไทย เช่น พื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง ผังเมืองรวมจังหวัดที่อยู่แนวโครงการพาดผ่านก็ต้องปรับการใช้พื้นที่ใหม่ให้เกิดการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ เช่น พาณิชยกรรม"
เปิดคำขอแก้ไขใหม่
แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าวว่า สำหรับ 31 จังหวัดขอทบทวนใหม่ อาทิ "ขอนแก่น" จะเพิ่มพื้นที่ลงทุนรองรับกับเมืองที่โตขึ้น ทั้งที่อยู่อาศัย 8.90% และอุตสาหกรรม 9.41% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการค้าและบริการ รวมถึงมีโครงการพัฒนาที่สำคัญในจังหวัด เช่น โลจิสติกส์ฮับ เมดิคอลฮับ รถไฟความเร็วสูง ทางคู่ รถไฟสายใหม่ เขตพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ที่ ต.บ้านหว้า ที่จะรองรับการเปิดเออีซี
"บุรีรัมย์" จะให้สร้างโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ได้ ส่วน "มหาสารคาม" ต้องการให้ลดความเข้มข้นการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้พัฒนาอุตสาหกรรมจังหวัดไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ให้ตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังงานทดแทนได้
"อำนาจเจริญ" ขอปรับให้นโยบายรัฐในการเข้าสู่เออีซี จะยกระดับจุดผ่อนปรนให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรบริเวณบ้านยักษ์คุ และสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานทดแทนในบางพื้นที่ได้
"นครพนม" ต้องการเปิดการพัฒนาให้รับกับการก่อสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 ด้าน "กำแพงเพชร" ให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่สีผังเมืองใหม่ให้เป็นปัจจุบัน เช่น สีเขียว สีน้ำตาลอ่อน สีม่วง และให้ยกเลิกความสูงสร้างอาคารได้ไม่เกิน 16 เมตร ในพื้นที่สีเขียว และยกเลิกความสูงอาคารไม่เกิน 12 เมตร และขอให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในพื้นที่เกษตรกรรม
สุโขทัยเปิดพื้นที่รับไฮสปีดเทรน
"สุโขทัย" ขอปรับปรุงใหม่ให้รับการพัฒนาจังหวัดตามนโยบายระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันตก-ตะวันออก การเปิดเออีซี และโครงการรถไฟความเร็วสูง สำหรับ "มุกดาหาร" ปรับให้สอดรับนโยบายโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดมุกดาหาร
"สมุทรสาคร" เพื่อรับการขยายการลงทุนเข้ามายังพื้นที่มากขึ้น หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ส่วน "กาฬสินธุ์" ขอเพิ่มพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมการเกษตรและโรงงานอุตสาหกรรมด้านโรงงานไฟฟ้าพลังชีวมวล และให้มีการจัดสรรที่ดินในพื้นที่สีเขียว ให้สร้างอาคารสูงเกิน 12 เมตรได้
"ชลบุรี" ให้เพิ่มมาตรการด้านผังเมืองในการรักษาสภาพแวดล้อมและป้องกันปัญหาอุทกภัยในร่างผังเมืองรวมจังหวัดด้วย เช่น กำหนดให้มีพื้นที่โล่ง พื้นที่แหล่งน้ำ แนวน้ำท่วมหลาก รองรับการจ้างงานและที่อยู่อาศัยที่มากขึ้น
ตากบูมเมืองใหม่แม่สอด
"ตาก" ขอยกร่างข้อกำหนดใหม่รับเมืองที่เปลี่ยนไปมาจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการค้าชายแดนในพื้นที่ 3 อำเภอคือ แม่สอด พบพระ และแม่ระมาด อีกทั้งโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด พื้นที่ 5,600ไร่ ในตำบลแม่ปะ และท่าสายลวด และเปิดเออีซี
"ปัตตานี" ขอเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่สีเขียว เช่น อ.เมืองปัตตานี อ.หนองจิก และ อ.โคกโพธิ์ ให้มีการพัฒนาได้มากขึ้น ทาง "ศรีสะเกษ" จะเตรียมพื้นที่ไว้รองรับโครงการเมืองใหม่ช่องสะงำ รองรับการค้ากับเออีซี
"สงขลา" จะเพิ่มมาตรการวางผังเมืองให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น เขตสร้างที่อยู่อาศัยไม่กีดขวางทางน้ำไหล แนวป้องกันน้ำท่วม เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก การขยายตัวของเมืองและเปิดเออีซี
"สตูล" จะขอให้พิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ รองรับกับการเปิดเออีซี และโครงการขนาดใหญ่ เช่น ท่าเรือปากบารา สนามบินเชิงพาณิชย์จังหวัดสตูล ส่วน "สุราษฎร์ธานี" ขอปรับปรุงผังใหม่ทั้งหมด รับบ้านจัดสรรเกิดขึ้นมาก และก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ อ.ดอนสัก และเกาะพะงัน