เปิดคำพิพากษาคดีน้ำมันรั่วทะเลระยอง ระบุชัดPTTGC "ประมาทเลินเล่อ" (12 ธ.ค. 59)

สำนักข่าวอิศรา 12 ธันวาคม 2559
เปิดละเอียดคำพิพากษาคดีน้ำมันรั่วทะเลระยองระบุชัดPTTGC"ประมาทเลินเล่อ"

ถ้าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำแนะนำ  OCIMF ที่ให้ตรวจสอบท่อขนถ่ายน้ำมัน ทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี อย่างเคร่งครัด เชื่อจะสามารถตรวจพบความชำรุดบกพร่องของท่อน้ำมันที่แตกรั่วก่อนเกิดเหตุได้ การที่ไม่ดำเนินการตามคำแนะนำดังกล่าว ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล จึงถือว่า ปล่อยปละละเลย 

หากยังจำกันได้ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 เวลา 6.50 น. บริษัทพีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC  ทำน้ำมันดิบกว่า 50 ตัน หรือประมาณ 54,341 ลิตร รั่วไหลกระจายสู่ท้องทะเล บริเวณห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุด จังหวัดระยอง ก่อนเวลาไม่นาน คราบน้ำมันได้กระจายไปตามชายหาดต่างๆ เช่น หาดพร้าว เกาะเสม็ด 

กระทั่งจังหวัดระยองได้ประกาศแจ้งเตือนภัยเนื่องจากสถานการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล พบสัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก ชาวประมงไม่สามารถออกจับสัตว์น้ำต่างๆ ได้ จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่เกาะเสม็ดและบริเวณใกล้เคียงลดลง ผู้ประกอบการห้องพัก พ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้าตามชายหาดจึงเสียโอกาและขาดรายได้ 

มีคดีขึ้นสู่ศาลถึง 7 สำนวน โดยศาลสั่งรวมการพิจารณา และเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559  ที่ห้องพิจารณา 501 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมส่วนแพ่ง หมายเลขดำ ที่ สว. (พ) 2-8/2557 ที่นางสรชา วิเชียรแลง กับพวกรวม 223 ราย ผู้ประกอบการร้านค้าแผงลอย ชาวประมงพื้นบ้าน ผู้ประกอบกิจการเรือเร็ว โรงแรม และอื่นๆ จ.ระยอง ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง  PTTGC บริษัทลูกของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และนายบวรวงศ์สินอุดม ประธานกรรมการบริหาร   PTTGC  ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-2 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวน 1 พันล้านบาทเศษ  

ต่อมาศาลจำหน่ายคดีโจทก์ที่ 223 ที่เรียกค่าเสียหายถึง 1,000 ล้านบาทเศษออกจากสารบบ เนื่องจากเข้าสู่แผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมไปก่อนหน้านี้ คงเหลือโจทก์ 222 คน เรียกค่าเสียหายรายละระหว่าง 300,000 บาท ถึง 450,000 บาท พร้อมกับให้จำเลยร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมกับค่าเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงิน 

สำนักข่าวอิศรา นำรายละเอียด ในคำพิพากษา หน้า 49-57 มานำเสนอ เพื่อให้เห็นข้อมูลว่า  เหตุน้ำมันรั่วเกิดจากการประมาทเลินเล่อ หาใช่เหตุสุดวิสัยไม่

---------------------------------

....ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประเด็นต่อไปในข้อที่ 2 ว่า เหตุน้ำมันรั่วเกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือจำเลยที่ 1 ทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่หรือไม่ 

ประเด็นนี้จำเลยที่ 1 (PTTGC) มีภาระในการพิสูจน์ ซึ่งก่อนอื่นต้องวินิจฉัยก่อนว่า ทุ่นรับน้ำมันดิบทางทะเล จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมและผู้ครอบครองในขณะเกิดเหตุนั้น เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ เห็นว่า คำนิยามของ “แหล่งกำเนิดมลพิษ” ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 4  หมายถึงชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม อาคารสิ่งก่อสร้าง ยานพาหนะ สถานที่ประกอบกิจการใดๆ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของมลพิษ 

จากความหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ทุ่นรับน้ำมันดิบทางทะเล แม้จะไม่ใช่อาคารสิ่งก่อสร้าง หรือยานพาหนะ แต่พอจะถือได้ว่า เป็นสถานที่ ที่จำเลยที่ 1 ใช้ในการประกอบกิจการขนถ่ายน้ำมันดิบของตนเป็นประจำ เมื่อการประกอบกิจการขนถ่ายน้ำมันดิบของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้มีน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นวัตถุอันตราย ตามนิยามในมาตรา 4 เช่นเดียวกัน เพราะน้ำมันเป็นวัตถุไวไฟ หรือเป็นวัตถุที่ทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือสิ่งแวดล้อม รั่วไหลออกมาจากท่อขนถ่ายน้ำมันออกสู่ทะเล ทั้งน้ำมันดิบยังเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายโดยสภาพ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 ทุ่นรับน้ำมันดิบทางทะเลและท่อขนถ่ายน้ำมันของจำเลยที่ 1จึงเป็นแหล่งกำเนินมลพิษ หรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหล หรือแพร่กระจายของมลพิษ

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษจะเกิดจากการกระทำโดยจงใดหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เว้นแต่จำเลยที่ 1 จะพิสูจน์ได้ว่า การรั่วไหลของน้ำมันดิบ เกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือจำเลยที่ 1 ได้กระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานของรัฐ ตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ไว้ 

ประเด็นนี้ จำเลยที่ 1 มีนายสุเทพ กลิ่นชั้น นายสุรนันท์ ศิลาสุวรรณวิทย์ พนักงานของจำเลยที่ 1 ที่รู้เห็นและเกี่ยวข้องกับการขนถ่ายน้ำมันในวันเกิดเหตุมาเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังในการขนถ่ายน้ำมัน ผ่านทุ่นรับน้ำมันทางทะเล เป็นอย่างดีแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อจนทำให้น้ำมันดิบรั่วไหลโดยก่อนขนถ่ายน้ำมัน จำเลยที่ 1 ได้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณทุ่นน้ำมัน โดยจัดเรือคอยตรวจตรา และเฝ้าระวังบริเวณทุ่นน้ำมันดิบตลอดเวลา มิให้มีสิ่งใดมากระทบท่อขนถ่ายน้ำมัน ทั้งในขณะที่มีการขนถ่ายน้ำมันและไม่มีการขนถ่ายน้ำมัน เพื่อคอยตรวจตราทุ่นและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและมีความปลอดภัยในการใช้งานอันเป็นการตรวจสอบตามมาตรฐานสากลที่จัดทำขึ้น โดยสมาคมบริษัทผู้ขนส่งน้ำมันทางทะเลระหว่างประเทศ (OCIMF)  

ในวันเกิดเหตุหลังจากพนักงานจำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบทุ่นอุปกรณ์ต่างๆ และนำเรือบรรทุกน้ำมันเข้ามาผูกติดกับท่อขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลแล้ว หลังจากั้น เรือขนถ่ายน้ำมันชื่อ เอ็ม.ที.มาราน พลาโต (M.T. Maran plato) สัญชาติกรีซ ก็ค่อยๆ มีการขนถ่ายน้ำมันจากแรงดันต่ำ จนกระทั่งมีแรงดันสูงเพียง 8.5 กก./ตร.ซม. (บาร์) เท่านั้น ก่อนท่อน้ำมันจะแตกรั่ว

จำเลยที่ 1 ได้ใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยทั้งก่อนและขณะขนถ่ายน้ำมันอย่างถูกต้องในระดับสากล ส่วนในการบำรุงรักษาท่อน้ำมัน จำเลยที่ 1 จัดให้มีการทดสอบบำรุงรักษาท่อขนถ่ายน้ำมันอย่างสม่ำเสมอ และเป็นไปตามมาตรฐานสากลของ OCIMF ทดสอบเพื่อหาความยืดหยุ่น โดยใช้วิธีการอัดแรงดัน ตลอดระยะเวลาของการใช้งาน ในกรณีที่พบว่า ท่อเส้นใดไม่ผ่านการทดสอบ หรือมีความชำรุดบกพร่อง จำเลยที่ 1 จำทำการเปลี่ยนท่อลอยเส้นใหม่มาใช้งานทันที โดยไม่มีการซ่อมแซมท่อเพื่อนำกลับมาใช้งาน ท่อขนถ่ายน้ำมันขนาด 16 นิ้ว ที่เกิดเหตุนั้น เป็นท่อที่นำมาใช้งานครั้งแรก มีอายุการใช้งานเพียง 440 วัน ซึ่งก่อนนำท่อมาใช้งาน จำเลยที่ 1 ได้ทำการทดสอบอายุการใช้งานของท่อตามปกติทุกประการแล้ว  ก็ไม่พบความชำรุดบกพร่อง 

นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้ทำการบำรุงรักษาอุปกรณ์และท่อขนถ่ายน้ำมันอยู่ตลอดเวลา โดยวิธีการบำรุงรักษาเชิงป้องกันโดยตลอด และในระหว่างการใช้งาน ก็จะหมั่นตรวจตราท่อขนน้ำมันโดยการสังเกตสภาพท่อทั่วไปทางกายภาพ และจะมีการเปลี่ยนท่อขนถ่ายน้ำมันตามกำหนดอายุการใช้งานอย่างเคร่งครัด 

ส่วนระบบการควบคุมการเปิด-ปิดวาล์ว เพื่อรับส่งน้ำมันดิบจากเรือบรรทุกน้ำมันไปยังทุ่นรับน้ำมันดิบ ก็จัดให้มีระบบการควบคุมอย่างเพียงพอแล้ว เหตุที่น้ำมันรั่วไหลในระหว่างการขนถ่ายน้ำมันของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เกิดจากความผิดพลาดหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ประสานงานไปยังผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก รวมทั้งนักวิชาการทางด้านวิศวกรรมศาสตร์เพื่อดำเนินการตรวจสอบค้นหาความจริงเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดการแตกรั่วของท่อขนถ่ายน้ำมัน 

 โดยจำเลยที่ 1 มี ดร.อิทธิพล เดี่ยววณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญหัวหน้าชุดในการตรวจสอบท่อขนถ่ายน้ำมันเส้นที่แตกมาเป็นพยานนำสืบว่า การที่ท่อน้ำมันแตกรั่ว เกิดจากการขาดตัวของแกนขดหลอด (Helical Wire) ที่ฝังอยู่ภายในท่อ ขดลวดดังกล่าวพันรอบชั้นเส้นใยรับแสง (Textile maim piles) อันเป็นชั้นภายในสุด (Carcass) ของท่อขนถ่ายน้ำมันที่ทำหน้าที่รับแรงดัน  ขดลวดที่เป็นโครงสร้างของท่อน้ำมันดังกล่าว เกิดการแตกหัก อันเนื่องมาจากขบวนการผลิตที่มีอนุภาคเหล็กออกไซด์ ซึ่งเป็นความบกพร่องปนเปื้อนอยู่ในเนื้อเหล็กที่เป็นลวดเกลียวและปลายลวดแตกหัก ซึ่งมีความคมได้ กรีดชั้นยางทางด้านในของท่ออย่างค่อยเป็นค่อยไป จนทำให้ท่อแตกรั่วในที่สุด กรณีดังกล่าวมีสาเหตุมาจากความบกพร่องของวัสดุ ปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสาร หมายเลข ล.55 

การที่ท่อน้ำมันแตกรั่ว จึงเกิดจากเหตุสุดวิสัยอัน เนื่องมาจากความชำรุดบกพร่องของท่อขนถ่ายน้ำมัน อันไม่เป็นที่ประจักษ์ที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจควบคุมได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 บัญญัติคำว่า เหตุสุดวิสัย หมายความว่า เหตุใดๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบ หรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น  

จากข้อเท็จจริงที่ได้จากการนำสืบของจำเลยที่ 1 ว่า ในการขนถ่ายน้ำมันดิบจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ได้ใช้ความระมัดระวังในการขนถ่ายน้ำมันเป็นอย่างดี ตามมาตรฐานสากลทุกประการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบก่อนและขณะขนถ่ายน้ำมันดิบ มาตรการในการบำรุงรักษาท่อขนถ่ายน้ำมัน  มาตรการในการควบคุมระบบเปิด-ปิดวาล์ว มีการทดสอบน้ำมันก่อนใช้งานทั้งบนฝั่งและในทะเลแล้วก็ตาม

แต่เกี่ยวกับมาตรการในการบำรุงรักษาท่อขนถ่ายน้ำมันในทะเลนั้น ได้ความจากนายสุรนันท์ เบิกความตอบทนายโจทก์ที่ 1 ถึง 20 คำถาม ค้านว่า ท่อขนถ่ายน้ำมันที่เกิดเหตุในคดีนี้ใช้งานมาประมาณ 1 ปีเศษ จำเลยที่ 1 จะมีการทดสอบท่อขนถ่ายน้ำมันปีละ 1 ครั้ง ด้วยวิธีอัดแรงดันน้ำเข้าไปในท่อ เพื่อทดสอบความแข็งแรงของท่อขนถ่ายน้ำมัน และได้ความจากนายวิญญู จันดร ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามเพิ่มเติม ว่า ตามรายงานการทดสอบเอกสารหมาย ล.63 ปรากฏว่า ได้มีการทดสอบท่อขนถ่ายน้ำมันครั้งสุดท้ายก่อนเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนเกิดเหตุเกินกว่า 1 ปี โดยเหตุที่มีการตรวจสอบเกิน 1 ปีนั้น เนื่องจากในปี 2555 ได้มีการเปลี่ยนท่อที่ใช้ขนถ่ายน้ำมัน ทั้ง 4 ชุดพร้อมกัน

