รัฐเร่งวิจัยสารตกค้าง "ผัก-ผลไม้" - รับมือ "ไทย-แพน" ตรวจสอบพบค่า MRL ในพืชอื้อ (12 ธ.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 12 ธันวาคม 2559
รัฐเร่งวิจัยสารตกค้าง"ผัก-ผลไม้" รับมือ"ไทย-แพน"ตรวจสอบพบค่าMRLในพืชอื้อ
กรมวิชาการเกษตรปรับแผนรับมือ "ไทย-แพน" ตรวจพบสารตกค้างในผัก ผลไม้ค่อนข้างมาก เตรียมทำวิจัยรายพืชหลักควรจะมีสารตกค้างสูงสุดได้เท่าใด คาดปีหน้าประกาศได้ไม่ต่ำกว่า 50% และครบทั้งหมดในปี"61 พร้อมตั้งเป้าตรวจวัตถุอันตราย โรงงานผลิต ร้านค้าทั่วประเทศหลายหมื่นแห่ง หวังสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ ผู้บริโภค
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงกรณีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทย-แพน ออกตรวจสอบพบสารตกค้างในพืชผักและผลไม้ในแต่ละครั้งค่อนข้างมาก ทั้งที่มาจากแปลงรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าว่า ข้อมูลผักผลไม้จากฟาร์มที่มี GAP รับรองโดยกรมวิชาการเกษตรและไทยแพนยื่นเอกสารทั้งหมดมาให้กรมตรวจสอบพบว่า มีการแอบอ้างรหัส GAP ในฝรั่ง มะเขือเทศ รวมทั้งในฟาร์มมะเขือเทศเกษตรอินทรีย์ด้วย ซึ่งเจ้าของฟาร์มตัวจริงบอกว่าไม่ได้ผลิตสินค้าในช่วงดังกล่าว จึงถือว่ามีการแอบอ้างใช้เลขรับรอง GAP และในส่วนโรงบรรจุภัณฑ์ที่ไทยแพนยื่นเอกสาร GAP มาให้ มีการตรวจพบ 2 รายที่เลขรหัส GAP หมดอายุการรับรองกับกรมไปแล้ว จึงได้แจ้งไปยังสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ไปดำเนินการในอีกข้อหาหนึ่ง แต่ในส่วนที่ GAP ยังอยู่ในเวลารับรอง ได้มีการแจ้งเตือนให้มีการปรับปรุงแก้ไขภายในเวลาที่กำหนดแล้ว
ส่วนประเด็นที่หากไทยแพนจะออกตรวจสอบสารตกค้างสูงสุด (MRL) ครั้งใหม่ในผักและผลไม้หลัก สารตกค้างจะลดลงหรือเพิ่มขึ้นนั้น อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ตามแผนปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตร จะมีการทำวิจัยสารตกค้างสูงสุดในผักผลไม้หลักและประกาศรายชื่อพืชหลักดังกล่าวออกมา ว่าจะมีค่าสารตกค้างหรือค่า MRL สูงสุดได้เท่าใด ที่ผ่านมา รายชื่อพืชหลักยังไม่มีค่า MRL จึงให้ใช้ค่า MRL ที่ 0.01% เป็นเกณฑ์ไปก่อน เมื่อตรวจพบสารตกค้างที่ 0.02% ก็จะถูกรายงานทันทีว่ามีสารตกค้างเกินมาตรฐาน ซึ่งในข้อเท็จจริง พืชตัวนั้นยังไม่มีการวิจัยค่า MRL ดังนั้น กรมจะทำการวิจัยสารตกค้างสูงสุดให้ครอบคลุมพืชอาหารของคนไทยให้ได้ครึ่งหนึ่งของรายชื่อพืชหลักในปี 2560 และปี 2561 น่าจะทำได้ครบถ้วน
ขณะเดียวกัน ในสัปดาห์นี้ไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ ได้ส่งสารวัตรเกษตรจำนวนมากออกตรวจสอบปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตร เช่น การผลิตปุ๋ยปลอม สารเคมีไม่ได้มาตรฐาน ผัก 10 ชนิด ผลไม้ 9 ชนิดใน 7 จังหวัดปริมณฑล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้และผู้บริโภค แผนปฏิบัติการนี้ จึงเป็นการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางการนำเข้า การส่งออก การขึ้นทะเบียนและการจำหน่ายในประเทศ
ในปี 2560 กรมมีเป้าหมายในการตรวจวัตถุอันตรายนำเข้า 550 ตัวอย่าง ตรวจโรงงานผลิตวัตถุอันตราย 100 โรงงาน ตรวจร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการปัจจัยการผลิตคุณภาพหรือร้าน Q-shop และร้านค้าที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น23,570 ร้านค้า โดยสุ่มเก็บตัวอย่างทั้งปุ๋ยและวัตถุอันตรายมาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการของกรม ซึ่งปีนี้จะขยายการตรวจสอบวิเคราะห์สารเคมีในห้องปฏิบัติการได้ถึง 172 ชนิด จากเดิม 140 ชนิด ซึ่งจะครอบคลุมสารเคมีที่ขึ้นทะเบียนในประเทศได้เกือบทั้งหมด รวมทั้งยังมีแผนติดตามคุณภาพวัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนแล้วด้วย
"ปีงบประมาณ 2560 กรมจะเข้าไปเก็บตัวอย่างพืชที่ได้ GAP และยังไม่ได้รับการรับรอง GAP 9,483 ตัวอย่าง รวมทั้งภารกิจในการรับรองแปลงที่จะได้ GAP 22,500 แปลง กับการต่ออายุแปลง GAP อีก 6.5 หมื่นแปลง และถ้าพบแปลงใดมีสารตกค้างจะทบทวนการรับรองใหม่"
ส่วนกรณีการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย คือ สารคาร์โบฟูรานและเมโทมิลนั้น ช่วงนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และได้ส่งเรื่องมาให้กรมวิชาการเกษตรทบทวนและอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้ในบางความเข้มข้นของสาร โดยให้กรมทบทวนร่วมกับมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการไปดูเรื่องพิษว่าเป็นอย่างไรในความเข้มข้นที่คณะกรรมการอนุญาตไว้