"พิชัย" ปูด - กฟผ. ล็อบบี้ให้หยุดวิจารณ์ จี้ตอบคำถามปมถ่านหิน ติงผู้ว่าฯต้องมีวุฒิภาวะ (11 ธ.ค. 59)
MGR Online 11 ธันวาคม 2559
“พิชัย” ปูด กฟผ.ล็อบบี้ให้หยุดวิจารณ์ จี้ตอบคำถามปมถ่านหิน ติงผู้ว่าฯต้องมีวุฒิภาวะ
พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน (แฟ้มภาพ)
เด็ก พท.เผย กฟผ.พยายามล็อบบี้ให้หยุดวิจารณ์ จี้ตอบ 4 คำถามชี้แจงสังคม และให้เปิดเอกสารการประเมินราคา ว่า คำนวณราคาถ่านหินอนาคตอย่างไร ติงผู้ว่าการ กฟผ.ต้องมีวุฒิภาวะและสัมมาคารวะ
วันนี้ (11 ธ.ค.) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า ตามที่ได้ออกมาวิจารณ์การที่บริษัทลูกของ กฟผ. จ่ายเงิน 1.17 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้าซื้อหุ้นของเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย เพียง 11-12% นั้น เป็นการตำหนิตามหลักการการบริหารธุรกิจ เป็นไปตามเหตุผล ใครที่อยู่ในวงการธุรกิจและการค้าหลักทรัพย์ ได้เห็นการซื้อขายที่ผิดปกติแบบนี้ก็ต้องมีความเห็นเหมือนกับตน ซึ่ง กฟผ.ควรจะต้องชี้แจงให้ความกระจ่างกับประชาชน มากกว่าที่จะใช้วาจาที่ไม่สุภาพ และผู้ว่าการ กฟผ. ควรจะต้องมีวุฒิภาวะและสัมมาคารวะ เพราะตนก็เคยเป็น รมว.พลังงาน และ เป็นอดีตผู้บังคับบัญชา กฟผ. โดยตรง ย่อมมีสิทธิที่จะวิพากษ์การดำเนินการที่เห็นว่าผิดปกติได้ เพราะหลังจากที่ตนออกมาเปิดเผยทุกคนต่างเห็นด้วยว่าน่าจะผิดปกติ โดย กฟผ. ต้องตอบปัญหาที่สังคมสงสัย ดังนี้
1) เหตุใดจึงจ่าย 1.17 หมื่นล้าน เพื่อซื้อหุ้นเพียง 11-12% เป็นเรื่องสมเหตุสมผลหรือไม่ กฟผ.อินเตอร์ มีสิทธิ์มีเสียงในการบริหารเหมืองถ่านหินนี้หรือไม่ ถ้าถือหุ้นเพียงเท่านี้ ความเสี่ยงที่จะเกิดหากการบริหารผิดพลาดแล้วบริษัทเกิดเจ๊ง ใครจะรับผิดชอบ 2) กฟผ. ทราบหรือไม่ว่า อนาคตของโลก จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานอื่นที่ไม่ใช่ถ่านหินแล้ว บางสำนักวิเคราะห์ยังพูดถึงการหยุดใช้ถ่านหินในปี 2025 ด้วยซ้ำไป กฟผ. ที่อยู่ในธุรกิจนี้ก็น่าจะทราบดี 3) กฟผ.มองอนาคตราคาถ่านหินอย่างไร ขอให้เปิดเผยเอกสารการทำข้อตกลงทั้งหมดเพื่อขอตรวจสอบ เพราะหากถ่านหินจะหมดความสำคัญในอนาคต ราคาถ่านหินควรเป็นเท่าไหร่ 4) ถ้าแนวโน้มการใช้ถ่านหินลดลง ราคาถ่านหินก็มีแนวโน้มที่จะราคาต่ำลง กฟผ. ควรซื้อถ่านหินในตลาดสากลปกติมากกว่าจะเข้าไปถือหุ้นเหมืองถ่านหินเอง แถมยังไม่มีสิทธิบริหารใช่หรือไม่ บริษัทที่ผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซยังไม่เห็นต้องไปขุดก๊าซเองเลย อีกทั้งราคาก๊าซเองก็จะมีแนวโน้มราคาที่คงที่หรือต่ำลงในอนาคต
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ได้มีรองผู้ว่าการ กฟผ.ท่านหนึ่งโทร.มาขอร้องตนเพื่อให้หยุดวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ซึ่งตนก็ขอให้นำเอกสารเข้ามาชี้แจงจะได้ทราบเหตุผล โดยรองผู้ว่าการ กฟผ.จะขอให้กรรมการผู้จัดการ กฟผ.อินเตอร์ โทร.มาชี้แจง ตนจึงขอให้นำเอกสารแล้วนัดเข้ามาชี้แจงเลย จะได้ซักถามได้ แต่ก็ได้หายเงียบไป แล้วผู้ว่าการ กฟผ. ก็ออกมาพูดแบบนี้ ส่วนข่าวสารที่อาจจะมีการทุจริตนั้น ตนได้รับข้อมูลจากวงการพลังงานในประเทศอินโดนีเซีย ที่ตนได้ข้อมูลมาตลอดแม้กระทั่งเรื่องการลงทุนของ ปตท.ในอินโดนีเซียที่มีการทุจริตกันอย่างมาก ซึ่งบอร์ด ปตท.ได้มีมติลงโทษ และเรื่องอยู่ใน ป.ป.ช.แล้ว
ในฐานะที่เป็น ผู้ว่าการ กฟผ.ควรจะตัองมีวุฒิภาวะและความเป็นมืออาชีพ ซึ่งควรจะตอบข้อสงสัยของสังคม มากกว่าจะมาพูดจาไม่สุภาพกับคนที่ออกมาเปิดเผยความไม่ชอบมาพากล หากตนยังเป็น รมว.พลังงาน แล้วเกิดมีข้อสงสัยทุจริตแล้วผู้นำรัฐวิสาหกิจตอบโต้กับใครก็ตามในลักษณะเช่นนี้ ผู้นำรัฐวิสาหกิจคนนั้นก็ไม่น่ามีวุฒิภาวะเหมาะสมที่จะนำองค์กรต่อไปได้ ไม่ต้องพูดถึงตนที่เป็นอดีตผู้บังคับบัญชามาก่อน ซึ่ง รมว.พลังงาน ปัจจุบันควรจะต้องพิจารณา และอย่าให้พูดแล้วดูเหมือนกับร้อนตัว โดยหากรัฐวิสาหกิจใดมีการตกลงธุรกิจที่ไม่สมเหตุสมผลย่อมจะหลีกเลี่ยงข้อครหาการทุจริตไม่พ้นอย่างแน่นอน และตนเชื่อว่า หาก กฟผ.ไม่สามารถชี้แจงให้สังคมเข้าใจได้ กฟผ. ประธานบอร์ด กฟผ. รมว.พลังงาน รวมถึง ครม. ก็ควรจะต้องร่วมกันรับผิดชอบในเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้ได้ผ่าน ครม.แล้ว