และนายวิญญู เบิกความตอบ ทนายโจทก์ที่ 206 ถึง 222 ถามค้านว่า ตามรายงานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เหตุน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล เอกสารหมาย จ.222 หน้า 6-3 ที่ปรากฏระยะเวลาตามคำแนะนำของ OCIMF นั้น ให้มีการตรวจสอบท่อทุก 6 เดือน หรือขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมของ SPM แต่ระยะเวลาตามเกณฑ์ของ PTTCG นั้นให้มีการตรวจสอบทุกปี ซึ่งจากข้อเท็จจริง ที่ได้จากการเบิกความของนายสุรนันท์ และวิญญูดังกล่าว ทางสมาคมบริษัทผู้ขนส่งน้ำมันทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ OCIMF ให้คำแนะนำว่า ควรตรวจสอบท่อขนถ่ายน้ำมันทุก 6 เดือน ส่วนบริษัทจำเลยที่ 1 (PTTCG) จะมีระยะเวลาตามเกณฑ์ในการทดสอบ หรือตรวจสอบท่อน้ำมันลอยทุกปี แต่ปราฎว่า ท่อน้ำมันเกิดเหตุทดสอบท่อโดยการอัดแรงดันครั้งสุดท้ายก่อนเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 จนกระทั่งเกิดเหตุเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 เป็นระยะเวลา 1 ปี 3 เดือนเศษ ก็ยังไม่มีการตรวจสอบท่อตามมาตรฐานสากลของ OCIMF ที่แนะนำให้ตรวจสอบทุก 6 เดือน และไม่เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ให้ตรวจสอบทุกปี 

หากจำเลยที่ 1 ได้ทำการตรวจสอบท่อขนถ่ายน้ำมันทุก 6 เดือน หรือทุกปี จำเลยที่ 1 อาจพบความชำรุดบกพร่องของท่อน้ำมันที่ขดลวด ซึ่งเป็นโครงสร้างภายในของท่อน้ำมันแตกหักได้  เนื่องจากในการทดสอบท่อน้ำมันโดยการใช้แรงดันของน้ำที่อัดเข้าไปในท่อ นายวิญญูเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองข้อ 2.2 ว่า จะใช้แรงดัน 15.5 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ซึ่งจะมีแรงดันมากกว่าในขณะที่ท่อขนถ่ายน้ำมันแตก

ซึ่งขณะนั้นนายสุเทพเบิกความ ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามเพิ่มเติมว่า มีแรงดันอยู่ที่ 8 บาร์ หรือกิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ซึ่งจากรายงานการพิสูจน์ เอกสาร ล.55 และจากคำเบิกความของดร.อิทธิพล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบท่อน้ำมันเกิดเหตุ ได้สรุปว่า ขดลวดซึ่งเป็นโครงสร้างภายในของท่อน้ำมัน แตกหักมีความคมได้กรีดชั้นยางด้านในของท่ออย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงเชื่อได้ว่า กว่าท่อน้ำมันจะแตกรั่วจะต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร ที่ขดลวดที่แตกหักจะกรีดยาง ซึ่งเป็นท่อน้ำมันซึ่งมีอยู่หลายให้ฉีกขาดได้   

ถ้าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำซึ่งเป็นมาตรฐานสากลของ OCIMF หรือตามคำแนะนำของบริษัทจำเลยที่ 1 เอง ที่ได้ตรวจสอบท่อขนถ่ายน้ำมัน ทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี อย่างเคร่งครัด ก็เชื่อว่าจะสามารถตรวจพบความชำรุดบกพร่องของท่อน้ำมันที่แตกรั่วก่อนเกิดเหตุได้ 

การที่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการตามคำแนะนำดังกล่าว ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล จึงถือว่า จำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลยไม่ตรวจสอบบำรุงรักษาท่อขนถ่ายน้ำมันให้อยู่ในสภาพปกติ และให้ปลอดภัยในการใช้งาน จนทำให้มีน้ำมันดิบซึ่งเป็นวัตถุอันตรายรั่วไหลออกสู่ทะเล จึงถือว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควร และเพียงพอกับฐานะของบุคคลที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับน้ำมัน ซึ่งเป็นวัตถุอันตราย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงถือว่า เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ มิใช่เป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ไว้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น